บอกลา 7 เมนูฮิต สงกรานต์ ซ่อนโรค
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนส่วนใหญ่ มักจะออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งจับจ่ายซื้อสินค้า ทั้งอาหารสด อาหารแห้งและอาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำมาทำอาหารรับประทานร่วมกัน
เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่แฝงมากับอาหารช่วงหน้าร้อน ทีมเว็บไซต์ สสส. มีเคล็ดลับการเลือกบริโภคอาหารและน้ำดื่ม เพื่อไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในหน้าร้อนมาฝากกัน
“นายสง่า ดามาพงษ์” ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกูรูด้านโภชนาการ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การรับประทานอาหารหน้าร้อนมีสิ่งที่ต้องระวังทั้งเรื่องอาหารและน้ำดื่ม เพราะเป็นสื่อพาหะเกิดการเจ็บป่วยได้ เนื่องจากฤดูร้อนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ส่งผลให้อาหารเกิดการบูดเน่าเสียได้ง่าย โดยมีการผลิตสารท็อกซินออกมา ส่งผลต่อการเจ็บป่วยของร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคบิด โรคท้องร่วง และอหิวาตกโรค เป็นต้น
ดังนั้นจึงขอเตือนผู้บริโภคในการตระหนักถึงความสะอาดและการเลือกรับประทานอาหาร สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยง ที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 7 เมนู ได้แก่
1. อาหารประเภทกะทิ เช่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด ขนมพวกกะทิ ซึ่งเป็นอาหารที่ง่ายต่อการบูดเสีย เชื้อจุลินทรีย์ชอบ ดังนั้น ต้องมั่นใจว่าเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ ถ้ากินไม่หมดต้องนำเข้าตู้เย็นแล้วนำมาอุ่น ทางที่ดีควรรับประทานให้หมดภายในมื้อเดียว ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารประเภทกะทิที่ไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือไม่ โดยเฉพาะอาหารแผงลอย ริมทางก็น่าจะลดความเสี่ยงได้มากทีเดียว
2. อาหารประเภทยำที่มีเนื้อต่างๆ ทั้งหมู ไก่ ปลา อาหารทะเล รวมถึงส้มตำ สำหรับอาหารยำ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีลวก แต่ลวกไม่สุกทำให้เชื้อโรคไม่ตาย หากรับประทานเข้าไปเชื้อโรคก็อาจเข้าไปขยายพิษในร่างกาย ส่วนส้มตำน่าจะเป็นอาหารไทยที่ทำให้คนท้องเดินมากที่สุด ทั้งปลาร้าที่ไม่ผ่านการต้มสุก ปูดองดิบๆ ที่เชื้อจุลินทรีย์ซ่อนอยู่ในขาปูที่เราชอบดูด รวมทั้งถั่วลิสงป่นที่มีเชื้อราอะฟลาทอกซิน กุ้งแห้งใส่สีที่ไม่ได้ล้าง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว มะละกอไม่ได้ล้างน้ำ ครกที่มีแมงลงวันตอม ซึ่งที่กล่าวมานี้ไม่ใช่กินไม่ได้ แต่ขอให้เราใส่ใจเลือกแค่นั้นก็ปลอดภัยแล้ว 3. ขนมจีน มีความเสี่ยง ทั้งจากเส้นขนมจีน น้ำยากะทิ และผักสดที่ไม่ล้างหรือล้างไม่สะอาด เนื่องจากทั้งเส้นขนมจีนและกะทินั้นบูดง่ายมาก ส่วนผักไม่ว่าจะผักสด ผักดอง ก็ล้วนต้องระมัดระวัง 4. อาหารทะเล จะบูดเน่าง่ายในหน้าร้อน ก่อนกินต้องทำให้สุกทุกครั้ง โดยเฉพาะยำหอยแครง ปลาหมึก5. อาหารค้างคืน หรืออาหารที่เหลือจากมื้ออื่น ต้องมั่นใจว่าไม่บูดเสียและมีการอุ่นให้ได้ที่ ทางที่ดีควรกินอาหารปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง
6. อาหารที่มีแมลงวันตอม สักเกตได้ง่ายนิดเดียว โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จที่วางขายในภาชนะที่ไม่มีฝาและสิ่งใดปกปิด ที่สำคัญคงไม่ใช่แค่แมลงวันที่ไปตอม แต่พวกฝุ่นละออง เชื้อโรค ก็ร่วงหล่นลงไปในอาหารด้วย 7. น้ำดื่มและน้ำแข็ง ต้องมั่นใจว่าเป็นน้ำดื่มที่สะอาดได้มาตรฐาน อย. น้ำแข็งที่แช่ร่วมกับอาหารไม่ควรนำมารับประทาน เพราะเสี่ยงทำให้ท้องร่วงได้ ขณะเดียวกันน้ำที่ใส่เหยือกหรือกาทิ้งไว้ในภาชนะที่ไม่สะอาด ก็ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน
กูรูด้านโภชนาการ ฝากทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญของการบริโภคอาหารหน้าร้อนหรือไม่ว่าจะฤดูไหนก็ตาม คือ “กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ” สำคัญที่สุด โดย กินร้อน คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อรับประทานอาหารในหมู่มากร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร และหมั่นล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่ายและหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
หลักปฏิบัติง่ายๆ เพียงแค่นี้ เราก็สามารถลดความเสี่ยงจากโรคทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคท้องร่วงในช่วงหน้าร้อนนี้ได้แล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th