หากจะพูดถึงเรื่องการออมเงิน เราคงจะจำคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ได้ว่ามีเงินต้องเก็บออม เหลือจากค่าขนมก็ควรนำมาหยอดใส่กระปุกออมสิน ก็อาจจะทำได้บ้าง แต่พอโตขึ้นเริ่มทำงานทำไมรู้สึกว่าการออมเงินแม้จำนวนสักเพียงนิดจากเงินเดือน ทำไมมันถึงยากขนาดนี้ เงินเดือนก็ได้เพียงเดือนละครั้ง จะเพิ่มก็เพิ่มไม่มาก หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องใช้เงินจำนวนมากจะทำอย่างไร มีคนจำนวนมากที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการทางการเงิน ส่งผลให้ในแต่ละเดือนมีเงินเก็บเพียงน้อยนิดหรือแทบไม่มีเลย เพราะจะต้องใช้หนี้บัตรเครดิตที่รูดไปโดยไม่จำเป็นเพียงเพราะต้องการจะสนองความต้องการของตนเองในระยะสั้นแต่ต้องจมอยู่กับความทุกข์ในระยะยาว เราต้องปรับวิธีการคิดจากการสร้างข้ออ้างที่บอกว่าออมเงินไม่ได้ หรือไม่มีแรงบันดาลใจ โดยลองทดลองออมเงินด้วยวิธีเหล่านี้ จะทำให้เห็นถึงความง่ายและผลลัพธ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรารู้สึกภูมิใจในตัวเองระดับหนึ่ง เพราะยิ่งออมเงินได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความสุขก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากเงินเดือนออกทุก ๆ ครั้ง คือ การแบ่งเงินออกมาเพื่อนำไปเก็บออม โดยเงินที่กล่าวนี้จะฝากไว้กับบัญชีที่เปิดใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันหรือเป็นบัญชีที่รับเงินเข้า – ออกโดยตรง โดยการฝากอาจเป็นในลักษณะระยะสั้น หรือระยะยาวก็ได้ การทำแบบนี้ทุกเดือนจะเป็นการบังคับตัวเองให้ออมเงินทุกเดือน ซึ่งในปัจจุบันนี้การตัดเงินจากบัญชีเพื่อนำไปออมสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ เพียงแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารทราบ กำหนดวันเวลาและจำนวนเงินที่ต้องการจะหักในแต่ละเดือน เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องเป็นกังวลอีกต่อไป อย่างที่สอง การแบ่งจำนวนเงินที่จะใช้ในแต่ละวัน หลังจากการหักเงินส่วนหนึ่งเพื่อการออมแล้ว เริ่มโดยการตัดค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อาทิเช่น ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าห้อง(หากไม่ได้อยู่กับครอบครัว) และค่าเดินทาง สำหรับการใช้รถไฟหรือรถเมล์ หลังจากนั้นก็คิดว่าในแต่ละวันจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ สมมติว่าใน 1 วัน จำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวน 200 บาท แบ่งโดยการแลกเงินให้เป็นแบงค์ย่อยแล้วใส่ในถุงพลาสติกสำหรับการใช้ทุกวัน แล้วหยิบไปใช้เพียงวันละถุงเท่านั้น อย่างที่สาม การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย แม้ว่าจะแบ่งเงินสำหรับการใช้จ่ายในแต่ละวันแล้ว การทำบันทึกรายรับ – รายจ่าย จะช่วยให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะในแต่ละวันอาจมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เหมือนกัน มีการซื้ออะไรที่จำเป็นและไม่จำเป็นบ้าง เพื่อช่วยควบคุมรายจ่ายให้ลดลงอีกด้วย อย่างที่สี่ การเดินทางไปทำงานด้วยรถโดยสารประจำทาง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรือรถเมล์ นอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาและไม่ทำให้เสียอารมณ์เพราะรถติดอีกด้วย หากกำลังมองหารถยนต์สักคันเพราะอยากจะขับไปทำงานทุกวัน อยากให้คิดก่อนว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน มันถึงเวลาแล้วหรือยัง สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงเสมอของการซื้อรถยนต์ คือ มูลค่าของรถยนต์จะลดลงในทุก ๆ ปีหลังจากที่ซื้อมา ต่างกับมูลค่าของบ้านที่จะเพิ่มมากขึ้นและยิ่งหากอยู่ในทำเลที่ดี ก็จะช่วยเพิ่มราคาของบ้านมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากต้องการใช้รถยนต์ส่วนตัวยังไม่มีความจำเป็น ก็ควรจะรอไปก่อนจนกว่าจะพร้อมหรือมีเงินเหลือเก็บมากกว่านี้ อย่างที่ห้า การเก็บเงินออมแยกกระปุก นอกจากการออมเงินโดยการตัดเข้าบัญชีอื่น ๆ โดยอัตโนมัติแล้ว การเก็บเงินออมใส่กระปุกก็เป็นหนึ่งวิธีที่คลาสสิกและได้ผลทุกครั้ง แน่นอนว่าชีวิตคนเรามีมากกว่าการทำงานและอยู่บ้าน การท่องเที่ยวหรือแสวงหาประสบการณ์อื่น ๆ ในชีวิตก็มีความสำคัญเช่นกัน ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ โดยการออมเงินไว้ใส่ในกระปุกและเขียนกำกับไว้ว่าเพื่อจุดประสงค์อะไร อาทิเช่น กระปุกแรกสำหรับการท่องเที่ยวทั่วยุโรป และอีกกระปุกหนึ่งสำหรับการเข้าคอร์สเรียนทำอาหาร เป็นต้น
และสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้สำหรับการออมเงินคือ การเก็บเหรียญหยอดกระปุก แม้จะเป็นเพียงเศษสตางค์ที่ดูน้อยนิด แต่หากรวมกันแล้วก็จะมีมูลค่ามากมายเช่นกัน เชื่อว่าในแต่ละวันทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้จ่าย ก็จะได้เงินทอนที่เป็นเหรียญและธนบัตรสลันกันไป อย่าลืมที่จะหยอดเหรียญใส่กระปุกทุกครั้งที่กลับบ้าน ทุกอย่างจะเป็นไปได้หากมีความอดทนและมีสติทุกครั้งก่อนการใช้จ่าย การวางแผนที่ดีจะทำให้ถึงจุดมุ่งหมายด้วยรอยยิ้มและความภาคภูมิใจ “DO NOT SAVE WHAT IS LEFT AFTER SPENDING, BUT SPEND WHAT IS LEFT AFTER SAVING.” CR. Warren Buffet ผู้เขียน : สุนิษา ค๊าสตารี iPrice Source : ipricethailand.com

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพิ่ง เริ่มงาน จะเก็บออมและลดค่าใช้จ่ายอย่างไรดี ?