จุดอ่อนประการหนึ่งของสถาปนิกไทยคือ การขาดทักษะและความเข้าใจในการทำ โปรแกรมออกแบบ เพราะสมัยเรียนเวลาออกแบบอาคารใด ๆ ก็ตาม นักเรียนสถาปนิกไม่ต้องทำโปรแกรมการออกแบบอาคารด้วยตัวเอง เพราะครูอาจารย์จะเป็นผู้ป้อนโปรแกรมความต้องการต่าง ๆ ให้แทบจะถึงปากนักเรียน (สถาปัตย์) กันเลย

นิสัย (เสีย) นี้ส่งผลกรรมต่อมายังสถาปนิกทั้งหลายตอนทำงานจริง ที่เราส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีความรู้ความเข้าใจในการแยกแยะข้อมูลความต้องการของลูกค้าซึ่งมีอยู่มากมายให้เป็นงานออกแบบได้ ทั้งที่งานนี้เป็นภาระอันยิ่งใหญ่และสำคัญของสถาปนิกเรา ในกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลในการออกแบบของสถาปนิกมักเกิดขึ้นจากการพูดคุยสัมภาษณ์เจ้าของอาคารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในอาคารนั้น ๆ เมื่อได้รับข้อมูลมาแล้วเราก็จะนำข้อมูล 0 มิติที่ล่องลอยเป็นคำพูดในอากาศมาเรียบเรียงเป็นข้อมูลความต้องการ หรือโปรแกรมการออกแบบ แต่สิ่งที่ยากคือลูกค้าร้อยละร้อยยี่สิบไม่เคยแยกแยะข้อมูลความต้องการมาให้สถาปนิกว่า อะไรเป็น Concept หรือแนวคิด อะไรคือความต้องการหลัก อะไรเป็นความต้องการรอง หรือข้อมูลใดเป็นเพียงความอยาก ซึ่งไม่เหมือนกับโปรแกรมออกแบบตอนเรียนที่แยกแยะข้อมูลให้อย่างเรียบร้อย วิธีการแก้ไขแบบอาหารจานด่วน คงต้องเริ่มต้นจากเราต้องทำความเข้าใจกับ 4 Keywords ในการทำโปรแกรมการ ออกแบบ ประกอบด้วย Concept, Requirement, Criteria และ Preference 4 คำนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานออกแบบ และมีความจำเป็นที่สถาปนิกต้องเข้าใจความแตกต่างของข้อมูล 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจน เพราะหากไม่สามารถแยกแยะข้อมูลเหล่านี้ออกจากกันได้ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบแล้วจะทำให้ตนเองเกิดความสับสน ไปจนถึงเกิดความยุ่งเหยิงและวุ่นวายโกลาหลในการทำงานได้เลยทีเดียว

Concept คืออะไร เราลองมาดูความหมายของข้อมูลส่วนแรก จากคำว่า Concept ที่เราคุ้นเคยกันดีกับความหมายว่าแนวความคิด เมื่อเราแยกออกเป็นสองคำจะได้ว่า แนว + ความคิด ซึ่งก็คือความคิดที่มีแนวทางหรือกรอบสำหรับประพฤติปฏิบัติ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นคำอธิบายที่แสดงถึงความคิดหลักในการสร้างสรรค์ ในการออกแบบอาคารที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ และผู้ออกแบบจะใช้แนว (ทาง) ความคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบของตนเอง ตั้งแต่เริ่มต้นจนก่อสร้างแล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังเล็กหรืออาคารหลังใหญ่โตก็ตาม แนวคิดในการออกแบบกับการออกแบบเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้อาคารที่เราออกแบบมีความชัดเจน มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากอาคารที่มีรูปแบบลักษณะเดียวกัน รวมทั้งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาคารและตัวของผู้ออกแบบเองอีกด้วย เมื่อพิจารณาข้อมูลทั้ง 4 ส่วน จะพบว่าตัวแนวคิดในการออกแบบจะเป็นข้อมูลที่มีความเป็นนามธรรมมากที่สุดในบรรดาข้อมูลทั้งหมด และเป็นกรอบใหญ่ที่ใช้กำหนดทิศทางการทำงานของผู้ออกแบบที่จะใช้นำไปสู่การทำงานในลำดับขั้นตอนต่อไป หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ เราอาจเปรียบได้ว่า Concept เป็นข้อมูลขั้นอุดมคติของ Preferences ส่วน Requirement ก็ถือเป็นข้อมูลที่เป็นรูปธรรมของ Preference และมี Criteria เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติ การออกแบบหรือเกณฑ์กำกับการปฏิบัติและทำงาน

Concept มีความสำคัญกับการทำงานออกแบบอย่างไร แนวคิดหลักในการออกแบบจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้การออกแบบอาคารเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นตัวร้อยเรียงความสัมพันธ์ของข้อมูลให้สอดคล้องกัน การสร้างแนวความคิดในการออกแบบที่ดีควรมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาการใช้งานของอาคาร และมีคุณลักษณะส่งเสริมกัน ที่มาของ Concept หรือแนวคิดในการออกแบบเกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติ สัตว์ สิ่งใกล้ตัว ไปจนถึงบริบท ประวัติศาสตร์ความเป็นมา และวัฒนธรรมของพื้นที่ตั้งอาคารก็เป็นได้ และแนวความคิดนับเป็นตัวกระตุ้นและเป็นเครื่องมือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ออกแบบทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม การสร้างแนวความคิดที่เหมาะสมกับรูปแบบการใช้สอยอาคาร หรือพฤติกรรมการอยู่อาศัยของผู้ใช้อาคาร หรือประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารหลังดังกล่าวจนเป็นที่ยอมรับหลังการใช้งาน ถือเป็นสิ่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวอาคาร เจ้าของอาคาร และรวมทั้งผู้ออกแบบอีกด้วย

เข้าใจ Requirement และ Criteria เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า Requirement กันก่อน ซึ่งมีความหมายว่า Something that is required เมื่อเป็นสิ่งที่ Required จึงถือว่า Requirement เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ออกแบบต้องวิเคราะห์และแยกแยะประเด็นออกมาให้ได้จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากลูกค้าว่าข้อมูลไหนประเด็นใดเป็น Requirement หรือความต้องการที่แท้จริงของโครงการ เพราะเจ้าข้อมูลความต้องการหลักนี้เราจะใช้เป็นโจทย์ที่ใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาให้อาคารหลังนั้น ๆ และที่สำคัญต้องอย่าลืมว่าถ้าตั้งโจทย์ผิดแล้วไซร้ ทุกงานที่ทำ ทุก Element ในการทำงานออกแบบนั้นก็จะเดินไปอย่างผิดเพี้ยนจนจบหรือสิ้นสุดการทำงาน ซึ่งหมายความว่าบ้านหรืออาคารที่สร้างมาย่อมผิดไปจากความต้องการของลูกค้าที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน ส่วนคำว่า Criteria หมายถึง เกณฑ์หรือกรอบแนวทางการปฏิบัติ ข้อกำหนดหรือมาตรฐาน ซึ่งเมื่อเราสนใจในประเด็นการออกแบบหรือ Design Criteria คำว่า Criteria จะเป็นข้อมูลที่เป็นเกณฑ์ปฏิบัติ แนวทางการทำงาน หรือมาตรฐาน ข้อกำหนด รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตาม Requirement ที่เราได้รับข้อมูลมา ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูล Requirement ของอาคารต้องกระทำควบคู่ไปกับการค้นคว้าข้อมูล Criteria ที่ใช้ประกอบกับการศึกษาหรือการทำงานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับ Requirement หรือความต้องการของโครงการในแต่ละประเด็นอาคารแต่ละชนิดแต่ละประเภทจะมีข้อกำหนดทางการใช้สอย และข้อมูลความต้องการที่แตกต่างกัน และเป็นเรื่องพื้นฐานที่สถาปนิกผู้ออกแบบต้องทราบโดยอัตโนมัติ หรือต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด้วยลักษณะรูปแบบของอาคาร ด้วยความต้องการของโครงการที่กำหนดมานี้ เราจะมีแนวทาง หรือ Criteria ที่ต้องปฏิบัติหรือต้องใช้ในการออกแบบในลักษณะใดบ้าง ตัวอย่างเช่น การออกแบบโรงแรม 200 ห้อง ย่อมมี Requirement และ Criteria ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับคอนโดมิเนียมจำนวน 200 ห้อง แม้จะดูว่าเป็นอาคารที่มีการใช้สอยสำหรับพักอาศัยเหมือนๆ กัน แต่เมื่อพิจารณาละเอียดถึง Function ความต้องการการใช้สอยก็จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก และรวมทั้ง Criteria ของโรงแรมก็จะมีกฎหมายหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโรงแรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาคารคอนโดมิเนียมไม่ต้องปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่คอนโดมิเนียมก็จะมีกฎหมายบางประการ เช่น กฎหมายอาคารชุด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอาคารโรงแรมแต่อย่างใด เราลองมาดูอีกตัวอย่างในกรณีที่เป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ มีพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร เหมือนกันทั้งสองอาคาร ในการออกแบบอาคารสูงพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นสำนักงานย่อมมีความต้องการข้อมูลเชิงเทคนิค (เป็น Requirement) ข้อกำหนดทางการออกแบบและมาตรฐานความปลอดภัย (เป็น Criteria) ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับโรงงาน 3 ชั้น ที่มีพื้นที่เท่ากันเช่นกัน ดังนั้น ถ้าหากสถาปนิกสามารถแยกแยะและสรุปข้อมูลความต้องการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคารนั้น ๆ จากลูกค้าได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้การทำงานดำเนินไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วตรงตามวัตถุประสงค์ และมีความถูกต้องตามมาตรฐานการใช้สอยและการใช้งานตามประเภทอาคาร โดยอาศัย Criteria ที่เกี่ยวข้องกับอาคารเป็นบรรทัดฐานในการทำงานทั้งในแง่มุมเชิงการออกแบบอาคารพื้นฐานทั่วไป และข้อมูลที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจง (Specific) ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมที่สำคัญก็คือ ข้อมูลที่เป็น Requirement และ Criteria ทั้งสองประการนี้ จะเป็นข้อมูลเชิงรูปธรรมทางกายภาพที่มองเห็นและจับต้องได้อย่างชัดเจน สรุปว่าวิธีง่าย ๆ ที่จะตรวจสอบว่าข้อมูลส่วนใดเป็น Requirement ของโครงการ และมี Criteria อะไรบ้างที่ต้องประพฤติปฏิบัติและใช้เป็นแนวทางการออกแบบก็คือ ย้อนกลับไปดูที่วัตถุประสงค์หลักของโครงการและประเภทการใช้สอยของอาคาร เราก็พอจะบอกได้ว่าอาคารของเรามี Requirement การใช้สอยหลัก ๆ เป็นเรื่องอะไร และต้องศึกษาข้อกำหนดมาตรฐานการออกแบบ กฎหมาย ข้อกำหนด และมี Criteria เรื่องใดมาใช้ประกอบการออกแบบกันบ้าง

