จับตาดู โคราช เมือง "startup" ของภาคอีสาน
จากบทความก่อนหน้า “ทำไมโคราชถึงน่าลงทุน” ที่ TerraBKK Research ได้นำเสนอไปเมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2557 ซึ่งในขณะนี้ก็ผ่านเวลามากว่า 2 ปีแล้ว ความน่าดึงดูดของเมืองโคราชนั้นก็ยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาจากภาครัฐและการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งเมืองนครราชสีมาหรือเมืองโคราชมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง TerraBKK Research จึงได้นำข้อมูลมาอัพเดทให้ติดตามกันดังต่อไปนี้
1. ปัจจัยที่ทำให้โคราช เป็นเมืองน่าพัฒนาของอีสาน จำนวนประชากรสูงที่สุดรองจากกรุงเทพฯและปริมณฑล จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน และหากไม่นับรวมจังหวัดกรุงเทพฯและปริมณฑล นครราชสีมาจะเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศอีกด้วย โดยจากการเปรียบเทียบการเติบโตของประชากรนับย้อนไป 10 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2558 พบว่า อัตราการเติบโตของประชากรในจังหวัดนครราชสีมา เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 0.79 และจำนวนครัวเรือนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.78 เลยทีเดียว ซึ่งอัตราการเติบโตมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และจังหวัดนครราชสีมามีขนาดเนื้อที่ทั้งหมด 20,494 ตารางกิโลเมตร หากคิดความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่จังหวัดแล้ว ในปี 2558 ประชากรจำนวน 2,628,818 คน จะมีความหนาแน่นประมาณ 128 คนต่อตารางกิโลเมตร
เมืองเปลี่ยนถ่ายการเดินทางของอีสาน จากการเก็บสถิติผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทางบอกของกรมการขนส่งมวลชน พบว่าจังหวัดนครราชสีมามีจำนวนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะสูงถึง 90,576 คนต่อวันเลยทีเดียว ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากจังหวัีดนครราชสีมา คล้ายเป็นรอยต่อระหว่างภาคอีสานและกรุงเทพฯ อีกทั้งความเจริญของเมืองโคราช ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน ยังเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดแหล่งงานและแรงงานจำนวนมากให้เข้ามาในพื้นที่ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางหนาแน่นนั่นเอง
2. เมกะโปรเจคจากภาครัฐ หนุนการพัฒนาจังหวัดศักยภาพ นับว่าเมืองโคราชนั้นเนื้อหอมพอสมควร เมื่อมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัดต่างประดาประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักแล้วจะเน้นการพัฒนาในด้านการคมนาคมและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางต่างๆ ซึ่งเส้นทางโคราชเป็นทางผ่านที่สำคัญระหว่างกรุงเทพฯ และภาคอีสาน ลำเลียงการเงินและหล่อเลี้ยงภาคธุรกิจที่สำคัญหลายด้านในประเทศ ซึ่งในขณะนี้ก็มีทั้งโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่และโครงการที่จะมีการพัฒนาในอนาคต
- โครงการรถไฟรางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (รถไฟความเร็วปานกลาง) - เส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด เป็นรถไฟความเร็วระดับปานกลาง ซึ่งเส้นทางที่ผ่านเมืองโคราชนั้นอยู่ในช่วงการก่อสร้างเฟสแรกซึ่งแบ่งออกได้อีก 2 ช่วง คือ ช่วงเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา
- โครงการรถไฟรางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1 เมตร - หรือเส้นทางจิระ-ขอนแก่น โดยจะเป็นเส้นทางคู่ขนานรางรถไฟเส้นทางเดิม ก่อสร้างเป็นทางขนาด 1 เมตร และมีการออกแบบระบบกั้นทางแยกเขตรถไฟอย่างชัดเจน
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (โคราช-บางปะอิน) - มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา เป็นโครงการที่มีข่าวในเรื่องการดำเนินการมาสักระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มมีการทยอยดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วในปีนี้
- โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา - โครงการที่เป็นที่ฮือฮาและถือเป็นความหวังของชาวโคราช โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษารูปแบบความเหมาะสมในการก่อสร้างเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับพฤติกรรมกา้รใช้งานระบบขนส่งมวลชนของเมืองโคราชมากที่สุด
- โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 - โครงการขยายเส้นทางเป็น 4 ช่องจราจร ปักธงชัย-กบินทร์บุรี ช่วงอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นเส้นทางที่เชื่อมหัวเมืองอีสานอย่างโคราชสู่เมืองชายฝั่งทะเล
- โครงการเปิดเส้นทางบินพาณิชย์ ท่าอากาศยานนครราชสีมา (หนองเต็ง) - เป็นเส้นทางสายการบินรองที่เชื่อมระหว่างเมืองหลวงสู่หัวเมืองของภาคต่างๆ โดยมีสายการบินที่เปิดให้บริการแล้ว 2 สายการบิน คือ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์และกลุ่มพัทยาเอวิเอชั่น
- โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมการบิน - เป็นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมา ทั้งในด้านศูนย์ซ่อมและบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะยกระดับให้เมืองโคราชเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของพื้นที่เอเชียแปซิฟิกในอนาคต โดยปัจจุบันได้ลงนามให้บริษัท สแกนดิเนเวียน แอร์คราฟท์ เมนเทนแนนซ์ (ไลยแลนด์) จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนไทยและนอร์เวย์ เป็นผู้ดำเนินการหลัก
