5 จังหวะดนตรี ส่งผลต่อการทำงานของเราอย่างไร
หากกล่าวถึงเสียงเพลงกับการทำงาน บางครั้งภาพด้านความบันเทิงและท่วงทำนองของดนตรีที่สวยงามอาจจะดูไม่เข้ากับการทำงานที่ดูเป็นเรื่องที่จริงจัง ทว่าจากการศึกษาของ ไมนด์แล็บ อินเตอร์เนชันแนล (Mindlab International) เมโลดี้ที่เรียงร้อยผ่านตัวโน๊ตกลับส่งผลต่อการทำงานทางอ้อมชนิดที่เราคาดไม่ถึงกันด้วย เพราะจากการศึกษาบุคลิกของคนที่ชื่นชอบการฟังเพลงในเวลาทำงานนั้น สามารถแบ่งกลุ่มดนตรีออกได้เป็น 5 กลุ่มดนตรีที่แตกต่างกัน และส่งผลไปสู่การทำงานได้อย่างน่าประหลาดใจ มาเปิดแผ่นเสียงเริ่มบรรเลงท่วงทำนองกันเลย …
เสียงเบสทุ้มๆ เพิ่มพลังการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
จากงานวิจัยพบว่า เพลงที่มีเสียงเบสเป็นเสียงหลักในการเดินเรื่องราวของทำนองและมีจังหวะที่หนักแน่นของเครื่องดนตรีชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นให้คุณมีพลังระหว่างการทำงาน และสร้างอารมณ์ที่สนุกโดยเฉพาะงานด้านความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับคำแนะนำว่า ดนตรีที่มีเสียงเบสหนักๆ ควรฟังก่อนเริ่มต้นการประชุมเพื่อสร้างความมั่นใจและความฮึกเหิม แต่ข้อเสียของเสียงเบสหนักๆ ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเสียสมาธิ และทำให้เกิดความ ไม่รอบคอบในการทำงานเกิดขึ้น
เพลงบรรเลงที่ใช้เพลงเมโลดี้เรียบๆ และไม่มีเนื้อเพลง
เพลงบรรเลงรูปแบบนี้ถูกค้นพบว่า จังหวะเพลงจะช่วยให้คนทำงานมีสมาธิ และเหมาะกับงานที่ต้องนั่งทำเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ต้องไม่มีความซับซ้อน เนื่องจากจังหวะเพลงมีเพียงเมโลดี้คอยขับกล่อมผ่านท่วงทำนองเรียบๆ ไม่มีเนื้อร้อง ซึ่งดนตรีในรูปแบบนี้ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกสงบมากขึ้น
ดนตรีคลาสสิคท่วงทำนองสวยงามความคลาสสิคของดนตรีชนิดนี้มีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อผลจากงานวิจัยพบว่า ดนตรีคลาสสิคนั้นจะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลายและทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง รวมถึงช่วยชะลอความดัน และลดความเครียดในการทำงาน ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ถูกทดลองนำไปใช้กับนักเรียนที่ต้องเผชิญกับความกดดันสูงอย่างนักเรียนพยาบาลเพื่อช่วยลดภาวะดังกล่าว นอกจากนี้แนวดนตรียังเหมาะกับงานที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก รวมถึงด้านการแพทย์ที่อาจช่วยลดความเครียดในช่วงปฏิบัติงานด้วย
เพลงบรรเลงของโมซาร์ต
อย่างที่รู้กันอยู่ว่า เนื่องจากตัวโน๊ตทางดนตรีจะไปช่วยกระตุ้นระบบภายในสมอง รวมถึงแนวดนตรีนี้จะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ดีขึ้น ซึ่งจากการทดลองกับกลุ่มนักเรียนหลายกลุ่ม โดยแบ่งเด็กที่ได้ฟังเพลงบรรเลงของโมซาร์ต กับกลุ่มอื่นพบว่า นักเรียนกลุ่มที่ฟังเพลงโมซาร์ตมีผลคะแนนที่ดีกว่านักเรียนกลุ่มที่ฟังเสียงอื่น รวมถึงเพลงชนิดนี้ยังก่อให้เกิดการขนานนามว่า “เดอะ โมซาร์ต เอฟเฟ็กต์” ที่ช่วยในเรื่องกระบวนการคิดและความจำได้ดีอีกด้วย
ดนตรีป็อป เร็วๆ ที่มีท่วงทำนองสนุก
นับเป็นแนวดนตรีที่ได้รับการเปิดเผยผลอย่างน่าตกใจจากการศึกษาของไมนด์แล็บเมื่อพบว่า การฟังเพลงป็อปที่มีท่วงทำนองสนุก ช่วยให้คนทำงานมีการรับข้อมูลดีขึ้นถึง 58% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฟังอะไรเลย รวมถึงการวิจัยยังพบข้อดีด้วยว่า การฟังดนตรีประเภทนี้ยังช่วยลดความผิดพลาดในแง่การสะกดคำได้ถึง 14% ด้วย
ทั้งนี้ จากการศึกษาก็จะเห็นข้อดีรวมถึงจุดเด่นของดนตรีในแต่ละท่วงทำนอง แต่สุดท้ายรสนิยมของคนชอบฟังเพลงก็นับว่ามีผลเช่นกัน และนี่ก็คือความรู้ดีๆ ที่เรานำมาฝากกัน และมันอาจจะไปช่วยในเรื่องการทำงานของคุณ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.smartsme.tv