ละลายพฤติกรรม “อมข้าว” ของลูก ด้วย 5 ทริค
ปัญหาที่บรรดาคุณแม่มักประสบพบเจอในเด็กช่วงอายุ 1-3 ขวบ คือ ลูกไม่ยอมกลืนอาหาร และเล่นสนุกด้วยการอมข้าวหรืออมอาหารไว้ในปาก ไม่ค่อยเคี้ยวหรือว่าเคี้ยวช้า นอกจากจะสร้างความหงุดหงิดให้คุณพ่อคุณแม่ที่รอป้อนอาหารให้ลูกรักแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากเบบี๋ถึงขั้นฟันผุได้นะคะ
การที่ลูกน้อยอมข้าวเกิดจากหลายสาเหตุ แต่โดยมากมักเกิดจากการที่ลูกมักจะห่วงเล่น หรือยังติดกับการดูดอาหาร หรือไม่ได้รับการฝึกการเคี้ยวอย่างถูกต้อง รวมถึงบางครั้งลูกก็มัวแต่สนใจสิ่งรอบตัว (เช่น ของเล่น โทรทัศน์ เสียงรอบข้างต่างๆ) ทำให้ไม่สนใจในการกินอาหาร จึงอมข้าวไว้ในปากก่อนนั้นเอง
5 สาเหตุที่ลูกชอบอมข้าวพร้อมทริคในการแก้ปัญหา
1. ลูกอมข้าว เพราะขาดการฝึกกินข้าวที่ถูกวิธี หรือขาดแบบอย่างที่ดี
วิธีแก้ปัญหา : ระหว่างนั่งกินอาหารด้วยกันคุณพ่อคุณแม่ควรเคี้ยวข้าวให้ลูกดู และสอนให้เค้าทำตาม เคี้ยวแล้วกลืน เคี้ยวแล้วกลืนทำอย่างไร ลูกเคยชินกับการกลืนนมพอต้องมากลืนอาหารแข็งอาจรู้สึกว่ายาก
2.ลูกอมข้าว เพราะบรรยากาศบนโต๊ะอาหารที่น่าเบื่อ
วิธีแก้ปัญหา : คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหาร ทำให้เรื่องการกินอาหารเป็นเรื่องสนุกผ่อนคลาย ไม่ควรไปกดดัน คอยจับผิดหรือบีบบังคับยัดเยียดสิ่งต่างๆ ที่ลูกไม่ชอบค่ะ
3.ลูกอมข้าว เพราะมีสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปจากโต๊ะอาหาร
วิธีแก้ปัญหา : ตัดสิ่งรบกวนต่างๆ ที่จะดึงดูดความสนใจของลูกจากโต๊ะอาหาร เช่น ปิดโทรทัศน์ขณะกินข้าว หรือการมีขวดนมตั้งอยู่บริเวณนั้น เมื่อลูกเห็นก็มักจะไม่อยากหม่ำข้าวเพราะเห็นว่ามีนมรอเค้าอยู่
4. ลูกอมข้าว เพราะต้องการต่อต้านจากการถูกบังคับให้กินอาหาร
วิธีแก้ปัญหา : ไม่ควรดุว่าลูก หรือบังคับ เร่งรัด ยัดเยียดให้ลูกกินข้าวเด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่มีความสุขในการหม่ำอาหาร และแสดงพฤติกรรมต่อต้านมากขึ้น ควรสร้างบรรยากาศให้สบายๆ ผ่อนคลาย
5.ลูกอมข้าว เพราะอิ่มแล้วจึงอมข้าวไว้เพราะไม่อยากกินต่อ
วิธีแก้ปัญหา : หากลูกกินไปได้สักพักแล้วเริ่มอมข้าวนั่นอาจเพราะเค้าอิ่มแล้ว ให้หยุดป้อน อย่าพยายามหลอกล่อให้กินต่อเลย ทั้งนี้ก่อนเวลาอาหารของลูกไม่ควรให้เค้าหม่ำนมหรือขนม เพราะจะทำให้อิ่มไปก่อน
หากพยายามวิธีต่างๆ แล้วยังไม่สำเร็จ ขอแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์หรือกุมารแพทย์เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ตรงจุดยิ่งขึ้นค่ะ
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด
ขอบคุณข้อมูลจาก : ละลายพฤติกรรม “อมข้าว” ของลูก ด้วย 5 ทริค
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.