7 วิธี "เซ็นสัญญา" ไม่ให้เสียเปรียบ
ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่หันมาทำธุรกิจส่วนตัวกันเป็นจำนวนมาก ใหญ่บ้างเล็กบ้างก็ว่ากันไป แต่สิ่งที่คนทำธุรกิจทุกคนหนีไม่พ้น คือ “การเซ็นสัญญา” วันนี้ผมเลยสรุปข้อกฎหมายออกมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนเซ็นสัญญาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า ก่อนที่เราจะลงนามเซ็นสัญญาแต่ละฉบับนั้นนอกจากเนื้อหาทางธุรกิจแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่เราควรระวัง ซึ่งมีอยู่ 7 ประการด้วยกัน คือ
1. พิจารณาก่อนว่าสัญญาที่ทำกันนั้นเป็นนิติกรรมประเภทใด
คำว่า “นิติกรรม” ถ้าแปลเป็นภาษาง่ายๆ ย่อมหมายความ การกระทำที่ก่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ ซึ่งมีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน คือ
- การก่อสิทธิ หมายถึง การทำนิติกรรมที่ทำให้บุคคลซึ่งไม่มีความผูกพันกันเลย มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันขึ้นมา ตัวอย่างเช่น สัญญาซื้อขาย โดยผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินให้กับผู้ซื้อและมีสิทธิที่จะได้รับชำระราคาจากผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อก็มีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินจากผู้ขาย แล้วก็มีหน้าที่ชำระราคาให้แก่ผู้ขาย เป็นต้น
- การเปลี่ยนแปลงสิทธิ คนที่เข้าทำนิติกรรมประเภทนี้ส่วนมากมักจะมีสิทธิและหน้าที่ผูกพันกันตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ต่อมาได้มีการตกลงกันเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมนั้น ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกว่า “การแปลงหนี้ใหม่” ตัวอย่างเช่น ทำสัญญาซื้อขายกันโดยผู้ขายตกลงจะชำระราคาค่าสินค้าเป็นเงิน 100,000 บาทต่อมาผู้ขายเสนอต่อผู้ซื้อว่าจะขอชำระราคาค่าสินค้าเป็นรถยนต์ 1 คันแทน เช่นนี้หากผู้ขายยอมรับชำระหนี้ด้วยรถยนต์ สิทธิของผู้ขายได้การเรียกร้องเงิน 1แสนบาทย่อมระงับไป คงมีแต่สิทธิในการเรียกร้องรถยนต์ตามที่ได้มีการตกลงเปลี่ยนแปลงกัน เป็นต้น
- การโอนสิทธิ หมายถึง การโอนสิทธิหรือหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายไปให้กับบุคคลอื่น ในทางกฎหมายเราเรียกว่า “การโอนสิทธิเรียกร้อง” ตัวอย่างเช่น นายหนึ่งกับนายสองทำสัญญาซื้อขายกัน นายหนึ่งผู้ขายย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายสองชำระราคาค่าสินค้า ต่อนายสามซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายหนึ่งผู้ขายดันมาเรียกร้องให้นายหนึ่งชำระหนี้ นายหนึ่งจึงโอนสิทธิในการรับชำระราคาค่าสินค้าที่ตนมีอยู่กับนายสองไปให้กับนายสามแทน เป็นต้น
- การสงวนสิทธิ หมายถึง การรักษาสิทธิที่มีอยู่แล้ว ทำให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นหรือมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น นายหนึ่งกับนายสองทำสัญญาซื้อขายกัน โดยตกลงกันว่าห้ามไม่ให้คู่สัญญาใดฝ่ายหนึ่งโอนสิทธิที่มีอยู่ตามสัญญาซื้อขายไปให้กับบุคคลภายนอก เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ค้ากันมานาน เป็นต้น
- การระงับสิทธิ หมายถึง การทำให้สิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายระงับสิ้นไป ตัวอย่างเช่น นายหนึ่งกับนายสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่นายหนึ่งส่งสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เช่นนี้ ย่อมทำให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างนายหนึ่งกับนายสองตามสัญญาซื้อขายเป็นอันระงับลง เป็นต้น
2. พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของสัญญา
หลังจากรู้แล้วว่าสัญญาที่จะเซ็นกันนั้นเป็นนิติกรรมประเภทใด เรื่องที่พิจารณาถัดมาคือวัตถุประสงค์ของสัญญา โดยท่านผู้อ่านต้องแน่ใจว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาที่ทำกันนั้น “ไม่ขัดต่อกฎหมาย” เช่น ไม่ใช่สัญญาจ้างฆ่าคน หรือ ไม่ใช่สัญญาซื้อขายสิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น
