ทำความเข้าใจ " ผังเมือง " เครื่องมือกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง
ผังเมือง เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศว่าจะเป็นไปในทางไหน และเป็นกรอบกฎหมายที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง แต่น้อยคนมากๆที่จะเข้าใจว่าจริงๆแล้ว ผังเมืองแต่ละผังนั้นมีบทบาทอย่างไร บอกอะไรเราบ้าง กำหนดและบังคับใช้อย่างไร และก็คงจะมีน้อยคนอีกเช่นกัน ที่จะรู้ว่าผังเมืองเองก็มีลำดับขั้นตอนของศักย์การพัฒนา TerraBKK Research มองว่าผังเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญที่กำหนดความเจริญและการเติบโตของเมือง หากเราเข้าใจผังเมืองก็จะทำให้เข้าใจทิศทางการลงทุนด้วยเช่นกัน จึงนำข้อมูลในด้านผังเมืองมาให้แฟนๆ TerraBKK ได้รับทราบทั่วกัน
การกำหนดลำดับศักย์ของผังเมือง “ ผังเมือง” เป็นเหมือนนโยบายในการพัฒนา โดยแต่ละกระทรวง, หน่วยงาน หรือองค์กร ก็จะมีแผนการพัฒนาของตัวเองด้วย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า บางครั้งแผนการพัฒนาของแต่ละหน่วยงาน ก็ตรงบ้างไม่ตรงบ้างกับกรอบการพัฒนาของผังเมือง ลำดับศักย์ของผังเมืองนั้นจะกำหนดการพัฒนาไว้ล่วงหน้าคล้ายๆกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนจะย่อยลงสู่ลำดับศักย์ที่เล็กลง โดยมีลำดับเป็น ประเทศ - ภาค - จังหวัด - พื้นที่ ตามลำดับ โดย TerraBKK Research จะขอนำเสนอข้อมูลและความสำคัญของแต่ละผังในเบื้องต้น ดังนี้1. ผังนโยบาย เป็นผังที่วางกรอบการพัฒนาในเชิงนโยบายซึ่งครอบคลุมระดับประเทศ ระดับภาค และระดับกลุ่มจังหวัด (ภาคย่อย) ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผังนโยบายสามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 ประเภท คือ
- ผังประเทศไทย ปี 2600 - เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าประเทศเราได้วางวิสัยทัศน์และกรอบการพัฒนาระยะยาวไว้แล้วถึง 50 ปี โดยผังประเทศไทยปี 2600 ได้รับมติจากคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2545 และตอนนี้ก็ได้ประกาศออกมาแล้วด้วย ซึ่งเนื้อหาในผังประเทศไทยฉบับนี้ได้ครอบคลุมถึงการพัฒนาทั้งในเชิงทรัพยากร, กายภาพ, เศรษฐกิจ, คมนาคม เป็นต้น
- ผังภาค - มีเนื้อหาอยู่ในผังประเทศไทยปี 2600 แต่เป็นการชี้นำการพัฒนาในระบบภาค กำหนดบทบาทของแต่ละภาค ทิศทางการพัฒนาในทุกด้าน
- ผังอนุภาค - เป็นผังกลุ่มจังหวัดในภาคที่มีบริบทหรือลักษณะภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกัน อาทิเช่น กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาจะคล้อยตามกับผังภาค แต่จะระบุการพัฒนาที่แสดงถึงบริบทของเมืองแตกต่างและลึกกว่าผังภาค
2. ผังเมืองรวม เป็นผังมีการบังคับใช้และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติผังเมือง ปี 2518 โดยผังชนิดนี้เราจะคุ้นเคยกันดี เนื่องจากดมีผลกระทบโดยตรง โดยเนื้อหาของผังจะวางกรอบการพัฒนา กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การควบคุมอาคารหรือพื้นที่ก่อสร้าง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ผังเมืองรวมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่
- ผังเมืองรวมจังหวัด - ดำเนินการดูแลภายใต้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนั้นๆ เป็นผังที่มีการบังคับใช้ในระดับจังหวัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังเมืองรวมจังหวัดได้มีการดำเนินการทั้งหมด 73 จังหวัด ไม่รวมจังหวัดกรุงทพมหานครและปริมณฑล
- ผังเมืองรวมเมืองหรือผังเมืองรวมชุมชน - ลักษณะการบังคับใช้จะเป็นไปเช่นเดียวกับผังเมืองรวมชนิดอื่นๆ ดำเนินการดูแลภายใต้กรมโยธาธิการและการผังเมือง ผังเมืองรวมเมืองหรือผังเมืองรวมชุมชน จะพิเศษกว่าผังเมืองรวมจังหวัด โดยจะมีผังเมืองรวมเมืองหรือผังเมืองรวมชุมชนก็ต่อเมื่อ พื้นที่นั้นๆมีลักษณะของเมืองที่พิเศษ ที่ควรจะมีผังเมืองเพื่อควบคุมการพัฒนา
3. ผังปฏิบัติการ หรือ Action Plan เป็นผังที่มีระดับเล็กที่สุดแล้วก็ค่อนข้างมีรูปธรรมที่สุด ผังปฏิบัติการจะเป็นการออกแบบพื้นที่ในเชิงละเอียด มีกรอบระยะเวลาการดำเนินการ และมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน
- ผังเฉพาะ - มีการลงรายละเอียดโครงการพัฒนา ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาเชิงกายภาพ
- ผังการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ - เป็นการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินบนที่ดินเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ที่ดินที่สูงที่สุด
ลำดับศักย์เบื้องต้นของผังเมืองแต่ละประเภท โดยหลักการแล้วเป็นไปเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจการพัฒนาไปอยู่ในส่วนท้องถิ่นมากขึ้น โดยการออกผังเมืองแต่ละครั้งควรจะต้องมีการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สุด แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังขนาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของผังเมืองอย่างมาก ทำให้กลไกการดำเนินการนั้นจึงเป็นไปด้วยความล่าช้า อย่างที่เราจะเห็นว่าผังเมืองไม่สามารถออกมาทุก 5 ปีอย่างที่กฎหมายระบุไว้ได้ อย่างไรก็ตามเนื้อหาและชุดความรู้ในเรื่องของผังเมืองที่น่าสนใจนั้น TerraBKK Research จะนำมาเผยแพร่ให้กับผู้อ่านได้ติดตามกันอีกต่อไป -- เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก