ดนตรีบำบัด - คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ (Music therapy-Mathematics of Feelings)
ความมหัศจรรย์ของดนตรีกับมนุษยชาติ
ได้มีบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งทางด้านดนตรี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก”เป็นข้อความที่เราชาวไทยทั้งหลายคุ้นเคยกันดี ซึ่งในบริบทของทีมสุขภาพจิต พวกเราได้มีการนำดนตรีมาใช้เพื่อการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร มีหลักฐานบางส่วนที่เป็นรายงานการศึกษาผลของดนตรีต่อการบำบัดทางจิตไว้ดังนี้
มีรายงานการศึกษาเรื่องของดนตรีกับเรื่องของสุขภาพจิต จากการศึกษาของ จินตนา สงค์ประเสริฐ และคณะ โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ได้ศึกษาเรื่อง ดนตรีบำบัดกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเผยแพร่ตีพิมพ์ใน วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2538, 23-30 ความว่า
“ในปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีผลดียิ่งทั้งโรคทางกายและทางจิตเวช (กรีกเป็นชาติแรกใช้พิณดีดรักษาโรคซึมเศร้า) มีการค้นพบว่าดนตรีใช้ลดอาการเจ็บปวดจากการคลอดจากการถอนฟัน รักษาคนที่มีความเครียดกังวล แยกตัวจากสังคม หรือคนพิการซ้ำซ้อนได้ดีตลอดจนผู้ป่วยจิตเภท ผู้มีพฤติกรรมถดถอย เหงาเศร้าได้ ด้วยเหตุนี้จึงได้นำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชทั้งโดยการเปิดเทปจังหวะเร้าใจ มีการขยับตัวเข้าจังหวะ ใช้ดนตรีแบบเคาะจังหวะ และอุปกรณ์เกิดเสียงให้ผู้ป่วยได้เขย่าหรือฟังเพลงแล้วให้บอกถึงความรู้สึกที่ได้จากเพลง โดยการบำบัดครั้งละ 1-1.30 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้งพบว่าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรัง พฤติกรรมถดถอย แยกตัว จะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว ในชั่วโมงที่2ของการบำบัดผู้เหงาเศร้าจะยิ้มแย้มได้หลังจากไม่เคยยิ้มมานานแล้ว”
นี้เป็นรายงานการศึกษาของบุคลากรสุขภาพจิตในการชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของดนตรีกับการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช
ขณะเดียวกันในต่างประเทศเร็วๆนี้ได้มีบทความรายงานพิเศษที่ได้อธิบายถึงความเกี่ยวข้องของดนตรีกับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ซึ่งบทความดังกล่าวได้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชนสัปดาห์ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1267 ในหัวข้อ ดนตรี-คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ (Music-Mathematics of Feelings) ของ Philip Bethge ซึ่งแปลมาจาก *บทความทางวิทยาศาสตร์จากในนิตยสารเยอรมัน "เดียร์สปีเกิ้ล" (Der Spiegel) ฉบับที่ 31/28 ก.ค.2546 โดย ดวงดี คงธัญญะงามซึ่งให้มุมมองของดนตรีกับของอารมณ์ ไว้ดังนี้คือ
“เสียงเพลงสามารถชวนให้เกิดอารมณ์เศร้า หรือทำให้มีความปลาบปลื้มยินดี อีกทั้งทำให้หวาดกลัวจนขนลุกตั้งชันเสียวสันหลังขึ้นมาก็ได้ สิ่งนี้เป็นขึ้นได้อย่างไร นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพื่อไขปริศนาว่าจากคลื่นแรงเหวี่ยงในธรรมชาตินั้น มันเปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างไร
แล้วปริศนาของนักคีตกวีทั้งหลายมีความเป็นมาอย่างไร เพราะดนตรีนี่หรือเปล่าที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ดนตรีเป็นศิลปะที่แปลกที่สุดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อเทียบกับการวาดภาพ การแต่งกลอน การแกะสลักรูปปั้น เสียงสอดคล้องกันเพียงเสียงเดียว หรือทำนองเดี่ยวเฉยๆ ก็ยังไม่มีความหมาย