โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภวัฒน์ สุภัควงศ์ ที่ปรึกษาเทอร์ร่า บีเคเค (www.supawat.net หรือ www.facebook.com/drsupawat)

ว่ากันว่า นักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาดกว่า 90% ล้วนจะมีประสบการณ์การเจ็บตัวขาดทุนหนักๆ จากหุ้นกันทั้งนั้น บ้างถึงกับเข็ดขยาดลาจากตลาดไปเลยทีเดียว แล้วจะทำอย่างไร เราถึงจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากการลงทุนในเส้นทางนี้ได้?

ในบทความที่แล้ว ผมพูดถึงหัวใจ 3 ประการที่จะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการลงทุนในหุ้น ได้แก่

  1. การมีระบบที่ให้สัญญาณซื้อและขายที่ดี (Buy and Sell Signals)
  2. การรู้จักจัดการความเสี่ยงและบริหารเงินหน้าตัก (Risk and Money Management)
  3. การมีจิตวิทยาในการลงทุนที่ดี (Psychology)

ในขณะที่นักลงทุนหน้าใหม่ส่วนใหญ่เสียเวลามากมายกับการศึกษาในส่วนที่ 1 และ 2 สิ่งที่สำคัญกว่าในการที่จะอยู่รอดปลอดภัยกลับกลายเป็น ส่วนที่ 3 คือ การมีวินัยและจิตวิทยาการลงทุนที่ดี (หลายสำนักให้น้ำหนักในส่วนนี้ถึง 60% เทียบกับ 10% ในส่วนที่ 1 และ 30% ในส่วนที่ 2)

แนวทางที่ผมอยากจะเสนอให้ผู้อ่านไปลองศึกษาเพิ่มเติมดู ก็คือ “การลงทุนอย่างเป็นระบบ” (Systematic Trading and Investment) ซึ่งคือ การลงทุนอย่างมีแบบมีแผน มีขั้นมีตอน มีเหตุและมีผล เราทราบดีว่าตลาดมีความผันผวนมาก ดังนั้น หากเราเข้าไปในสนามนี้โดยไม่มีการวางแผนที่ดีพอ ปล่อยให้อารมณ์ของเราถูกควบคุมโดยอารมณ์ของตลาด โอกาสที่จะพ่ายแพ้ในเกมส์นี้ก็มีสูงมาก

Trading plan ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการลงทุนอย่างเป็นระบบที่จะช่วยเราให้มีวินัยในการลงทุน อีกทั้ง สามารถคุมอารมณ์ ไม่ให้หวั่นไหวไปกับตลาดได้ เมื่อเราสามารถทำตามแผนที่เราศึกษามาเป็นอย่างดีได้ ชัยชนะกว่า 60% ก็อยู่ในมือเราแล้วครับ

ผมขอแบ่ง Trading Plan กว้างๆ ว่ามี 4 องค์ประกอบ ดังนี้

กระดานหุ้น - ลงทุนหุ้น

(ภาพจาก : www.manager.co.th)

1. Market (หรือ Universe การลงทุน)

เราควรลงทุนในไหน? ในหุ้นทุกตัวของ SET? หรือเฉพาะใน SET50? ในหุ้นที่ให้เงินปันผลในอัตราที่สูง? ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต? ใน MAI? เราจะมี Short หรือ Long Future ด้วยไหม?

สิ่งที่นักลงทุนควรมองหาก่อนที่จะระบุลง Trading Plan คือ หุ้นในกลุ่มใดที่มีการเติบโตของราคาที่ดี ในขณะที่ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งควรเป็นกลุ่มที่อยู่ในความสนใจของเรา และเหมาะกับลักษณะการลงทุนของเราด้วย

2.สัญญาณซื้อ (Buy Signals)

เมื่อไหร่เราถึงควรจะซื้อหุ้นเข้าพอร์ต? ใช้เกณฑ์ไหนในการพิจารณา? ซื้อตอนที่หุ้นตกลงมาหนักๆ หรือซื้อเมื่อหุ้นมีราคาสูงสุดเท่าที่เคยมีมา?