การแยกแยะ Preferences กับ Requirement หรือ Criteria เมื่อเราพอเข้าใจความหมายว่าข้อมูลที่ตนเองได้รับจากลูกค้า มีประเด็นใดเข้าข่ายเป็น Requirement หรือไม่ใช่อย่างไร และต้องใช้ Criteria ใดเป็นตัวจับหรือใช้เป็นบรรทัดฐานในการออกแบบกันแล้ว ต่อไปเราคงต้องมาทำความเข้าใจกับข้อมูลตัวสุดท้าย ซึ่งมักสร้างความสับสนให้กับผู้ออกแบบเสมอ ๆ ก็คือ Preference คำว่า Preference แปลได้ว่า Something that prefer หรือเป็นสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่อยากได้หรือใฝ่ฝันให้มี ด้วยความหมายและลักษณะข้อมูลที่ใกล้เคียงกับข้อมูลความต้องการ จึงมักทำให้ลูกค้าและสถาปนิกเองเข้าใจผิดและสับสนกับข้อมูลสองชุดนี้เสมอ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามักเหมาเอาสิ่งที่เป็น Preference ของลูกค้ามาสรุปเป็น Requirement ของอาคาร หรือยกเอา Requirement มาเป็น Preference เลยก็มี หรือบางโครงการก็มีแต่ Preference โดยไม่มี Requirement หรืออีกหลายกรณีที่ผสมปนเปกันไป และใช้ข้อสรุปนี้นำไปสู่การศึกษาข้อมูลและแก้ไขปัญหาด้วยการออกแบบไปจนจบการทำงาน ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความสับสนนี้ จะทำให้เราและลูกค้าไม่ทราบและเข้าใจว่า จริง ๆ แล้วบ้านหรืออาคารหลังนี้มีความต้องการจริง ๆ หรือมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานเป็นอย่างไร เพราะอาคารที่สร้างเสร็จแล้วอาจมีแต่ Preference ที่เราแยกแยะไม่ออกเต็มไปหมดทั้งอาคาร โดยไม่เกิดการใช้งานที่เหมาะสมตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน (ซึ่งเป็นข้อมูลส่วน Requirement) และไม่เป็นไปอย่างถูกต้องตามข้อกฎหมายและมาตรฐานการออกแบบอาคาร (ซึ่งเป็นข้อมูลส่วน Criteria) แต่อย่างใด ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราอาจเทียบสองคำนี้กับคำว่า Need: ความจำเป็นพื้นฐาน กับคำว่า Want: ความอยากหรือความต้องการในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง ดังนั้นเมื่อย้อนกลับมาที่การออกแบบบ้านหรืออาคาร กลุ่มข้อมูลส่วน Requirement ควรจะเป็นข้อมูลความต้องการพื้นฐานของผู้ใช้ รูปแบบการใช้สอยตามลักษณะประเภทอาคาร การออกแบบอาคารป้องกันสภาพแวดล้อมภายนอก การอนุรักษ์พลังงาน โดยมี Criteria ที่ใช้ประกอบการออกแบบเป็นข้อมูลขนาดและพื้นที่ตามพื้นฐานการใช้สอย กฎหมายอาคาร แนวทางการออกแบบอาคารเพื่อการประหยัดพลังงาน มาตรฐานการเลือกใช้วัสดุประกอบอาคาร ฯลฯ เป็นต้น สำหรับข้อมูลส่วน Preference จะเป็นข้อมูลที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้ที่เกินจากขั้นพื้นฐาน เช่น เป็นบ้านที่มีกระจกมากที่สุด เป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นอาคารที่แสดงเอกลักษณ์ของไทยเป็นอาคารที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้ใช้ หรือแม้แต่อยากสร้างโรงเรียนที่มีรูปด้านเหมือนโรงเรียนของแฮรี่ พอตเตอร์ อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเรานึกถึงการออกแบบบ้านหรืออาคาร ถ้าเราออกแบบแล้วขาด Preference ไปบ้าง ด้วยเหตุผลหรือข้อจำกัดบางประการ อาคารก็คงยังใช้งานได้ อยู่อาศัยได้ แต่อาจจะสบายน้อยไปนิดหรือไม่ถูกใจเจ้าของเต็มที่ แต่ถ้าบ้านหรืออาคารไม่สามารถตอบสนอง Requirement ได้ครบทุกข้อ ก็คงไม่สามารถใช้งานหรืออยู่อาศัยได้อย่างแน่นอน ประเด็นการทำงานออกแบบที่น่าสนใจสำหรับข้อมูลสองส่วนนี้ คือถ้าเราสามารถออกแบบอาคารเพื่อให้มี Preference ครบถ้วน และสามารถสนับสนุน Requirement ของอาคารได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนและเป็นไปตาม Criteria ได้ทุกประการ ถือได้ว่าอาคารหลังนี้มีความสมบูรณ์แบบทุกประการ แต่ถ้าเราออกแบบอาคารด้วยความเข้าใจผิด โดยยกเอา Preference มาเป็นโจทย์ตัวตั้งสำหรับออกแบบแทนที่ Requirement กรณีนี้ก็จะทำให้อาคารมักมีรูปแบบการใช้งานหรือการออกแบบรูปลักษณ์ที่เกินปกติธรรมดา และมักมีปัญหาเรื่องงบประมาณก่อสร้างที่ถูกใช้ไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นในการออกแบบ และอาจตามมาด้วยปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานอีกหลายประการ ส่วนกรณีความเข้าใจความผิดในข้อมูลที่ได้รับสถานหนักอาจเป็นไปในรูปแบบที่เราอาจออกแบบอาคาร โดยมีแต่ส่วนที่เป็น Preference แต่ไม่มีสิ่งที่เป็น Requirement ใด ๆ อยู่เลย ซึ่งปัญหานี้ย่อมทำให้อาคารที่เกิดขึ้นมีความผิดเพี้ยนไปในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สอยขั้นพื้นฐานของผู้ใช้อาคาร และเป็นปัญหาในระยะยาวในการใช้งานอาคารที่แก้ไขได้ยากลำบาก

