เชื่อหรือไม่ว่า มีเพียง 50 % ของธุรกิจเริ่มต้นใหม่ หรือ “Startup” เท่านั้น ที่จะข้ามหุบเหวมรณะของการทำธุรกิจในช่วง 5 ปีแรก ส่วนอีก 50 % จะต้องปิดตัว พูดง่าย ก็คือ เจ๊ง หรือ ไปไม่รอด นั่นเอง และเมื่อผ่านไปสิบปี จะมีเพียงไม่เกิน 30% หรือ 1 ใน 3 เท่านั้นที่อยู่รอด (ข้อมูลจาก Small Business Admintration: SBA) เว็บไซต์ thinkbusinessplan.com ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจเหล่านั้น ต้องล้มหายตายจากไป..… 1. มองโลกสวย หรือ เล็งผลเลิศเกินไป (Beautiful world or too much optimistic)
ธรรมชาติของผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่ขาดประสบการณ์ เวลาจะทำให้อะไร มักจะเล็งผลเลิศ มองเห็นแต่โอกาส คิดว่าตนเองเก่งกาจ และอะไรๆ ก็ดูง่ายดายไปหมด…….. การคิดในลักษณะนั้น ถือได้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไร” (The beginning of the end) เนื่องจากการมองเห็นแต่โอกาส แต่มองข้ามอุปสรรค เห็นแต่จุดแข็งของตนเอง แต่มองไม่เห็นจุดอ่อนของตนเอง….เมื่ออุปสรรคจริงๆ เกิดขึ้น หรือ ความผิดพลาด หรือ ปัญหาที่เกิดจากจุดอ่อนปรากฏ…ยิ่งเป็นอุปสรรคซึ่งยากที่จะแก้ไข หรือเป็นปัญหาร้ายแรงที่ยากจะบรรเทา ธุรกิจก็มีอันจะต้องสิ้นสุดไป เพราะการมองโลกสวย หรือ เล็งผลเลิศเกินไปนั่นเอง 2. ขาดการวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ การทำธุรกิจนั้น มีหลายสิ่ง หลายอย่าง หลายเรื่องราว ที่จะต้องคิด จะต้องวิเคราะห์ ซึ่งทุกสิ่ง ทุกอย่างในธุรกิจนั้น มีความเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อาทิเช่น ทุกอย่างอาจจะเริ่มต้นที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ไปสู่การกำหนดสิ่งที่เราต้องการจะบรรลุ หรือ ไปให้ถึง กลยุทธ์ในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน กลยุทธ์ระดับหน้าที่ต่างๆ ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ จะนำไปสู่การกำหนดกิจกรรม ที่จะนำไปสู่การวางแผนทางด้านการเงิน …หากในขั้นต้น สามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างชัดเจน เป็นระบบ โอกาสที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้า และประสบความสำเร็จ ก็จะมีโอกาสสูง ในทางตรงกันข้าม หากขาดวางแผนธุรกิจ หรือ คิดไม่เป็นระบบ ขาดการมองภาพใหญ่ และการค้นหาความเสี่ยงต่างๆ โอกาสที่จะทำให้ธุรกิจล้มเหลวก็จะสูง 3. บริหารจัดการไม่เป็น การบริหารจัดการถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องมีภาวะผู้นำในระดับที่เพียงพอที่จะนำทีมงานฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง…จะต้องรู้จักการบริหารคน บริหารเงิน บริหารทรัพยากร หากขาดซึ่งภาวะผู้นำ และ ขาดซึ่งทักษะในการบริหารคน บริหารเงิน และบริหารทรัพยากรทางธุรกิจอื่นๆ ก็ยากที่จะนำพานาวาแห่งธุรกิจให้รอดพ้นจากทะเลธุรกิจได้โดยง่ายอย่างแน่นอน 4. ขาดเงินทุน เงินทุนในการทำธุรกิจ เปรียบได้ดังโลหิต หรือ เลือด ที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายมนุษย์ หากร่างกายมนุษย์ขาดเลือด โอกาสที่จะมีชีวิตรอดอยู่ต่อไป ก็ไม่มี…ในทำนองเดียวกัน หากธุรกิจเงินทุน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะหล่อเลี้ยงกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อสร้างสรรค์ สินค้า และ/หรือ บริการ แล้วส่งมอบสินค้า และ/หรือ บริการนั้นสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เกิดการขาดแคลน หรือ ไม่เพียงพอ…กระบวนการทางธุรกิจต่างๆ นานา ก็จะหยุดชะงัก…นำมาซึ่งความเสียหายให้แก่ธุรกิจ และท้ายที่สุด ธุรกิจก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ 5. ทะเลาะกับหุ้นส่วน ในการทำธุรกิจนั้น จะมีปัญหา และอุปสรรค หลั่งไหลเข้ามา ไม่เรื่องนี้ ก็เรื่องโน้น อยู่ตลอดเวลา หากหุ้นส่วน หรือ พันธมิตรทางธุรกิจ ไม่เข้าใจ และไม่รับรู้ ถึงปัญหาดังกล่าว ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น….เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น หากไม่พูดจากันด้วยเหตุผล…ก็จะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง หากไม่สามารถตกลงกัน หรือ ยอมรับปัญหาร่วมกันได้….การแยกย้าย ก็จะเกิดขึ้น….และไปสู่การสิ้นสุดของธุรกิจในที่สุด 6. โตเร็วเกินไป การที่ธุรกิจเติบโตนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ดี…แต่ในความเป็นจริงแล้ว การโตเร็วเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสีย หรือ สร้างความล่มสลายให้กับธุรกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น มีรับ Order ลูกค้ามากเกินไป แต่ไม่สามารถผลิตได้ทัน เนื่องจากกำลังการผลิตไม่สอดคล้องกับปริมาณ Order หรือ ต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก ที่จะต้องสั่งซื้อมารองรับการผลิตตาม Order ที่ได้รับ หรือ กระบวนการภายในของธุรกิจ เช่น การบริการ และหลังการขาย ไม่สามารถให้บริการได้ทัน ส่งผลให้สูญเสียลูกค้า หากเกินเหตุการณ์เหล่านี้บ่อย ย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจ 7. ไม่รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ปัจจุบัน เทคโนโลยีในด้านต่างๆ มีความก้าวหน้าไปมาก ในขณะที่ต้นทุนในการให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ กลับมาราคาถูกลง นอกจากนั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ อาทิเช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ นั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการต่างๆ ในธุรกิจได้อย่างหลากหลาย ส่งผลให้ต้นทุนในการสร้างคุณค่า ในรูป สินค้า และ/หรือ บริการถูกลง แต่คุณภาพคงเดิม อย่างไรก็ตามหากธุรกิจใดไม่รู้จักประยุกตใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทางธุรกิจ ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เมื่อความสามารถในการแข่งขันลดลง ความสามารถในการอยู่รอดก็ลดลง 8. ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ในอุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรม จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในทุกๆ 5 หรือ 10 ปี การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอก อาทิเช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย พฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้หมายจะส่งผลกระทบต่อการใช้ หรือ ไม่ใช้ สินค้า และ/หรือ บริการ ของธุรกิจหนึ่ง ธุรกิจที่ไม่ติดตาม และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน…และสิ้นสุดวงจรชีวิตธุรกิจไปในที่สุด หากต้องการเริ่มต้นธุรกิจแล้ว หรือ แม้แต่ธุรกิจที่ดำเนินการมาแล้ว ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ก็จำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงหลุมพราง ทั้ง 8 ประการให้ได้ SOURCE : ดร.อรรถสิทธิ์ หัสถีธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์, Infopreneur และ Strategy Pirate : www.thinkbusinessplan.com


หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก : 8 หลุมพรางแห่งความล้มเหลวของการทำ ธุรกิจ