นักลงทุนสาย VI อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของบริษัท เพื่อทำการคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงหรือ Intrinsic Value ของหุ้นตัวนั้นๆ โดย สัญญาณซื้อที่ดี คือ เมื่อราคาหุ้น ณ ปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก แสดงถึงการได้ถือครองหุ้นที่ดีในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง

ในขณะที่นักลงทุนสายเทคนิคอลจะอาศัยการพิจารณากราฟของราคาเป็นหลัก เพื่อเสาะหาหุ้นที่มี Trend และ Momentum ในขาขึ้น อาทิเช่น มองหาการตัดกันของค่าเฉลี่ยสองเส้น การตัดขึ้นของ MACD หรือการปรับตัวขึ้นของ RSI ก็เป็นได้

สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาประกอบการหาสัญญาณซื้อก็คือ Time Frame หรือช่วงความกว้างของเวลาที่เราสนใจจะลงทุน ว่าเราต้องการซื้อขายด้วยความถี่มากน้อยขนาดไหน ซื้อขายแบบ Day trade จบภายในวัน หรือจะซื้อขายใน Time Frame รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน

เราควรเลือก Time Frame ที่เหมาะสมกับตัวเรา เช่น ถ้าเรามีงานประจำ ไม่สามารถเฝ้าหน้าจอได้ การลงทุนในหลัก Daily ขึ้นไปก็เหมาะสมมากกว่า หรือคนที่อยากเปิดหน้าจอวิเคราะห์แค่สัปดาห์ละครั้ง การลงทุนรายสัปดาห์ก็อาจจะตอบโจทย์ได้

นอกจากนั้น อีกสิ่งที่ระบุใน Trading Plan ของเราก็คือ เมื่อเกิดสัญญาณซื้อแล้วจะซื้อตอนไหน? ซื้อ ณ ราคาเปิดของวันถัดไป? หรือ ที่ราคาปิด? หรือทำการทยอยซื้อระหว่างวัน?

ระบบเทรด

(ภาพจาก : www.wisestocktrader.com)

3. สัญญาณขาย (Sell Signals)

เมื่อได้ทำการซื้อหุ้นต่างๆ เข้าพอร์ตแล้ว เราควรขายออกเมื่อไหร่ล่ะ? ฝั่ง VI ก็อาจจะบอกว่าขายเมื่อราคาปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ซึ่งแปลได้ว่า หุ้นมีราคาแพงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นแล้ว หากเป็นทางฝั่งเทคนิคอลก็อาจจะพิจารณาจากการปรับตัวลงของ Trend หรือ Momentum

นอกจากนั้น การขายยังอาจจะเกิดจากเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ขายเมื่อราคาพุ่งถึง Target Price ที่ตั้งไว้ เช่น ขอกำไร 20% แล้วขาย หรือการตัดขายขาดทุน (Stop Loss) เมื่อเทรดครั้งนั้นไม่เป็นใจ เช่น ตัดขายขาดทุน หากราคาปัจจุบันต่ำกว่าราคาซื้อ 5%

เมื่อสามารถระบุได้แล้วว่า เราจะซื้อหุ้นเมื่อไหร่ และขายตอนไหน ด้วยเงื่อนไขอะไร ก็เขียนเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้นลงใน Trading Plan แล้วปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด

4. Position Sizing หรือการกำหนดจำนวนหุ้นในการซื้อขาย

หลายครั้งนักลงทุนรู้ว่าจุดนี้คือจุดซื้อที่ดี แต่กลับไม่รู้ว่าควรซื้อด้วยจำนวนกี่หุ้น คิดเป็นยอดรวมกี่บาท ทั้งๆ ที่หากพิจารณาตามความสำคัญแล้ว Position Sizing จาก Money Management ถูกให้น้ำหนักว่ามีความสำคัญมากกว่าการหาจุดซื้อหรือจุดขายเสียอีก

ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาท เราควรจะซื้อหุ้นทั้งหมดกี่ตัว ตัวละกี่บาท จะมีหลักในการพิจารณาอย่างไร ? ซื้อทุกตัวในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ? หรือจำนวนในการซื้อขายควรจะแปรผันไปตามความเสี่ยงการขึ้นลงของหุ้นตัวนั้นๆ ?

ถ้าซื้อถูกทาง ยิ่งหุ้นขึ้นมากเท่าไหร่ คูณด้วยจำนวนหุ้นที่มาก กำไรก็จะยิ่งทวีคูณ แต่ในทางกลับกัน หากหุ้นวิ่งผิดทาง เงินก้อนที่จะขาดทุนก็จะแปรผันกับจำนวนหุ้นด้วย

สังเกตไหมครับว่าใน Trading Plan ของเรานี้ ประกอบไปด้วยหัวใจของการลงทุนในสองส่วนแรกคือ การมีสัญญาณซื้อและขายที่ดี และ การรู้จักจัดการความเสี่ยงและบริหารจัดการเงินหน้าตัก แล้วจิตวิทยาการลงทุนล่ะ จะทำอย่างไร? คำตอบคือ อยู่ที่ตัว Trading Plan ครับ เมื่อเรามีแผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ชัดเจนในทุกส่วน ที่เหลือเราก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามกลไกของระบบครับ ระบบบอกให้ซื้อก็ต้องซื้อ ระบบบอกให้ขายก็ต้องขาย ระบบบอกให้ซื้อด้วยเงินเท่านี้บาท ก็ต้องทำตามนั้น พูดง่ายๆ คือ อย่าฝืน อย่าแหกออกจากกฏที่เราได้สร้างมันขึ้นมา

กลับมาในส่วนคำถามสุดท้ายที่หลายๆ คนอาจจะคาใจอยู่ คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบที่เราพัฒนาขึ้นมาว่าให้ซื้อขายเมื่อเกิดสัญญาณนี้ ด้วยเงินจำนวนเท่านี้ จะเป็นระบบที่ดีพอ แล้วระบบนี้จะให้ผลตอบแทนมากน้อยขนาดไหน ระบบนี้จะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด คำตอบอยู่ที่กระบวนการทดสอบย้อนหลัง หรือ System Backtesting ครับ แล้วผมจะมาเล่าให้ฟังในบทความต่อไป - เทอร์ร่า บีเคเค

หัวใจ 3 ประการของการ "ลงทุนหุ้น" ความมั่นคั่งทางการเงินจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ หนึ่ง หาเงินเก่ง และ สอง บริหารเงินเก่ง วันนี้จะขอพูดถึงในส่วนที่สอง ว่าจากเงินที่หามาได้ หลังแบ่งสันปันส่วนค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ แล้ว ส่วนสำหรับการลงทุน ควรจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้งอกเงยได้มากที่สุด

Position Sizing : มีเงินหนึ่งล้าน จะแบ่งซื้อหุ้นกี่ตัว? ตัวละกี่บาท? ในการลงทุนอย่างเป็นระบบ นอกเหนือจากการมีจุดซื้อและจุดขายที่มีประสิทธิภาพแล้ว อีกสิ่งที่มีความสำคัญมาก คือ การบริหารจัดการเงินที่เรามีอยู่ หรือ Money Management ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติเรามีเงินในพอร์ตหนึ่งล้านบาท วันนี้มีหุ้นที่มีสัญญาณซื้อเข้ามา 5 ตัว ถามว่า เราควรจะซื้อตัวละกี่บาท ? กระจายเท่าๆ กันตัวหนึ่งหนึ่งแสน? สองแสน? หรือซื้อไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและโอกาสการทำกำไรของแต่ละตัว?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒน์ สุภัควงศ์

บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒน์ สุภัควงศ์ ที่ปรึกษา เทอร์ร่า บีเคเค www.supawat.net หรือ www.facebook.com/drsupawat