- โครงการขยายถนนเลียบคลองชลประทาน (สุรนารี) - เป็นโครงการระบายรถจากภายในเมืองสู่บริเวณนอกเมืองหรือทางเลี่ยงเมืองนั่นเอง เพื่อลดปริมาณการจราจรภายในเมือง โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร
- โครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี - เพื่อยกระดับให้เกิดโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ของเมืองไทยและเป็นศูนย์กลางบริการสาธารณสุขของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท รองรับผู้ป่วยมากกว่า 1,000 เตียง
- โครงการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาราชนคราชสีมา - มูลค่าโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท โดยก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. หนุนเสริมศักยภาพด้วยการลงทุนจากภาคเอกชน โคราชเป็นอีกเมืองที่เป็นจุดศูนย์รวมของเม็ดเงินลงทุนมหาศาลทั้งจากภาคเอกชนรายใหญ่และรายย่อย ด้วยความที่พื้นที่เมืองโคราชมีศักยภาพในด้านท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว (ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย) ได้มากกว่า 7 ล้านคนในปี 2558 และมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยกว่า 11% (ปี 2554-2555) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหัวเมืองท่องเที่ยวอื่นๆในระดับจังหวัด เ่ช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือขอนแก่นแล้ว ถือว่าจังหวัดนครราชสีมาหรือเมืองโคราชนั้น มีการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดและมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไม่แพ้กับภูเก็ตเลยทีเดียว
แน่นอนว่าเมื่อเกิดการรวมตัวของคน ย่อมต้องดึงดูดให้เกิดจำนวนเม็ดเงินอีกมาก นักลงทุนทั้งเจ้าใหญ่เจ้าย่อยก็ไม่ได้ละเลยปล่อยโอกาสตรงนี้ให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้การลงทุนในเมืองโคราชนั้นคึกคักมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดย TerraBKK Research จะมาอัพเดทกันว่ามีโครงการใดบ้างที่อยู่ในเมืองโคราชในขณะนี้
- The Mall Korat - ถึงแม้จะเปิดให้บริการมานานแล้วแต่ท่ามกลางกระแสการลงทุนรอบด้าน ทำให้เดอะมอลล์กรุ๊ปก็ไม่ได้นิ่งดูดาย ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้าน เพิ่มเนื้อที่กว่า 350,000 ตารางเมตร ขยายพื้นที่จากเดิม 52 ไร่ เป็น 80 ไร่ และเพิ่มโซนเครื่องเล่นในโซนกรูเม่ต์มาร์เก็ต สวนน่ำแฟนตาเซียลากูรด้วยงบประมาณกว่า 50 ล้าน โดยตั้งใจจะยกระดับให้เป็น “พารากอนอีสาน”
- TERMINAL21 - ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 โคราช มูลค่าโครงการสูงกว่า 6,0000 ล้านบาท เนื้อที่ 32 ไร่ พื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร เพิ่มแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้เมืองโคราชด้วยหอคอยชมเมืองสูง 110 เมตร โดยสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยและเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน
- Central Plaza - ศูนย์การค้าที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดและมีพื้นที่มากที่สุดในต่างจังหวัด มูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท บนที่ดินกว่า 65 ไร่ พื้นที่โครงการกว่า 355,000 ตารางเมตร เพื่อให้เป็น “มหานครแห่งอีสาน” โดยเซ็นทรัลพลาซ่าโคราช เป็นโครงการ Mixed-Use ที่ใหญ่ที่สุดของอีกสาน ประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า, โรงแรม, คอนเวนชั่นฮออล์, คอนโดมีเนียม, ตลาดไลฟ์, สไตล์เอาท์ดอร์ และสวนสาธารณะ
- คลังพลาซ่า - ศูนย์การค้าจากภาคเอกชนท้องถิ่นที่ไม่หวั่นต่อเจ้าใหญ่ที่ได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยได้ทุ่มกว่าเงินกว่า 600 ล้านบาท สร้าง “คลังสเตชั่น” แลนด์มาร์คด้านการช๊อปปิ้งแห่งใหม่ของชาวโคราช บนที่ดิน 17 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 4 โซนคือ โซนคลังเพลิน, โซนคลังสเตชั่น, โซนคลังมาร์เก็ต และโซนแบ็คยาร์ด
- i-Square Shopping Mall - โครงการคอมมูนิตี้มอลล์น้องใหม่ของโคราชกึ่งพื้นที่ธุรกิจ บนพื้นที่ 6 ไร่ รองรับที่จอดรถ 200 คัน
- FOODLAND - โครงการในต่างจังหวัดแห่งที่สองของฟู้ดแลนด์ โดยที่แรกได้เปิดสาขาที่พัทยา ฟู้ดแลนด์โคราชมีมูลค่าโครงการ 200 ล้านบาท มีพื้นที่ถึง 3,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ภายในห้าง Terminal21
- โรงแรมแคนทารี - โรงแรมในเครือ “เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทล” ที่มีจำนวนกว่า 20 แ่หงทั่วประเทศไทย โดยโรงแรมแคนทารีโคราชอยู่ในกลุ่ม “แคนทารีคอลเล็คชั่น (KANTARY COLLECTION)” เป็นอาคารสูง 21 ชั้น ขนาด 300 ห้อง บนพื้นที่ 5 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท
- โรงเรียนนานาชาติแองโกล สิงคโปร์ - โรงเรียนนานาชาติแองโกล สิงคโปร์ ได้ลงนามความร่วมมือกับคลังคาซ่า ในการก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกในเมืองโคราช บนพื้นที่กว่า 11 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 400 ล้านบาท เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่6
นครราชสีมา เป็นจังหวัดทำเลทองในด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ ทั้งเชิงการท่องเที่ยว การอยู่อาศัย การค้าและบริการ ซึ่งทั้งในบทความก่อนหน้ารวมถึงบทความนี้ TerraBKK Research ก็ยังคงยืนยันว่าเมืองโคราชเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมากอีกเมืองหนึ่ง อีกทั้งยังมีแนวโน้มของการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย -- เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก