วันหยุด วันลาตามกฎหมาย .. มีอะไรบ้าง ?
หากพูดถึงเรื่องกฎหมายแรงงาน ขออธิบายถึงวันหยุดวันลาตามที่กฎหมายกำหนดกันบ้าง จริงๆแล้วผู้อ่านหลายคนที่อยู่ในวัยทำงานก็อาจจะพอรู้กันอยู่บ้างว่าสิทธิของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องวันหยุดวันลานั้นมีอยู่อย่างไร บางคนอาจรู้น้อย บางคนอาจรู้เยอะ รู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง TerraBKK ขออธิบายสิทธิในการหยุดการลาของลูกจ้างอย่างเราๆนั้นกฎหมายเค้ากำหนดไว้อย่างไร ซึ่งมีอยู่ 8 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
1. วันหยุดประจำสัปดาห์
กฎหมายกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าใน 1 อาทิตย์ลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งจะเป็นวันใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นอาทิตย์เสมอไป และลูกจ้างแต่ละคนอาจจะหยุดวันเดียวกันหรือคนละวันก็ได้ เพราะบางสถานประกอบการไม่สามารถกำหนดวันหยุดที่แน่นอนได้เนื่องจากสภาพของธุรกิจ
สำหรับงานบางประเภทการหยุดทุกอาทิตย์อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง กฎหมายจึงเป็นช่องทางให้นายจ้างลูกจ้างอาจตกลงกันให้สะสมวันหยุดประจำสัปดาห์รวมไปหยุดพร้อมกันคราวเดียวก็ได้ ซึ่งระยะเวลายาวที่สุดก็คือ ทำงานติดต่อกัน 24 วันติดต่อกัน และหยุดประจำสัปดาห์ 4 วันติดต่อกัน เป็นต้น
2. วันหยุดตามประเพณี
ในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องกำหนดว่าจะถือวันใดเป็นวันหยุดตามประเพณีสำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นๆบ้าง นั่นหมายความว่าวันหยุดของแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพของกิจการนั้นๆ โดยวันหยุดตามประเพณีกฎหมายกำหนดว่าต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน และ 1 ใน 13 วันที่ทุกบริษัทต้องมีคือ “วันแรงงานแห่งชาติ” (1 พฤษภาคม ของทุกปี) ส่วนวันหยุดอื่นนอกจากนี้นายจ้างอาจเลือกกำหนดจากวันหยุดราชการประจำปีหรือวันหยุดทางศาสนาก็ได้ หรือจะเลือกจากขนบธรรมเนียมตามประเพณีแห่งท้องถิ่นนั้นๆก็ได้แล้วแต่นายจ้างจะเลือกเพียงแต่ต้องไม่น้อยกว่า 13 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี
วันหยุดประเภทนี้มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างได้มีวันหยุดพักผ่อนระยะยาวสักครั้งในรอบปี โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่านายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างหยุดคราวเดียว 6 วันติดๆกัน อาจจัดให้หยุดคราวหนึ่ง 1 วันหรือ 2 วันก็ได้ เพียงแต่รวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานใน 1 ปี
แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า นายจ้างส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้เป็นวันลา เรียกว่าวันลาพักผ่อนบ้าง ลาพักร้อนบ้าง และมักจะกำหนดให้ลูกจ้างเป็นผู้ยื่นใบลาเพื่อขออนุญาตจากนายจ้าง ในกรณีเช่นนี้ต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ว่าการอนุญาตของนายจ้างไม่ใช่การอนุญาตให้ลา แต่เป็นการที่นายจ้างกำหนดวันหยุดประจำปีให้ตามกฎหมาย ดังนั้นถ้าลูกจ้างไม่ได้ขอลาขึ้นมาและนายจ้างก็ไม่ได้จัดวันหยุดประจำปีให้ ต้องถือว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้หยุดไปรวมหยุดในปีต่อๆไปก็ได้ ส่วนลูกจ้างที่ทำงานมายังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนดให้หยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของการทำงานก็ได้ตามแต่นายจ้างจะเห็นสมควร
4. วันลาป่วย
เรื่องการลาป่วยกฎหมายกำหนดไว้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถไปทำงานให้กับนายจ้างได้ จะได้มีโอกาสหยุดงานไปเพื่อรักษาตัวโดยไม่ถูกนับเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ โดยถ้อยคำในกฎหมายใช้คำว่า “ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง” นั่นหมายความลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้จนกว่าจะหายป่วยหรือตายนั่นแหละ เพียงแต่หากลาป่วยเกินกว่า 3 วัน นายจ้างมีสิทธิเรียกดูใบรับรองแพทย์ได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอยู่ว่าถ้ามีการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายเนื่องการจากการทำงาน กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการลาป่วย เพราะสิทธิของลูกจ้างในกรณีนี้จะไปโยงกับเรื่องพรบ.เงินทดแทนฯ ซึ่งจะเป็นกฎหมายอีกตัวหนึ่ง
5. วันลาเพื่อทำหมัน
การลาในกรณีนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “การลาเพื่อทำหมัน” กับ “การลาเนื่องจากการทำหมัน” โดยจะลากี่วันก็ได้กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้แน่นอน เพียงแต่ระยะเวลาในการลาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ ไม่ใช่คิดจะลาก็ลาได้ตามอำเภอใจ
6. วันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น
การลากิจนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการลาเอาไว้เลย โดยเขียนเอาไว้ว่าให้เป็นไปตามข้อบังคับการทำงาน นั่นย่อมหมายความว่านายจ้างจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการลาไว้อย่างไรก็ได้ โดยจะกำหนดว่าการลากิจนั้นลูกจ้างจะได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้รับบางส่วนก็ได้แล้วแต่นายจ้างจะกำหนด
7. วันลาเพื่อรับราชการทหาร
กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ถูกเรียกระดมพล ไม่ว่าจะเป็นการเรียกระดมพลเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมก็ตาม โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในระหว่างที่ลาด้วย แต่ปีนึงต้องไม่เกิน 60 วัน
8. วันลาเพื่อทำการฝึกอบรม
การลาในกรณีนี้คือ หากลูกจ้างต้องการที่จะเข้ารับการอบรมหรือเข้าสัมมนาต่างๆเพื่อพัฒนาความรู้หรือความสามารถของตนเอง กฎหมายก็ให้สิทธิลูกจ้างลางานได้เช่นกัน เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าการลาไปอบรมนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการแรงงานหรือสวัสดิการสังคม หรือเป็นการเพิ่มทักษะความชำนาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้าง หรือเป็นการสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดขึ้น โดยในการลาดังกล่าวลูกจ้างจะต้องแจ้งถึงเหตุที่ลาพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ(ถ้ามี) ให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
9. วันลาเพื่อคลอดบุตร
การลากรณีนี้ให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างหญิงเท่านั้น ลูกจ้างชายจะมาทำเนียนว่าเมียตัวเองคลอดแล้วจะมาใช้สิทธิลาคลอดด้วยก็คงจะไม่ใช่เรื่อง(ฮา) โดยลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มตั้งครรภ์เป็นต้นไป เช่น ลาเนื่องจากแพ้ท้อง ไปฝากครรภ์ ตรวจรักษาครรภ์เตรียมตัวคลอด รวมถึงการลาเพื่อพักฟื้นหลังคลอดอีกด้วย โดยลูกจ้างหญิงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามปกติตลอดระยะเวลาที่ที่ลาแต่ต้องไม่เกิน 45 วัน
พออ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะทราบกันแล้วนะครับว่า ตัวเองมีสิทธิหยุด มีสิทธิลาตามกฎหมายอย่างไร เพราะฉะนั้นจงรักษาและใช้สิทธิของตัวเองให้เต็มที่ อย่าทำงานจนลืมดูแลตัวเอง พักผ่อนเสียบ้าง เพราะท้ายที่สุดแล้วบริษัทไม่ได้รักคุณหรอกครับ ถ้าคุณเป็นอะไรไปอย่างมากเค้าก็ให้กระเช้าอันนึงแล้วก็หาคนมาทำงานแทนคุณ
--เทอร์ร่า บีเคเค อ้างอิง : พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.