อย่าลืม! ลดหย่อนภาษี "ลูกกตัญญู"
หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู
การหักลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู เป็นการอนุญาตให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ และมีการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามี หรือภรรยา ของผู้มีเงินได้ โดยให้หักค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นค่าใช้จ่ายได้คนละ 30,000 บาท โดยที่บิดามารดาดังกล่าว จะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ และอยู่ในความเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- ให้หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สำหรับบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในการเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ แต่บิดามารดาต้องมีรายได้ในปีที่ใช้สิทธิ ไม่เกิน 30,000 บาท หากบิดามารดามีรายได้เกิน ก็ใช้สิทธิไม่ได้
- ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายของบิดามารดา ของผู้มีเงินได้ที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน (ต้องเป็นบิดามารดาที่แท้จริง หรือหากเป็นบิดามารดาบุญธรรม ต้องมีการจดทะเบียนบิดามารดาให้ถูกต้องตามกฏหมาย จึงจะสามารถหักลดหย่อนได้)
- กรณีที่ผู้มีเงินได้หลายคนจะขอใช้สิทธิอุปการะบิดามารดาคนเดียวกัน ให้ผู้มีเงินได้คนใดคนหนึ่ง เพียงคนเดียวที่มีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดู เป็นผู้มีสิทธิในการหักลดหย่อนค่าอุปการะได้ในแต่ละปีภาษี (หมายถึง ใครมีหลักฐานการเซ็นชื่อของบิดามารดาในเอกสาร ลย.03 คนนั้นย่อมได้สิทธิลดหย่อนนั้นไป)
- การหักลดหย่อน ให้สามารถหักค่าลดหย่อนได้ทั้งจำนวน แม้ว่าจะมีการเลี้ยงดูไม่ตลอดปีภาษีที่ยื่นขอก็ตาม
- กรณีสามีหรือภรรยาเป็นผู้มีเงินได้เพียงคนเดียว ก็ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของสามีหรือภรรยา ก็ได้คนละ 30,000 บาท
- กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งเดิมใช้สิทธิหักลดหย่อนอยู่เดิมแล้ว ต่อมาแต่งงานกัน ก็ให้ใช้เกณฑ์การลดหย่อนดังนี้ (ก) หากเป็นสามีภรรยากันไม่ครบปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ ก็ให้ต่างคนต่างลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้คนละ 30,000 บาท (ข) หากเป็นสามีภรรยากันครบปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ และภรรยาไม่ได้แยกยื่นแบบภาษีเงินได้ต่างหากจากสามี ก็ให้สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ทั้งบิดามารดาของผู้มีเงินได้ และบิดามารดาของภรรยาของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท (ค) หากเป็นสามีภรรยากันครบปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ และภรรยาขอแยกยื่นแบบภาษีเงินได้ต่างหากจากสามี ก็ให้สามีและภรรยา ต่างคนต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้คนละ 30,000 บาท
- กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
- การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาที่ใช้ขอใช้สิทธิ ในแบบที่ยื่นภาษีเงินได้ด้วย
- การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ ต้องมีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดู (แบบ ลย.03) โดยให้กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนด โดยให้ถือว่าแบบฟอร์ม ลย.03 ดังกล่าวเป็นหนังสือรับรองได้ การกรอกข้อความต้องกรอกเป็นภาษาไทย หากเป็นภาษาอื่นต้องมีคำแปล และต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากรด้วย
เมื่อท่านเห็นว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิดังกล่าว ก็ให้รีบดำเนินการแต่เนินๆ เมื่อใกล้เวลายื่นภาษีเงินได้ในแต่ละปี หากมีปัญหาจะได้แก้ไขทันท่วงที
ที่มา สรุปจากประมวลรัษฎากรฯ : MichaelShaw : ThaiTaxINFO.com
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.