บทสรุปการจัดทำโปรแกรมการออกแบบ
จากข้อมูลมากมายที่เราได้รับจากลูกค้าก่อนการออกแบบดังกล่าวแล้ว การแยกแยะและสรุปประเด็นจากข้อมูลที่ได้รับให้เป็นกลุ่มก้อนอย่างชัดเจนก่อนนำไปใช้งาน เป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ออกแบบพึงกระทำเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการออกแบบสำหรับส่วนงานที่ตนเองรับผิดชอบ และประสานข้อมูลต่าง ๆ ไปยังผู้ออกแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำโปรแกรมการออกแบบอาคารหลังดังกล่าวต่อไป ทักษะความสามารถในการแยกแยะและจำแนกข้อมูลเป็นสิ่งต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อความเชี่ยวชาญ และสิ่งสำคัญคือการจัดทำสรุปเอกสารจำแนกกลุ่มข้อมูลดังกล่าวข้างต้นไว้ศึกษาประกอบการทำงานไว้ตลอดเวลา เหมือนเป็นคู่มือการออกแบบอาคารหลังใด ๆ ของตนเอง

บทความโดย : ผศ.รัชด ชมภูนิช ที่ปรึกษานิตยสาร Builder คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Source : นิตยสาร Builder Vol.33 July 2016 หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก :