ขีดฆ่าวันบนปฏิทิน นับเวลา รอแล้วรอเล่า เมื่อไหร่จะถึงทีเราได้เปียแชร์ซักที สำหรับคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับระบบเงินกู้แบบผองมิตร ในลักษณะหนึ่งที่เรียกจนชินปากกันว่า “แชร์” จะเข้าใจดีว่าวัฒนธรรมการแชร์นั้นอยู่คู่กับคนไทยมานาน

มาถึงยุคไทยแลนด์ 4.0 เราได้รู้จักอีกด้านของการแชร์ในคำว่า Sharing Economy ซึ่งเอาดีๆมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเล่นแชร์เลยซักกะนิด ไม่มีการเปีย ไม่มีขาบ๊วย ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องเพลียว่าจะโดนชิ่งหนี แต่มีผลิตผลเป็นเม็ดเงินที่งอกงามออกมาเช่นเดียวกัน

เมื่อมีอะไรก็เอามาแชร์ให้เกิดรายได้

Sharing Economy คือรูปแบบเศรษฐกิจที่ใครมีอะไรก็เอาออกมาแชร์ในรูปแบบการเช่า (อะไรก็ได้ที่ว่านี่หมายถึงทรัพย์สิน) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ การเกิดขึ้นของรูปแบบเศรษฐกิจนี้ เป็นผลพ่วงมาจากการที่คนเรามีอินเตอร์เน็ตในการเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น โดยมีแพลตฟอร์มอะไรซักอย่างเป็นตัวกลางในการเป็น market share (แหม มีคำว่าแชร์มาอีกแล้ว) การที่หยิบยกอะไรซักอย่างมาแบ่งปันกันแบบคิดเงินนี้ บางทีก็เรียกว่าเป็นตลาดการเช่าแบบ peer-to-peer

แชร์อะไรได้บ้างในโลกของ Sharing Economy

การที่ Sharing Economy จะบูมได้ขนาดนี้ ความจริงแล้วก็มีที่มาที่ไป เมื่อการเข้าถึงนั้นเป็นไปผ่านแพลตฟอร์ม ทำให้มันง่ายมากกว่าการทำธุรกิจแบบเมื่อก่อน ย้อนไปเมื่อปี 2008 สหายสามเกลอผู้ก่อตั้ง Airbnb ธุรกิจที่สามารถแบ่งปันห้องพักมาสร้างเป็นรายได้ ถือเป็นการเปิดตัวธุรกิจ Sharing Economy ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกเป็นเจ้าแรก แล้วในปีถัดมา Travis Kalanick ก็เปิดตัวธุรกิจที่คล้ายกัน แต่เปลี่ยนจากห้องพักมาเป็นรถ ในชื่อ Uber ที่ประสบความสำเร็จตามๆกันไป

รายได้ของ Uber ที่แซงหน้าธุรกิจรถเช่าทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

อย่างหลายคนที่ได้คลุกคลีกับแพลตฟอร์มธุรกิจแบบนี้จะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า Uber เป็นบริษัทรถแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่มีรถของตัวเองเลยซักคันเดียว หรือ Airbnb เป็นบริษัทที่รวมห้องพักมากที่สุดในโลก แต่ไม่มีห้องพักเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นเองในปี 2014 ที่สองบริษัทนี้เปิดตัวมาได้เพียงแค่ 4-5 ปี กลับฟันรายได้ไปถึง 10-18 พันล้านเหรียญสหรัฐ เลยทีเดียวเชียว

ฟังดูอาจไม่เป็นธรรมเท่าไร เพราะดูเหมือนเจ้าธุรกิจพวกนี้นั้นเข้ามาอาศัยช่องว่างทางการตลาดเพื่อหาผลประโยชน์ แต่ก็อย่างว่า ในโลกธุรกิจใครๆก็ทำกันทั้งนั้น และเมื่อมันประสบความสำเร็จขนาดนี้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่ากฎหมายรองรับจะปรับตัวกันอย่างไร

ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งแวดล้อมที่จะช่วยอุ้มชูให้ Sharing Economy เติบโตยังมีด้วยกันอีกหลายประการ อย่างเช่น การที่ระบบ AI หรือคอมพิวเตอร์ ไม่เคยหยุดยั้งวิวัฒนาการ (ถึงแม้คนที่ทำให้มันมีวิวฒนาการเร็วมากจะเป็นมนุษย์ก็เถอะ) จะทำให้ในอนาคตอีกไม่้ใกล้ไม่ไกล เราจะมี AI ที่คอยทำแทนได้หลายๆอย่าง อีกหนึ่งเสียงยืนยันจาก Yeoh Siew Hoon ผู้ก่อตั้ง WIT (Web in Travel) ยังบอกอีกว่า การที่ AI เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก จะทำให้คนเรามีเวลาว่างต่อวันเพิ่มขึ้นถึง 60%! นอกจากนอนแล้วก็แทบไม่ต้องทำงานกันแล้วค่ะคุณ

เวลาว่าง 60% คนเราจะเอาไปทำอะไร?

เวลาเสาร์อาทิตย์ถ้าว่างแต่ขยันหน่อยก็อาจจะอยากออกไปทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เดินห้าง ดูหนัง โหลดซีรี่ส์เก็บไว้ นั่งทำการบ้าน วิเคราะห์หุ้น อูยยย.. สารพันสรรพสิ่งที่มนุษย์จะสรรหากิจกรรมทำ ซึ่งตรงนี้นั่นเองที่จะทไให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เวลาของมนุษย์ไปอีกหนึ่งระดับตลอดกาล เพราะมนุษย์จะมีเวลาว่างมากพอที่จะหาช่องทางเพิ่มรายได้ของตัวเองให้มากกว่าที่เคย และ Sharing Economy ก็จะเติบโตขึ้นด้วยประการฉะนี้

ในเมื่อเล่นแชร์ คือการลงเงินแล้วหมุนเวียนเสียดอกกันไป แล้วจะปรับมาแชร์ใน Sharing Economy ยังไง?

อะไรก็หยิบมาแชร์ได้ถ้าคุณทำการบ้านมามากพอ ในประเทศจีนมีแอพพลิเคชั่นการเช่าจักรยานแบบจอดที่ไหนก็ได้ที่ได้รับความนิยมสูงปรี๊ดในเวลารวดเร็ว เอาเฉพาะแค่ในเสิ่นเจิ้นก็มีจำนวนจักรยานให้เช่าเหยียบ 5.2 แสนคัน แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากปัญหาเอาเสียเลย เพราะสิ่งที่ตามมาก็คือการเพิ่มจำนวนถึงจักรยานที่ทำกฎจราจร อุบัติเหตุจากจักรยาน และการโจรกรรมจักรยานอย่างหนักหน่วง

นอกจากจักรยานแล้ว พี่จีนยังมีแอพพลิเคชั่นบริการแชร์ร่ม (?) แต่ก็มีปลายทางเดียวกับการแชร์จักรยาน เพราะมีร่มสูญหายไปกว่า 3 แสนคัน มูลค่าถึงประมาณ 18 ล้านหยวน จนมีคำกระซิบกระซาบเย้ยหยันว่าจักรยานยังไม่รอด แล้วร่มจะรอดได้ยังไง

ภาพจาก : http://www.telegraph.co.uk

แต่การแชร์ที่ดูเหมือนว่าจะไปได้สวยนั้นก็คือ TaskRabbit ที่มีแพลตฟอร์มสำหรับการจ้างงานเล็กๆน้อยๆทั่วไป หรือที่ได้รับชื่อเรียกว่า Gig Economy โดยซีอีโอ Stacy Brown-Philpot นั้นเกริ่นๆมาว่า มีผู้สนใจที่จะเขาซื้อกิจการมากกว่าหนึ่งรายแล้ว เอาล่ะ! ต่อไปใครจะเอาอะไรมาแชร์กันอีก

Sharing Economy ในมุมของอสังหาฯ

การเอาห้องพักมาแบ่งและการเอาที่ว่างมาทำเป็นออฟฟิศและ Co-working Space เป็นรูปแบบ Sharing Economy ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จและมีจำนวนมากที่สุดในขณะนี้ แต่แน่นอนว่าคงไม่หยุดกระแสธารการแชร์ไว้เพียงแค่นี้ เพราะตอนนี้เริ่มมีการแชร์ที่พักระหว่างคนทำงานเฉพาะสายอยู่ด้วยกันในต่างประเทศ การแชร์ในลักษณะนี้ถูกจริตคนทำงานสายศิลปะเป็นพิเศษ อย่างในเมือง Brooklyn เมืิองที่มีสตรีทอาร์ตและงานศิลปะกระจายอยู่ทุกซอกมุมถนน เริ่มมีการแบ่งปันห้องพักในบ้านของศิลปินเพื่อศิลปินด้วยกัน ซึ่งเริ่มนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะเจอคนที่คุยถูกคอแล้ว ยังมีอุปกรณ์ทางสายอาชีพ และบทสนทนาที่แลกเปลี่ยนความรู้ตามมาอีกด้วย

ความนิยมของการแชร์ห้องพักแบบนี้เริ่มแพร่หลายในหมู่คนทำงานโปรดัคชั่นเฮ้าส์ในไทย การมีพื้นที่ชั้นล่างเป็นสตูอิโอ ข้างบนคนคนทำงาน กลางวันว่างมาถ่ายภาพ กลางคืนว่างมานั่งคุย ลักษณะการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดคิดตลอดเวลา ทำให้เกิดไอเดียใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา

ภาพจาก : http://thesocialnetworkcaps.tumblr.com/

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของการแชร์ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงนักก็คือ การแชร์ห้องครัว คิดดูสิคะคุณ คนไทยอยากเปิดร้านอาหารและอยากทำอาหารตั้งเท่าไร ปัจจัยก็คือการมีอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมสำหรับการปรุงอาหาร ลองนึกภาพถ้ามีการแชร์ห้องครัวซักหนึ่งห้องใหญ่ๆ ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน และส่งอาหารไปตามร้านค้าในละแวกใกล้เคียงที่ไม่เกิน 2 กิโลเมตร แบบนี้คงจะน่าสนใจดีไม่น้อย ถ้ามีคนริเริ่มคิดแพลตฟอร์มการแชร์แบบถูกจริตคนไทยขึ้นมาซักอย่าง เราคงได้เห็นเสน่ห์ของการเล่นแชร์แบบใหม่ตามคอนเซ็ปแชร์แบบไทยแลนด์ 4.0 อย่างแน่นอน

 

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก