ธุรกิจ Startup คืออะไร
ในช่วงนี้เราสังเกตกันหรือไม่ว่า คำว่า “Startup” ถูกพูดถึงในโลกธุรกิจค่อนข้างเยอะมากไม่ว่าจะหันไปทางก็มีแต่คนพูดถึง ไม่เว้นแต่งานสัมมนาก็มีการนำประเด็นนี้มาพูดด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐบาล มีการสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจ Startup และโดยเฉพาะการสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชนที่เห็นโอกาสทางธุรกิจก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันเป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการยกระดับความสำคัญให้กับ Startup ในประเทศไทยให้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ดังนั้นใครที่ยังไม่รู้จัก Startup หรือยังสับสนว่าจริง ๆ แล้ว Startup คืออะไรกันแน่ เราเริ่มไปทำความรู้จักได้เลย
“Startup” หรือ “ธุรกิจเกิดใหม่” คำ ๆ นี้เริ่มเข้ามาเป็นที่คุ้นหูของคนไทยมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีมานี้ สตาร์ทอัพถือเป็นธุรกิจ SME ซึ่งสามารถแยกความหมายออกจากกันได้ค่อนข้างยากเราจะเห็นหลาย ๆ คนพยายามแยกคำว่า SME กับ Startup ออกจากกันแต่ความเป็นจริงแล้วมันมีบางสิ่งที่คล้ายกันอยู่มากพอสมควรทั้งลักษณะของธุรกิจ การทำธุรกิจที่เริ่มจากเล็กก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่สตาร์ทอัพแตกต่างออกไปจากธุรกิจ SME คือ การมองไปที่โอกาสการเติบโตที่มีค่อนข้างมากในอนาคต โดยการเห็นช่องว่างทางการตลาดและเห็นถึงปัญหา แล้วสร้างธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ซึ่งจะสะท้อนกลับเข้ามายังการสร้างผลประกอบการทางธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
(ภาพจาก : fundersandfounders.com)
นอกจากนั้นธุรกิจสตาร์ทอัพอาจจะต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยในการเสริมศักยภาพในทำธุรกิจ ให้เกิดความแตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่เดิมและช่วยการขยายตัวของธุรกิจได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นภายใน 1-3 ปี เพราะการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ จึงไม่สามารถตอบโจทย์สตาร์ทอัพได้ สิ่งหนึ่งที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับสตาร์ทอัพในบ้านเราก็คือ “สตาร์ทอัพต้องเกี่ยวข้องกับไอที ต้องมีแอปพลิเคชั่น ต้องมีเว็บไซต์ หากไม่มีจะไม่ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพ” ในความเป็นจริงแล้วสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องมีแอปพลิเคชั่น ไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ แต่การนำเอาแอปพลิเคชั่นหรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าสามารถสร้างรายได้และผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้โดยอาศัยเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย
นอกจากนั้นสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องมีนวัตกรรม อาจจะเป็นการก๊อปปี้นวัตกรรมแล้วนำมาปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจที่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักให้ดียิ่งขึ้นและแก้ไขให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เมื่อปรับปรุงแล้วแล้วเราสามารถทำได้ดีกว่าของเดิม ผู้บริโภคใช้แล้วติดใจเกิดการบอกต่อ จนนำมาซึ่งการเติบโตที่ดีกว่าเจ้าของนวัตกรรมเดิมที่ทำอยู่เดิม เห็นได้จาก Facebook กับ HI5 ทั้งสองบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับ Social Network เหมือนกันแต่ความยั่งยืนและความสำเร็จนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ใช้ ความหลากหลาย และผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง
สาเหตุหนึ่งที่สตาร์ทอัพต้องเติบโต คือ การทำธุรกิจ Startup ได้จำเป็นต้องมีเงินทุนคอยสนับสนุนเพราะในระยะเริ่มต้นของการทำธุรกิจอาจจะต้องเผชิญปัญหาการขาดทุนและต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง การมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอถือเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จของสตาร์ทอัพซึ่งถ้าขาดเงินทุนไปก็อาจจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ในอนาคต คำถามคือแล้วเงินทุนจะมาจากไหน คำตอบ คือ นักลงทุน (Investor) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Angle Investor กับ Venture Capital
- Angle Investor จะเป็นนักลงทุนที่แสวงหาสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ น่าลงทุน เมื่อค้นพบแล้วจะยอมลงทุนกับสตาร์ทอัพเหล่านั้นตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ผู้ประกอบการก็สามารถนำเงินลงทุนตรงนี้ไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทำให้นักลงทุนประเภทนี้ค่อนข้างเสี่ยงในการลงทุนมากทีเดียว
- Venture Capital (VC) มีบทบาทในวงการสตาร์ทอัพค่อนข้างมากในการสนับสนุนเงินลงทุนจำนวนมากให้กับ Startup ที่มีศักยภาพน่าสนใจ ถ้าหากไม่มี VC เราคงไม่ได้เห็นบริษัทอย่าง Facebook, Google และ Instagram เป็นต้น นักลงทุนประเภทนี้เสี่ยงน้อยกว่า Angle Investor
ตัวอย่างสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ได้แก่
- Ookbee
- Wongnai
- Kaidee
- Stock Radar
- อื่นๆ
การเข้ามาของสตาร์ทอัพในประเทศไทยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคนี้ นั่นก็คือ “Co-working Space” พื้นที่ทำงานร่วมกันรูปแบบใหม่ที่เอาไว้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมถึงมีการจัดสัมมนาให้ความรู้กับเหล่าสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ปัจจุบัน Co-working Space มีด้วยกันหลายแห่งมาก เช่น Growth Cafe & Co., Pencave Co-Working Space, COLAB on Convent, Storyline และ HUBBA-TO เป็นต้น
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก