เรามักได้ยินคนเฒ่าคนแก่พูดถึงข้อห้ามมากมายเกี่ยวกับการกินและข้อควรปฏิบัติ เช่น คนที่ร้อนในง่ายห้ามกินของร้อน (คุณสมบัติหยาง) ของทอดๆ มันๆ ของเผ็ด เช่น

- กินทุเรียนแล้วห้ามกินเหล้า - กินทุเรียนแล้วควรกินมังคุดหรือกินน้ำเกลือตาม - กินลำไยมากระวังตาจะแฉะ - เวลาเริ่มเป็นหวัด เจ็บคอ ควรกินพวกยาขม - เวลาร้อนใน ให้กินน้ำจับเลี้ยง หรือกินน้ำเก๊กฮวย - หญิงปวดประจำเดือนห้ามกินของเย็น (ลักษณะยิน) เช่น แตงโม น้ำมะพร้าว - คนที่กินยาบำรุงจีน ห้ามกินผักกาดขาว หัวไชเท่า ฯลฯ เพราะจะล้างยา (ทำไมฤทธิ์ของยาน้อยลง) ฯลฯ

คำกล่าวเหล่านี้ก็มีในทัศนะทางการแพทย์แผนจีนมาจากพื้นฐานที่ว่า “อาหารคือยา อาหารและยามีแหล่งที่มาเดียวกัน” การเลือกกินอาหารให้เหมาะสมเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องประยุกต์เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับภาวะที่เป็นจริงของบุคคล เงื่อนไขของเวลา และสภาพภูมิประเทศ (สิ่งแวดล้อม) จึงจะเกิดผลที่ดีต่อสุขภาพ

ในแง่ของคนไข้ การเลือกกินอาหารให้เหมาะสม จะทำให้โรคร้ายทุเลาลง ช่วยเสริมการรักษาและฟื้นฟูร่างกาย ในทางกลับกันการเลือกอาหารไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ย่อมทำให้โรคร้ายรุนแรง กำเริบและบั่นทอนสุขภาพมากขึ้น

อาหารแสลงหรืออาการต้องห้าม ในความหมายที่กว้าง หมายถึง

๑. การกินอาหารที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็เกิดโทษ ๒. การกินอาหารชนิดเดียวกัน ซ้ำซาก ก็เกิดโทษ ๓. การกินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับภาวะร่างกายในยามปกติ (ลักษณะธาตุของแต่ละบุคคล) ๔. การกินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับภาวะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือในขณะที่เป็นโรค ๕. การกินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับยาสมุนไพรที่ใช้รักษาในขณะเป็นโรค

การกินอาหารมากไป หรือน้อยไป และการกินอาหารชนิดเดียวกันอย่างซ้ำซากได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อน ที่จะกล่าวต่อไป คือ หลักการหลีกเลี่ยงอาหารในขณะเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคต่างๆ หรือภายหลังการฟื้นจากการเจ็บป่วย

อาหารกับโรค

๑. คนที่เป็นไข้หวัด ไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก อาหารที่เย็นมาก หรืออาหารทอด อาหารมัน ซึ่งล้วนแต่ทำให้ย่อยยาก ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสะสม เปรียบเสมือน “อาหารเชื้อเพลิง” หรือการเติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟ ๒. คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล หรือระบบการย่อยไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ชาแก่ กาแฟ ของเผ็ด ของทอด ของมัน เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมความร้อนในร่างกายทำให้โรคหายยาก แนะนำให้กินอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง กินอาหารตามเวลา และเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย ๓. คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาหลอดเลือดแข็งตัว (ตามภาวะความเสื่อมของร่างกาย) ทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น ควรหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น หมูสามชั้น ตับ สมอง ถั่ว น้ำมันหมู ไขกระดูก ไข่ปลา โกโก้ น้ำมันเนย รวมทั้งเหล้า เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้เกิดความร้อนชื้นสะสมในร่างกาย(ความชื้นมีผลให้เกิดความหนืดของการไหลเวียนต่อร่างกายทุกระบบ ความร้อนทำให้ภาวะร่างกายถูกกระตุ้น ทำให้ความดันสูง) นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด (ฤทธิ์กระตุ้น) หรืออาหารหวานมาก เช่น ลำไย ขนุน ทุเรียน ฯลฯ (คุณสมบัติร้อน) เราคงได้ยินบ่อยๆว่า มีคนที่เป็นโรคความดันสูง แล้วไปกินทุเรียนร่วมกับเหล้า แล้วหมดสติ เสียชีวิต จากภาวะเส้นเลือดในสมองแตกก็สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ๔. คนที่เป็นโรคตับหรือโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาหารมัน เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทอดๆ มันๆ อาหารหวานจัด เพราะแผนแพทย์จีนถือว่าตับ ถุงน้ำดี มีความสัมพันธ์กับระบบย่อยอาหาร ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของการรับสารอาหารเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย ให้เกิดเลือด พลัง การได้อาหารประเภทดังกล่าวมากเกินไปจะทำให้เกิดความร้อนความชื้น ทำให้สมรรถภาพของการย่อยอาหารอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้เกิดโทษต่อตับและถุงน้ำดีอีกต่อหนึ่ง ๕. คนที่เป็นโรคหัวใจ โรคไต หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด เพราะรสเค็มทำให้มีการเก็บกักน้ำ การไหลเวียนเลือดจะช้า เป็นภาระต่อหัวใจในการทำงานหนักเพิ่มขึ้น ทำให้ไตต้องทำงานขับเกลือแร่มากขึ้น ขณะเดียวกัน อาหารที่มีรสเผ็ดก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนทำให้ต้องสูญพลังงานมาก และหัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น โดยสรุปคือ ต้องลดการทำงานของหัวใจและไต โดยไม่เพิ่มปัจจัยต่างๆที่เป็นโทษเข้าไป ๖. คนที่เป็นโรคเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน หรืออาหารประเภทแป้งที่มีแคลอรีสูง เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ฯลฯ แนะนำอาหารพวกถั่ว เช่น เต้าหู้ นมวัว เนื้อสันไม่ติดมัน ปลา ผักสด ฯลฯ ๗. คนที่นอนหลับไม่สนิท ควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกชา กาแฟ หรือการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน เพราอาหารเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้ไม่ง่วงนอน หรือทำให้หลับไม่สนิท ๘. คนที่เป็นโรคริดสีดวงทวารหรือท้องผูก ต้องหลีกเลี่ยงอาหารประเภท กระเทียม หอม ขิงสด พริกไทย พริก ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้มีความร้อนในตัวสะสมมาก ทำให้ท้องผูก ทำให้เส้นเลือดแตกและอาการริดสีดวงทวารกำเริบ ๙. คนที่มีอาการลมพิษ ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นโรคหอบหืด ควรเลี่ยงเนื้อแพะ เนื้อปลา กุ้ง หอย ปู ไข่ ผลิตภัณฑ์นมหรือสิ่งกระตุ้นอื่นๆ รวมทั้งรสเผ็ด เพราะสารเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นและทำให้มีอาการผื่น ผิวหนังกำเริบ ๑๐. คนที่เป็นสิว หรือมีการอักเสบของต่อมไขมัน ควรงดอาหารเผ็ดและอาหารมัน เพราะทำให้สะสมความร้อนชื้นของกระเพาะอาหาร ม้าม มีผลต่อความร้อนชื้นไปอุดตันพลังของปอด (ควบคุมผิวหนัง ขนตามร่างกาย) ทำให้เกิดสิว

หลักการทั่วไป ต้องหลีกเลี่ยงอาหารดิบๆ สุกๆ มีคุณสมบัติที่เย็นมาก ขณะเดียวกันอาหารที่ผ่านกระบวนการมาก อาหารที่ย่อยยาก อาหารทอดมันๆ อาหารรสเผ็ดจัด เหล้า บุหรี่ ฯลฯ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงภาวะเจ็บป่วยหรือขณะพักฟื้น เป็นภาวะระบบการย่อยดูดซึม (กระเพาะอาหารและม้าม) ทำงานไม่ดี การได้อาหารที่เย็นหรือย่อยยากจะทำให้การย่อย การดูดซึมมีปัญหามากขึ้น ทำให้ขาดสารอาหารมาบำรุงเลี้ยงร่างกาย และต้องสูญเสียพลังเพิ่มขึ้นในการทำงานของระบบย่อย อาหารเผ็ด เหล้า และบุหรี่ มีฤทธิ์กระตุ้นและเพิ่มความร้อนในร่างกายทำให้มีการใช้พลังงานมากโดยไม่จำเป็น

อาหารแสลงในทัศนะแพทย์แผนจีน คือ อาหารที่ไม่เย็น (ยิน) หรืออาหารที่ไม่ร้อน (หยาง) จนเกินไป กล่าวคือต้องไม่ดิบ (ต้องทำให้สุก) และต้องไม่ผ่านกระบวนการที่ทำให้เกิดคุณสมบัติร้อนมากเกินไป (ทอด ย่าง ปิ้ง เจียว ผัด) เพราะสุดขั้วทั้งสองด้านก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย

อาหารดิบ ไม่สุก :

ทำให้ระบบย่อยทำงานหนัก ทำให้เสียสมรรถภาพการย่อยดูดซึมอาหารตกค้าง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด ขาดสารอาหาร

อาหารร้อนเกินไป :

ทำให้ระบบย่อยทำงานหนัก มีความร้อนความชื้นสะสม เกิดความร้อนใน ร่างกายมากเกินไป ไปกระทบกระเทือนอวัยวะอื่นๆ เช่น กระทบปอด ลำไส้ ทำให้ท้องผูก เจ็บคอ ปากเป็นแผล กระทบตับ ทำให้ความดันสูง ตาแฉะ อารมณ์หงุดหงิด กระทบไต ทำให้ปวดเมื่อยเอว ผมร่วง ฯลฯ

อาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด

จะได้สารและพลังจากธรรมชาติมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ความเห็นในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แนะนำให้กินผักสด ผลไม้สด ซึ่งไม่น่าขัดแย้งกัน เพราะเทคนิคการทำอาหารของจีน ต้องไม่ให้ดิบ และสุกเกินไป เพื่อดูดซับสารและพลังจากธรรมชาติให้มากที่สุด ดิบเกินไปจะทำให้เกิดพิษจากอาหาร สุกเกินไปทำให้เสียคุณค่าอาหารทางธรรมชาติ การเลือกกินอาหารที่ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนและมีการปรุงแต่งที่มากเกินไปจะทำให้อาหารฮ่องเต้กลายเป็นอาหารชั้นเลวในแง่หลักโภชนาการ

การเลือกอาหารให้สอดคล้องเหมาะสม ไม่ใช่สูตรตายตัว แต่ต้องยืดหยุ่นพลิกแพลง และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นจริงของแต่ละบุคคล เวลา (เช่น ภาวะปกติ ภาวะป่วยไข้ กลางวัน กลางคืน ฤดูกาล) และสถานที่ (ภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม) เพื่อให้เป็นธรรมชาติและยังประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ

ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน