โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี เพราะการยื่นชำระภาษีบุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่มีรายได้ทุกคน ดังนั้น การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 รอบปีภาษี 2558 ผ่านอินเตอร์เน็ต จึงเหลืออีกไม่มาก จากการเปิดให้ยื่น ตั้งแต่ 1 มกราคมไปจนถึง วันสุดท้าย 8 เมษายน 2559 นี้เท่านั้น TerraBKK จึงขอกล่าวถึงบทลงโทษ หากท่านไม่ปฎิบัติภายในระยะเวลากำหนด เช่น การเสียค่าปรับ, การออกหมายเรียก ไปจนถึงการนำคดีมาฟ้องต่อศาล เป็นต้น รายละเอียดดังนี้

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ

ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้

1. ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทเงินเดือน ค่าจ้างที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)

  • กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 50,000 บาท
  • กรณีที่มีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 100,000 บาท

2. ผู้มีเงินได้จากการทำธุรกิจการค้าทั่วไปที่มิใช่เกิดจากการจ้างแรงงานที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)

  • กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท
  • กรณีมีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 60,000 บาท

3. กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่แบ่งเกิน 30,000 บาท 4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 30,000 บาท

ถ้าไม่ชำระในกำหนดเวลา หรือชำระไม่ถูกต้องจะมีความรับผิดอย่างไร ?

1. กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา

  • ไม่ยื่นแบบ หรือ ยื่นแบบฯ เกินระยะเวลากำหนด ปรับไม่เกิน 2,000 บาท สามารถขอลดค่าปรับได้
  • ไม่ชำระเงินภาษีเพิ่มเติ่ม ภายในระยะเวลากำหนด ต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา จ่ายชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน รวมทั้งค่าปรับตามข้อข้างต้น
  • ยื่นแบบเพิ่มเติม ภายหลัง ระยะเวลากำหนด หากมีเงินภาษีต้องชำระเพิ่มเติ่ม ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หากไม่มีชำระเพิ่มเติ่ม ไม่ต้องเสียเงินใดๆ
  • ยื่นแบบ ขอผ่อนชำระเงินภาษี หากไม่ได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา ถือว่าหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

2. กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก

  • และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามข้อ 1 แล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

ไม่ชำระภาษีอากรมีผลเสียมากกว่าที่คิด

(ที่มา : นายพิษณุ ผาสุกมโน www.rd.go.th )

การเสียภาษีอากรเป็นหน้าที่ของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ภาษีอากรมีหลายประเภท ได้แก่ ภาษีสรรพากร ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ภาษีนำเข้าส่งออก ฯลฯ หากเป็นกรณีที่เกิดจากการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรก็เป็นอำนาจของกรมสรรพากร เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่าตนเองมีภาษีอากรที่จะต้องเสียให้แก่กรมสรรพากรแล้ว ก็ควรจะชำระภาษีอากรให้ถูกต้องครบถ้วน มิฉะนั้นแล้ว อาจจะได้รับความเสียหายมากกว่าที่คิด (แล้วคิดไว้ว่าอย่างไรละ น่าคิดเพียงว่า กรมสรรพากรไม่รู้ ถ้ารู้ก็คงจะติดตามทวงหนี้ ถ้ามีจ่ายก็ให้ไปเท่าที่มี ถ้าไม่มีจ่ายก็หนี เท่านั้น)

ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้สำหรับจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ และอีกทั้งมีมาตรการบังคับให้ชำระภาษีได้ในตัวเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนพิเศษก่อนจะดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้น ความเสียหายที่อาจมีมากกว่าที่คิดที่ไม่เสียภาษีอากรให้แก่กรมสรรพากรนั้น แยกพิจารณาเป็น 3 กรณี