ประเด็นต่อมา คือ ต้องไม่ใช่สัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็น “การพ้นวิสัย” แปลไทยเป็นไทยก็คือ ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดินบนดวงจันทร์ เป็นต้น
สุดท้ายคือ สัญญาที่ทำกันนั้นต้องไม่มีวัตถุประสงค์ที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ตัวอย่างเช่น การฮั้วประมูลในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น ดังนั้น หากสัญญาใดมีวัตถุประสงค์ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น สัญญาที่ทำขึ้นนั้นย่อมตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่เริ่ม คู่สัญญาย่อมไม่มีภาระผูกพันใดๆ ต่อกัน
3. พิจารณาว่าสัญญาที่ทำกันขึ้นนั้น กฎหมายกำหนดรูปแบบการทำไว้โดยเฉพาะหรือไม่
สัญญาบางประเภทกฎหมายกำหนดรูปแบบการทำไว้โดยเฉพาะ ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกกันว่า “แบบแห่งนิติกรรม” เพราะหากทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด สัญญาที่ทำขึ้นนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ
ตัวอย่างเช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสัญญาจำนอง ต้องทำเป็นหนังสือสัญญาและนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
4. พิจารณาความสามารถในการเข้าทำสัญญาตามที่กฎหมายกำหนด
ความสามารถในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสามารถทางด้านสติปัญญาหรือกำลังของทรัพย์ แต่หมายถึงความสามารถในการเข้าทำนิติกรรมตามที่กฎหมายกำหนด
ตัวอย่างเช่น ผู้เยาว์จะเข้าทำสัญญาใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียก่อน หรือสัญญาบาง
ประเภทที่สามีหรือภริยาประสงค์จะทำขึ้นต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน เป็นต้น
โดยหลักแล้วบุคคลที่บรรลุนิติภาวะล้วนสามารถทำนิติกรรมได้เกือบทุกประเภท เว้นแต่จะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือตกเป็นบุคคลล้มละลาย ดังนั้น หากท่านผู้อ่านไม่พิจารณาเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมให้ดี สัญญาที่ทำขึ้นอาจตกเป็นโมฆียะ และถูกบอกล้างให้สิ้นผลไปได้เสมอ
5. พิจารณาถึงข้อสัญญามาตรฐาน ค่าธรรมเนียม และภาษี
ในเรื่องข้อสัญญามาตรฐานเป็นสิ่งที่ควรเขียนอยู่ในสัญญาทุกฉบับเพื่อป้องกันการตีความที่ขัดแย้งกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะตอนคุยกันดีๆอะไรก็ดีไปหมดแหละครับ แต่เวลาทะเลาะกันนี่สิจะเป็นปัญหา เพราะต่างฝ่ายต่างหาช่องทางทางกฎหมายที่จะมาฟาดฟันกันให้ถึงที่สุด ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม เราควรพิจารณาถึงเรื่องดังต่อไปนี้
- การผิดสัญญาและการบอกเลิกสัญญา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คู่สัญญาต้องตกลงกันให้ชัดว่ากรณีใดบ้างที่ถือเป็นการผิดสัญญา การกระทำใดบ้างที่คู่สัญญาสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เพื่อป้องกันการบอกสัญญาซี้ซั้ว
- การโอนสิทธิ สามารถทำได้หรือไม่ ถ้าตกลงกันให้ทำได้ก็ควรต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
- การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา อันนี้ควรต้องมีอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้สัญญาที่ทำขึ้นนั้นรัดตึงจนเกิดไป สามารถแก้ไขหรือผ่อนพันได้ตามสถานการณ์ โดยมากมักจะทำเป็นข้อตกลงต่อท้ายสัญญาและลงนามกันทั้งสองฝ่าย
- การสละสิทธิ อันนี้ควรไว้เพื่อกันการหลงลืมการใช้สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งอาจถูกคู่สัญญาอีกฝ่ายยกขึ้นกล่าวอ้างได้ในภายหลัง ซึ่งจะทำให้เราเสียเปรียบในกรณีที่มีความกันในศาล ดังนั้น เราอาจเขียนไว้ในสัญญาว่า “การสละสิทธิใดๆตามสัญญาฉบับนี้ ให้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย” เป็นต้น
