"โฉนดที่ดิน" มีรายละเอียดที่ควรรู้อะไรบ้าง
โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4 เอกสารสิทธิ์ที่ใครหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าเนื้อหาสาระแต่ละตัวอักษรที่ถูกตีพิมพ์ลงบนโฉนดที่ดินมีรายละเอียดอะไรให้เราสังเกตและทำความเข้าใจบ้าง สาเหตุที่ TerraBKK อยากให้ผู้ที่กำลังจะทำการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นเจ้าของที่ดินอยู่เข้าใจเนื้อหาในโฉนดก็เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบความถูกต้อง ป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดแล้วเราไม่เข้าใจเนื้อหาสาระในโฉนดได้ เนื่องจากการทำธุรกรรมในอสังหาริมทรัพย์แต่ละครั้งมีมูลค่าหลายแสน หลายล้านบาท การเข้าใจในเนื้อหาบนโฉนดน่าจะมีความรอบคอบเพิ่มมากขึ้นและช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง สำหรับรายละเอียดและความหมายในแต่ละจุดของโฉนดที่ดินมีดังนี้
ภาพจาก : http://m.pantip.com/topic/35000760
1. ตำแหน่งที่ดิน (มุมซ้ายบน)
- ระวาง จะบอกถึงหมายเลขแผ่นระวางแผนที่ซึ่งที่ดินตามโฉนดนั้นตั้งอยู่ โดยระวางแผนที่จะเป็นแผนที่ใหญ่ซึ่งจะรวมแปลงที่ดินทั้งหมดที่อยู่ในโซนที่ระบุเอาไว้ ซึ่งเปรียบได้กับสารบัญที่ดินเพื่อบอกว่าที่ดินอยู่ในตำแหน่งใด โดยต้องใช้ประกอบกับเลขที่ดินเพื่อเป็นการระบุให้ละเอียดว่าแปลงที่ดินในโฉนดนั้นอยู่ในเลขที่ดินอะไรเพื่อให้สามารถระบุตำแหน่งที่ดินเวลาสิบค้นได้ง่ายมากขึ้น
- เลขที่ดิน เป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งของที่ดินที่บรรจุอยู่ในระวางเดียวกันเพื่อให้รู้ว่าที่ของเราอยู่ในตำแหน่งไหนบนระวางที่ดิน โดยเลขที่ดินจะไม่มีซ้ำกันเลยในระวางนั้น ๆ
- หน้าสำรวจ จะเป็นลำดับการสำรวจแปลงที่ดินที่ได้เดินสำรวจแล้วในแต่ละตำบล โดยเริ่มนับตั้งแต่ 1 ไปเรื่อย ๆ เมื่อขึ้นตำบลใหม่ก็จะเริ่มหน้าสำรวจที่ 1 ใหม่ ดังนั้นถ้าหากตำบลนั้นเป็นตำบลเล็ก ๆ ก็อาจจะมีหน้าสำรวจที่ซ้ำกันได้ในระวางแผนที่นั้น
- ตำบล เป็นตำบลที่ตำแหน่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยในระวางแผนที่จะประกอบไปด้วยหลายตำบลทำให้ต้องระบุให้ละเอียดว่าอยู่ในตำบลไหนเพื่อไม่ให้สับสนเวลาค้นหา
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
2. โฉนดที่ดิน (มุมขวาบน)
- เลขที่โฉนด แตกต่างจากเลขตำแหน่งที่ดิน เลขที่โฉนดจะถูกกำหนดในอำเภอหนึ่ง ๆ โดยไล่จาก 1 ไปเรื่อยจนสุดเขตอำเภอ เมื่อขึ้นอำเภอใหม่ก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่
- เล่ม เป็นแฟ้มรวมโฉนดของสำนักงานที่เก็บรวบรวมโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินเอาไว้ ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่เราถืออยู่ ระบุเอาไว้เพื่อให้ง่ายสำหรับการสืบค้น
- หน้า เป็นการระบุหน้าในเล่มโฉนดเพื่อจะได้รู้ว่าอยู่แผ่นไหน
- อำเภอ เป็นอำเภอซึ่งที่ดินนั้น ๆ ตั้งอยู่
- จังหวัด เป็นจังหวัดซึ่งที่ดินนั้น ๆ ตั้งอยู่
3. ให้แก่…สัญชาติ…บ้านเลขที่…(ที่อยู่)… เป็นการระบุตัวตนของเจ้าของที่ดินมือแรก โดยระบุชื่อของเจ้าของ สัญชาติ และที่อยู่ ข้อควรระวัง คือ ส่วนนี้ไม่ได้เป็นการบอกถึงเจ้าของที่ดินปัจจุบัน ชื่อเจ้าของที่ดินปัจจุบันต้องไปดูในสารบัญจดทะเบียน
4. ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ… เป็นส่วนที่บอกถึงขนาดของแปลงที่ดิน แต่ถ้าหากที่ดินแปลงนั้นมีการแบ่งแยกแปลงที่ดินรายละเอียดต่าง ๆ จะไม่กระทบในส่วนนี้ แต่ต้องไปดูรายละเอียดการแบ่งที่ดินในสารบัญจดทะเบียนด้านหลัง แสดงในลักษณะ ไร่-งาน-ตร.วา เพื่อให้ง่ายในการอ่านขนาดที่ดิน
- 1 ไร่ = 4 งาน= 400 ตารางวา
- 1 งาน = 100 ตารางวา
5. ส่วนรูปแผนที่
- รูปแผนที่ เป็นรูปที่ดินที่ถูกย่อให้เล็กลง โดยย่อเป็นมาตราส่วนลงในรูปแผนที่ โดยรูปแผนที่เกิดขึ้นจากการอาศัยหลักหมุดเป็นตัวบ่งบอกอาณาเขตซึ่งในแต่ละหมุดจะมีหมายเลขและตัวหนังสือกำกับเอาไว้ นอกจากนั้นยังบอกอีกด้วยว่าที่ดินของเรานั้นติดกับที่ดินแปลงไหน ติดกับทางสาธารณะ หรือลำคลองหรือไม่
- มาตราส่วน เนื่องจากขนาดที่ดินจริงมีขนาดค่อนข้างใหญ่ไม่สามารถนำขนาดที่ดินจริงมาใส่ในตัวโฉนดได้จึงต้องใช้มาตราส่วนเข้ามาช่วยในการย่อรูปที่ดินลงในโฉนดได้ เช่น มาตราส่วน 1:4,000 1:1000 1:500 เป็นต้น ถ้าอยากทราบขนาดจริงก็สามารถคูณกลับเข้าไป
- ตำแหน่งทิศ เป็นลูกศรชี้แสดงทิศ เพื่อให้ผู้ที่กำลังอ่านรูปแผนที่ไม่หลงทิศนั่นอง
- วันที่ออก เป็นวันที่ออกโฉนดที่ดินฉบับนี้ว่าออกให้ ณ วันที่เท่าไร
- ลงชื่อเจ้าพนักงานที่ดิน ในโฉนดที่ดินต้องมีการเซ็นชื่อเจ้าพนักงานที่ดินพร้อมประทับตราในทุกฉบับ
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
6. ด้านหลังโฉนด สารบัญจดทะเบียน เป็นเหมือนประวัติบันทึกรายการจดทะเบียนนิติกรรมในโฉนดที่ดินว่าที่ดินแปลงนี้ผ่านอะไรมาแล้วบ้าง โดยด้านหลังของโฉนดที่ดินจะมีตารางการเปลี่ยนแปลงสิทธิ ซึ่งสามารถตรวจสอบ ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์คนปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวสิทธิ ภาระผูกพันที่มีการจดทะเบียนไว้ เช่น การซื้อขาย การให้ โอนมรดก การจำนอง ภาระจำยอมต่าง ๆ ดังนั้นถ้าอยากรู้ว่าที่ดินแปลงนี้มีภาระจำยอมอะไรบ้างก็สามารถดูในสารบัญจดทะเบียนได้ - เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก