ห้องน้ำผู้สูงอายุ
คนส่วนใหญ่มักตัดสินใจสร้างบ้านของตัวเองในช่วงวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน ซึ่งร่างกายยังสมบูรณ์แข็งแรง จึงมักมุ่งความสนใจไปกับพื้นที่ใช้สอย ความสวยงามตามสมัยนิยม วัสดุที่คงทนคุ้มค่า จนลืมนึกไปว่าเมื่อเวลาผ่านไป
ร่างกายของผู้อาศัยก็เสื่อมโทรมไปพร้อมกับบ้านด้วย การเคลื่อนไหวทำได้ช้าลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลุกนั่งลำบาก สายตาฝ้าฟาง หูไม่ค่อยได้ยินเสียง และเมื่อได้รับบาดเจ็บจะต้องรักษาตัวพักฟื้นนาน ดังนั้นการใช้งานในบ้านหลังเดิมจึงเริ่มไม่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนพื้นที่ที่นับว่าค่อนข้างยากลำบากสำหรับผู้สูงอายุ นั่นคือ "ห้องน้ำ"
ห้องน้ำ ตั้งแต่เริ่มแรกสร้างบ้านมักถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก แบ่งพื้นที่ใช้งานส่วนแห้งและส่วนเปียกออกจากกันด้วยพื้นต่างระดับ ประตูเปิดเข้าด้านในทำให้เวลาปิดจะต้องเบี่ยงเบียดตัวไปด้านข้าง มือจับเป็นลูกบิด เวลาเปิดจะต้องบิดหมุนข้อมือ ที่นั่งโถสุขภัณฑ์ตามปกติจะเตี้ยกว่าที่นั่งเก้าอี้เล็กน้อยทำให้เวลาลุกต้องออกแรงดันตัวมาก ฝักบัวแขวนไว้สูงเหมาะกับการยืนอาบ มีดวงโคมส่องสว่างเฉพาะส่วนอาบน้ำกับกระจกอ่างล้างหน้าเท่านั้น รายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยให้ผู้กำลังจะสูงวัยที่ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ (คือไม่ถึงขั้นอ่อนแรงล้มหมอนนอนฟูก) สามารถใช้งานห้องน้ำเดิมภายในบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น
วิธีการปรับเปลี่ยนง่ายๆ เริ่มจาก การเปลี่ยนมือจับลูกบิดประตูห้องน้ำเป็นแบบคันโยก และติดราวจับช่วยทรงตัวด้านข้าง หรือจะถอดประตูบานเปิดออกแล้วติดตั้งประตูบานเลื่อนแบบรางแขวน ไม่มีรางบนพื้นขวางทางเข้าให้เดินสะดุด ควรเลือกใช้บานประตูที่มีน้ำหนักไม่มาก ไม่ควรติดกลอนล็อกบาน อาจมีการเจาะช่องกระจกสำหรับมองเข้าไปในห้องเผื่อเกิดอุบัติเหตุจะเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ในส่วนของ พื้น ควรปรับพื้นส่วนแห้งและส่วนเปียกให้มีระดับเดียวกับพื้นภายในบ้าน โดยรื้อกระเบื้องพื้นและโถสุขภัณฑ์เดิมออก สกัดปูนผิวหน้าให้ลดต่ำลง ทาน้ำยาประสานคอนกรีต และเทปูนทรายปรับระดับพื้นห้องน้ำให้ลาดเอียงไปทางท่อระบายน้ำ ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วทำความสะอาดฝุ่นผง จากนั้นทาน้ำยากันซึมเคลือบทับผิวพื้นปูนและที่ขอบล่างของผนัง ก่อนจะปูกระเบื้องพื้นด้วยปูนกาว ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนจะยาแนวร่องรอยต่อ ทั้งนี้ ควรเลือกกระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืดผิวกระเบื้องตั้งแต่ R 10 ขึ้นไป เพื่อลดการลื่นล้มเมื่อพื้นเปียกน้ำ นอกจากนี้สีขององค์ประกอบและวัตถุต่างๆ ที่ใช้ในห้องน้ำควรให้ดูแตกต่างกันชัดเจน โดยเฉพาะวัตถุที่อยู่ใกล้กัน เช่น สีของกระเบื้องพื้นและผนังควรให้ดูต่างกัน และตัดกับสีของสุขภัณฑ์อย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรติดตั้งราวจับเพื่อช่วยในการพยุงตัวทั้งสองข้างของอ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ โดยสามารถเลือกใช้ราวทรงตัวรูปตัวแอลหรือราวทรงตัวแขนพับแบบสวิง ตามความเหมาะสม และควรมีราวจับที่ผนังนำทางไปจนถึงส่วนอาบน้ำ ติดตั้งสูงจากพื้น 60-75cm ทั้งนี้ สีของราวจับควรดูแตกต่างจากสีของกระเบื้องผนังอย่างชัดเจน
สำหรับ โถสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำ ควรเปลี่ยนมาเลือกใช้รุ่นที่มีที่นั่งสูงจากพื้น 43-45 cm ซึ่งเป็นระดับที่ผู้สูงอายุลุกนั่งได้อย่างสะดวกเมื่อใช้งานร่วมกับราวทรงตัว (ที่นั่งของโถสุขภัณฑ์ปกติจะสูงจากพื้น 38-40 cm ทำให้ต้องออกแรงมากขณะดันตัวลุกขึ้นยืน) ที่กดชำระน้ำควรเลือกใช้เป็นแบบคันโยก ส่วนสายชำระควรติดตั้งไว้ด้านข้างให้มือเอื้อมหยิบใช้ได้ง่ายโดยไม่ต้องเอี้ยวตัวไปด้านหลัง และควรมีเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ ทั้งนี้ ฝักบัวอาบจ้ำควรยึดกับก้านจับเลื่อนขึ้นลงปรับระดับในการใช้งานได้ ส่วนหัววาล์วเปิดปิดน้ำควรเลือกแบบก้านปัด รวมถึงก็อกน้ำที่อ่างล้างหน้าด้วย เนื่องจากหัววาล์วแบบนี้ใช้งานและดูแลรักษาง่าย
อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ ควรเพิ่มแสงสว่างด้วยการติดหลอดไฟให้มากขึ้น โดยแสงที่เหมาะสมควรจะเป็นแสงสีขาว ซึ่งช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่จะหยิบจับใช้งานในห้องน้ำ รวมไปถึงข้อความระบุวิธีใช้งานด้านข้างขวดน้ำยาต่างๆ ได้อย่างง่ายดายชัดเจน
เพียงเท่านี้ก็จะได้ห้องน้ำที่เหมาะสมกับการใช้งานของเจ้าของบ้านที่มีอายุเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับบ้าน ในส่วนนี้นับเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ เพราะมิใช่แค่ความสะดวกสบายเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องความปลอดภัยและการลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล จาก : คุณพีระพงษ์ บุญรังษี SCG Experience Architect www.scgbuildingmaterials.com