- การแยกส่วนข้อสัญญาส่วนที่เป็นโมฆะ อันนี้เป็นข้อที่นักกฎหมายเขียนไว้เพื่อป้องกันตัวสัญญาที่ร่างขึ้นไว้โดยเฉพาะ เพราะหากในอนาคตสัญญาข้อหนึ่งเกิดตกเป็นโมฆะเพราะความผิดพลาดของนักกฎหมายที่ร่างหรือด้วยเหตุใดก็ตาม สัญญาจะได้ไม่ตกเป็นโมฆะไปทั้งฉบับ ให้ตกไปเฉพาะส่วนที่เป็นโมฆะเท่านั้น และข้อสัญญาที่เหลืออยู่ก็สามารถผูกพันคู่สัญญาต่อไปตามเดิม เป็นต้น
- การบอกกล่าว คือ เป็นการตกลงกันว่าเวลาคู่สัญญาจะทำการติดต่อกันเพื่อบรรลุหรือทำตามข้อตกลงในสัญญา ควรจะติดต่อการทางไหน ทำด้วยวิธีการใดจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตรงกัน โดยมากมักบอกกล่าวกันทางจดหมายส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับส่งตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา เพราะวิธีการนี้จะทำให้มีหลักฐานการส่งที่ชัดเจนสามารถนำมาเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้
- ข้อตกลงสมบูรณ์ท้ายสุด อันนี้เขียนไว้เพื่อปิดปากคู่สัญญาไม่ให้กล่าวอ้างถึงข้อตกลงอื่นๆนอกเหนือจากที่ระบุเอาไว้ในสัญญา ซึ่งอาจเขียนประมาณว่า “สัญญาที่ทำขึ้นนี้เป็นข้อตกลงสุดท้ายที่คู่สัญญาได้ทำขึ้น และให้ถือเป็นการยกเลิกเพิกถอนข้อตกลงใดๆที่เกิดขึ้นก่อนทำสัญญานี้หรือที่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญานี้” เป็นต้น
ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมและภาษีนั้น ค่าธรรมเนียมควรตกลงกันให้ดีว่าใครจะเป็นคนออกหรือจะออกกันคนละครึ่ง ส่วนภาษีนั้นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรต้องศึกษาว่าสัญญาที่ทำขึ้นนั้นใครเป็นคนเสียภาษีและเสียในอัตราเท่าใด
6. เก็บเอกสารแนบท้ายสัญญาไว้ให้ดี
เอกสารแนบท้ายสัญญานั้นมีขึ้นเพื่อขยายเนื้อหาหรือแสดงความชัดเจนถึงข้อความที่เขียนเอาไว้ในสัญญา เพราะหากเรายัดทุกอย่างเอาไว้ในสัญญาฉบับเดียว ก็จะทำให้สัญญานั้นอ่านยากและหนาจนเกินไป ตัวอย่างเช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือรับรองบริษัท โฉนดที่ดิน หรือรายละเอียดของสินค้า เป็นต้น ในกรณีที่มีเอกสารแนบท้ายสัญญา ในสัญญาที่ร่างขึ้นควรมีข้อความว่า “เอกสารแนบท้ายสัญญาให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา” ไว้ด้วย
7. อ่านสัญญาทุกหน้าก่อนเซ็น และควรมีพยานอย่างน้อย 2 คน
มาถึงขึ้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ก็คือ การลงนามในสัญญา หรือที่เรียกกันบ้านๆว่าเซ็นสัญญานั่นแหละ สิ่งที่ควรจะต้องทำคือ อ่านสัญญาทุกหน้าและทุกตัวอักษรให้ละเอียดก่อนเซ็น อย่าเซ็นสัญญาโดยไม่อ่านข้อความเด็ดขาด เพราะเจ็บกันมาเยอะแล้ว
ต่อมาคือ ควรมีพยานอย่างน้อยฝ่ายละ 1 คน ลงนามในสัญญาเพื่อรับรู้การทำสัญญาที่เกิดขึ้นด้วย เพราะหากมีคดีความกัน พยานย่อมมีส่วนสำคัญในการดำเนินคดีอยู่ไม่น้อย
นอกจากนี้ ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเซ็นกำกับลงในสัญญาทุกหน้าทุกแผ่นที่มีข้อความที่ตกลงกัน เพื่อป้องกันการสอดไส้หรือการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาภายหลังที่ทำสัญญากันขึ้น เพราะคุณไม่มีทางรู้หรอกว่าเค้าจะเปลี่ยนใจหันมาโกงคุณเมื่อไหร่ หากมีทางป้องกันได้ควรกันเอาไว้ดีกว่า
สุดท้าย สัญญาที่ทำขึ้นอย่างน้อยควรมีสองฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน และให้คู่สัญญาต่างเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ
พออ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านทุกท่านก็คงพอจะทราบถึงหลักในการพิจารณาก่อนการเซ็นสัญญากันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากท่านใดเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ กรุณากดแชร์โลดเพื่อเป็นกำลังใจต่อผู้เขียน (ฮา) แล้วพบกันใหม่บทความหน้า .. สวัสดีครับ - เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก