พฤติกรรมแบบใด ? เป็น "ความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์"
วันนี้ TerraBKK ขอหยิบยก ประเด็นทางกฎหมาย ที่ควรรู้ นั่นก็คือ "ความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ มาฝากทุกท่าน มาดูกันว่า การกระทำแบบใดที่เข้าข่ายความผิดในลักษณะนี้ จะได้ระมัดระวัง ไม่ประพฤติผิดซะเอง และรู้เท่าทันเหล่ามิจฉาชีพ หรือผู้ไม่ประสงค์ดี
การกระทำที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ ดังนี้
- ต้องมีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
- ข้อความนั้นต้องเป็นเท็จและต้องเป็นเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุการณ์ในอนาคต เว้นแต่เหตุการณ์ในอนาคตนั้นพออนุมานได้ว่าเป็นการแสดงถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย
- ผู้กระทำต้องรู้ข้อความนั้นเป็นเท็จ และต้องเป็นการกล่าวยืนยันข้อความนั้น ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเนหรือเพียงให้คำมั่นสัญญาแม้จะไม่ตรงกับความจริงก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
- การแสดงข้อความเท็จนั้น อาจเป็นเท็จต่อเพียงบางส่วนก็ได้ ไม่จำต้องเท็จทั้งหมด
- การหลอกลวงนั้นต้องกระทำก่อนที่จะได้ทรัพย์สิน จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ถ้าได้ทรัพย์มาในความครอบครองก่อนแล้ว จึงหลอกลวงไม่เป็นฉ้อโกง
- การหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ถ้าเขาหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงไม่หลงเชื่อหรือหลงเชื่อแต่ยังไม่ยินยอมให้เอาทรัพย์นั้นไป ถ้าผู้ที่หลอกลวงหยิบเอาทรัพย์นั้นไปเองหรือหลอกลวงเพื่อให้ทำการลักทรัพย์ได้สะดวกขึ้นเท่านั้นเป็น ความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ฉ้อโกง
- การแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น อาจกระทำด้วยทางวาจา กิริยาท่าทาง ลายลักษณ์อักษร เครื่องขยายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรืออื่นๆก็ได้ กฎหมายไม่จำกัดเฉพาะทางวาจาเท่านั้น
- การปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง คือจะต้องรู้ความจริงแล้วนิ่งเสียไม่ยอมบอกให้เขาทราบ เพื่อจะให้ได้ทรัพย์สิน ฯ อาจกระทำโดยกิริยา ท่าทาง หรืออย่างอื่นๆก็ได้
- การแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในกรณีที่เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า หรือการขายของ แม้จะเกินความจริงไปบ้างก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกงเพราะบุคคลทั่วไปก็เข้าใจในเรื่องนี้ดี แต่ถ้ามีเจตนาที่จะหลอกลวงเพื่อทำการฉ้อโกงโดยตรงก็เป็นความผิดเกี่ยวกับการค้า ตาม มาตรา 271 ได้
- การหลอกลวงนั้นต้องทำให้เขาหลงเชื่อและได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือ ทำให้เขาทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว หากให้เพราะความสงสารหรือเพื่อจะเอาเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีหรือไม่เชื่อจึงไม่ให้ทรัพย์ หรือเชื่อแต่ไม่ให้ทรัพย์หรือไม่มีทรัพย์จะให้ ดังนี้ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
- การได้ทรัพย์สินหรือให้ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ไม่จำกัดว่าจะต้องได้ไปจากผู้ถูกหลอกลวง แต่รวมถึงบุคคลที่สามด้วย แต่บุคคลนั้นต้องมีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้นด้วย ถ้าผู้ที่มอบให้ไม่มีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้น ผู้เอาไปผิดฐานลักทรัพย์ ดูฎีกาที่ 207/2512
- ความผิดฐานฉ้อโกง การได้ทรัพย์นั้น ไม่จำกัดเฉพาะทรัพย์แต่อย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพย์สิน สิทธิบางอย่างและให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิด้วย
- ในกรณีที่ให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารนั้น ต้องเป็นเอกสารสิทธิ ถ้าไม่ใช่เอกสารสิทธิ เป็นเอกสารธรรมดา ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
- ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตมาก่อนหรือในขณะหลอกลวงอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้น ถ้าผู้กระทำมีเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ผิดฐานยักยอก
- ความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ต้องหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น การหลอกลวงเอาทรัพย์ของตนเองไปจากผู้อื่นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 16/2510
- ความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นการหลอกลวงให้เขาส่งทรัพย์ให้ แต่การหลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์ไปส่งคืน แม้เป็นเท็จก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
Source : www.police.go.th ขอบคุณข้อมูล จาก : www.lawyerthai.com
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.