1. กรณีก่อนถูกกรมสรรพากรฟ้อง

เมื่อมีภาษีอากรที่จะต้องเสียให้แก่กรมสรรพากรแล้ว แต่ไม่ยอมเสีย ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจพบ และแจ้งการประเมินให้ทราบแล้ว นอกจากจะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากรในอัตราสูงร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และอาจโดนเบี้ยปรับอีกด้วยแล้ว โปรดระวังตัวไว้เลยว่า กรมสรรพากรมีอำนาจพิเศษที่จะทำการเร่งรัดตรวจสอบทรัพย์สินต่าง ๆ ทุกชนิดได้ทันทีเพื่อให้ได้ภาษีอากรโดยยังไม่ต้องนำหนี้ภาษีอากรที่ค้างนั้นฟ้องต่อศาลก็ได้ เช่น

  • อาจยกทีมเจ้าหน้าที่เร่งรัดมาถึงบ้านเพื่อ สอบถามสภาพความเป็นอยู่และทรัพย์สิน และอาจถามเพื่อนบ้านข้างเคียงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้ญาติพี่น้องทั้งหลาย เพื่อนบ้านแถวนั้น รู้เรื่องกันหมดเลยว่าติดหนี้หลวง น่าอายนะ เพราะคนไทยชอบสอดรู้สอดเห็นอยู่แล้ว
  • กรณีเจ้าหน้าที่เร่งรัดมาส่งหนังสือทวงหนี้ที่บ้านแล้ว ไม่ยอมรับ เจ้าหน้าที่เร่งรัดอาจเรียกตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาเพื่อ หาพยานในการปิดหมาย ก็ได้ ทำให้เรื่องเล็กค่อยๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่
  • หากหลบหนีย้ายที่อยู่ เจ้าหน้าที่เร่งรัดหาไม่พบ เมื่อจะส่งหนังสือทวงหนี้หรือเอกสารราชการอื่นๆ ก็จำเป็นต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์ ทีนี้เลยทำให้ดังใหญ่ขึ้นไปอีกเลยว่าติดหนี้หลวงไม่จ่ายแล้วยังหลบหนีอีก กรมสรรพากรก็ยังสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์และขายทอดตลาดได้เลยโดยยังไม่ต้องฟ้องต่อศาลก่อนก็ได้ และระยะเวลาที่มีอำนาจทำได้ก็เป็นเวลานานถึง 10 ปี และหากในระหว่างนี้ทำการยักย้ายทรัพย์สินก็อาจจะมีความผิดอาญาเพิ่มขึ้นไปอีกฐานมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอาจติดคุกได้

เมื่อกรมสรรพากรพบทรัพย์ที่สามารถยึดหรืออายัดทรัพย์ได้แล้ว ก็จะทำการยึดหรืออายัดทรัพย์ทันที มีผลทำให้ทรัพย์นั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้และไม่สามารถโอนขายหรือโอนทางทะเบียนต่อไปได้จนกว่าจะชำระภาษีอากรครบถ้วน เกิดความเสียหายมากกว่าที่คิด เช่น

  • กรณียึดที่ดินแล้ว ที่ดินนั้นก็ไม่สามารถโอนขายต่อไปได้
  • กรณีอายัดเงินฝากของธนาคารไว้แล้ว ทำให้บัญชีเลขที่นั้นไม่สามารถเบิกถอนนำไปใช้ได้อีก

2. กรณีกรมสรรพากรนำคดีมาฟ้องต่อศาล

เป็นกรณีที่ผู้ค้างภาษีอากรยังดื้อดึงที่ไม่ยอมชำระหนี้ภาษีอากรค้างต่อกรมสรรพากร กรมสรรพากรก็ชอบที่จะดำเนินคดีทางศาลทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไปได้ นอกจากผู้ค้างภาษีอากรจะนอนไม่หลับแล้ว เนื่องจากจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ยังทำให้บิดา มารดา ผู้บุพการี กลุ้มใจตามไปด้วย และอาจทำให้เสียชื่อเสียงในการทำธุรกิจตามไปด้วยกรมสรรพากรชอบที่จะไปฟ้องได้หลายศาล เช่น

  • ฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลาง เป็นกรณีกรมสรรพากรเลือกฟ้องเพราะไม่สามารถเร่งรัดเรียกหนี้ภาษีอากรค้างได้แล้ว และศาลนี้มีที่เดียวคือที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ต่างจังหวัดไม่มี ทำให้ลูกหนี้ที่ค้างภาษีอากรอยู่ที่ต่างจังหวัดต้องเดินทางเข้ามาสู้คดีในกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความเสียหายคือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีกนอกจากจะเสียค่าจ้างทนายความแล้ว
  • ฟ้องที่ศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีหนี้เข้าหลักเกณฑ์ฟ้องได้ทำให้ลูกหนี้อาจเสียสิทธิและเสรีภาพเพิ่มขึ้น และศาลนี้มีที่เดียวคือที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ต่างจังหวัดไม่มี ทำให้ลูกหนี้ที่ค้างภาษีอากรอยู่ที่ต่างจังหวัดต้องเดินทางเข้ามาสู้คดีในกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความเสียหายคือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีกนอกจากจะเสียค่าจ้างทนายความแล้ว หากต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แม้จะยังไม่พิพากษาให้ล้มละลายก็ตาม ก็มีผลเสียต่อสิทธิและเสรีภาพของลูกหนี้คือไม่สามารถออกนอกราชอาณาจักรได้ตามปกติจะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียก่อน แม้จะข้ามไปประเทศที่มีอาณาเขตติดกันชั่วคราวโดยใช้หนังสือผ่านแดนแบบ ชั่วคราว (Border pass) ก็ตาม ก็ทำไม่ได้เสียแล้ว
  • ฟ้องที่ศาลเดียวกับลูกหนี้ถูกฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์ที่ขายทอดตลาดได้ โดยกรมสรรพากรสามารถที่จะเข้าไปของเฉลี่ยหนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลแพ่ง ศาลแพ่งพระนครเหนือ ศาลแพ่งธน ศาลจังหวัด ศาลแรงงานกลาง ก็ได้
  • ฟ้องที่ศาลอาญา เป็นกรณีที่กระทำความผิดทางอาญาฐานปลอมใบกำกับภาษี เช็คเด้ง หรือมีเจตนา หลีกเลี่ยงภาษีอากร

3. กรณีหลังจากกรมสรรพากรฟ้องแล้ว

เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรชนะคดีแล้ว กรมสรรพากรก็สามารถดำเนินการบังคับคดีได้ตามกฎหมายได้อีกเป็นระยะเวลา 10 ปี และหากในระหว่างนั้นยังไม่ได้รับชำระภาษีอากรครบถ้วนและยังเข้าหลักเกณฑ์ที่จะฟ้องล้มละลายได้ กรมสรรพากรก็ยังสามารถนำหนี้ภาษีอากรนั้นมาฟ้องยังศาลล้มละลายกลางได้อีกครั้งหนึ่ง หากผู้ค้างภาษีอากรถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตามก็ยังไม่หลุดพ้นหนี้ภาษีอากรที่จะต้องเสียให้แก่ กรมสรรพากร ทายาทที่รับมรดกก็จะต้องนำมรดกที่ได้รับมาเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนด้วย

ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถที่จะหลบหนีจากการไม่เสียภาษีอากรให้แก่กรมสรรพากรไปได้ จึงขอให้ทุกท่าน เสียภาษีอากรให้ครบถ้วนเสียแต่เนิ่นๆ แล้วท่านจะโชคดี ทำอะไรก็จะเจริญรุ่งเรือง เพราะภาษีอากรที่ท่านจ่ายไปนั้นจะนำไปพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การคมนาคม การป้องกันประเทศ และ นำความสะดวกสบายให้คนไทยทุกคน แล้วก็ไม่เกิดผลเสียมากกว่าที่คิดดังที่กล่าวมาแล้ว (ที่มา : นายพิษณุ ผาสุกมโน เรียบเรียง)

ขอบคุณข้อมูล จาก : www.rd.go.th

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก