ถึงแม้ Gen Y จะเป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตมาระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอล นิสัยของพวกเขาจะคล้ายๆกันคือ หัวไว ดื้อรั้น เชื่อมั่นในตัวเอง และเป็นประชากรที่ถ้าลงมือทำอะไรแล้วจะสุดโต่ง จนเป็นตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ Gen Y กลับมีช่องโหว่หลุมใหญ่ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือเรื่องพฤติกรรมการใช้เงิน นั่นเอง

            สำหรับในระดับสากล Gen Y ถือเป็นประชากรที่ค่อนข้างอับโชคกว่าคนรุ่นก่อนอย่าง Baby Boomers และ Gen X ที่เกิดในระหว่างที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวอย่างเต็มที่แบบใครมือยาวสาวได้สาวเอา แต่ในยุคปัจจุบัน Gen Y ดำเนินชีวิตระค่อนระแค่นไปตามเส้นทางเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน นับตั้งแต่ การก่อการร้าย, เหตุการณ์ 9/11 จนมาถึงกรณีของ Brexit ทำให้สุขภาพทางการเงินและการลงทุนของ Gen Y นั้นดูจะขรุขระกว่าคนรุ่นเก่าอยู่พอดู เพราะนอกจากความไม่เชื่อมั่นในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว Gen Y ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นในตลาดแรงงานอีก ทำให้ถึงแม้การศึกษาขั้นต่ำของคน Gen Y จะเฉลี่ยอยู่ที่ปริญญาตรี แต่จำนวนเกินครึ่งของคน Gen Y นั้นกลับมีเป้าหมายของการออกสู่ตลาดแรงงานเพื่อตั้งต้นธุรกิจของตัวเอง

ไลฟ์สไตล์หรู แต่ไม่ให้ดูเงินในบัญชี

            มีการสำรวจว่า Gen Y ในอเมริกาส่วนใหญ่ มีเงินเก็บน้อยกว่า 1,000 ดอลล่าร์ในบัญชี เมื่อสืบหาเหตุผลที่ลึกไปกว่านั้นก็พบว่า การใช้จ่ายในระยะสั้นของเหล่า Gen Y ในอเมริกานั้นหมดไปกับการใช้ชีวิตประจำวันและเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง ได้แก่ การดูคอนเสิร์ต, ไปงานอีเว้นท์, ทานอาหารในห้างสรรพสินค้า, ซื้อเสื้อผ้า, ซื้ออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์, ซื้อกาแฟ และการใช้บริการขนส่งที่ไม่ใช่ขนส่งสาธารณะอย่าง Taxi หรือ Uber ทำให้มีคำพูดกระแซะในทำนองที่ว่า ที่คนรุ่นใหม่ซื้อบ้านไม่ได้ ก็เพราะการมีไลฟ์สไตล์ที่แพงเกินไป

สำหรับในประเทศไทยปี 2560 มีข้อมูลการเปิดบัญชีบัตรเครดิตใหม่ถึง 2.2 ล้านใบ และกว่า 50% เป็นการเปิดใหม่ให้กับคน Gen Y ซึ่งก็มีการยืนยันที่สอดคล้องกัน จากผลการวิจัยของสถาบันธนาคารอีกแห่งหนึ่งว่า Gen Y ถือบัตรเครดิตเฉลี่ยกันคนละ 3 ใบทีเดียว สำหรับ นิด้าโพล ได้เปิดเผลผลสำรวจเรื่อง พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในครึ่งปีแรก 2560 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 คน พบว่า 45.15% มีรายได้และรายจ่ายพอๆกัน โดยมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 26,459.91 บาท และมีรายจ่ายต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 21,606.75 บาท

ไม่พอแค่นั้น! หนี้สินโดยรวมโดยเฉลี่ยของ Gen Y ที่อายุไม่เกิน 30 ปี ยังสูงถึงกว่า 565,302.88 บาท โดย 59.47% มาจากการซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า และการบริการสินค้าอุปโภคบริโภค         

INTAGE Academy ได้ทำการสำรวจด้วยแบบสอบถาม เพื่อหาคำตอบว่า Gen Y นั้นเที่ยวเก่ง ช็อปปิ้งเก่ง และใช้จ่ายตามอำเภอใจจริงหรือไม่ โดยได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 100 คน พบว่ารายจ่ายส่วนใหญ่ 39% เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 21% เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน 15% เป็นค่าใช้จ่ายหนี้สิน 14% เป็นเงินออม/ลงทุน และ 11% เป็นค่าช็อปปิ้งและสังสรรค์ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า จริงๆแล้ว Gen Y ไทยสุรุ่ยสุร่ายหรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้เป็นแบบนี้กันแน่? เพราะยุคนี้แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นจากสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็จริง แต่รายจ่าย (เชิงบังคับ) นั้นก็เพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เงินเดือนหมื่นต้นๆ ก็สามารถผ่อนบ้านผ่อนรถได้พร้อมๆกัน ตัดภาพมาปัจจุบัน จะหาคอนโดห้องเล็กๆ พื้นที่ 20 กว่าตารางเมตร ก็เลือดตาแทบกระเด็นกันแล้ว

ลูกไม่มีเพราะหนี้บาน

         นอกจากพฤติกรรมการใช้เงินที่ทำให้การซื้อบ้านเหมือนเป็นปลายทางที่ยากจะไปถึงแล้ว ยังมีเรื่องของทัศนคติในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดย ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2558) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า คน Gen Y กว่า 34% มองว่าการมีครอบครัวนั้นเป็นภาระหนัก ทำให้ไม่ค่อยสนใจเรื่องสร้างครอบครัวมากนัก และถ้ามองเรื่องลำดับความสำคัญในชีวิตของคน Gen Y ส่วนใหญ่จะให้ลำดับความสำคัญไปที่การเรียนต่อเป็นอันดับแรกเพื่อได้งานที่ดีกว่า จากนั้นมองเรื่องซื้อรถก่อนซื้อบ้าน และสุดท้ายคือการสร้างครอบครัว แต่งงาน และมีลูก

            แนวคิดการครองตัวโสดหรือการแต่งงานแต่ไม่มีลูกนั้นเริ่มแพร่หลายมากขึ้นใน Gen Y เพราะพวกเขามองเห็นจากรุ่นพ่อแม่แล้วว่า การมีลูกหนึ่งคนต้องใช้ทั้งเงินและเวลามหาศาล โดยค่าเฉลี่ยของการมีลูกหนึ่งคนนั้นต้องใช้เงินถึง 1.9 ล้านบาท อีกทั้ง Gen Y บางส่วนไม่ได้คิดว่าการมีลูกจะมีนัยยะสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของการสร้างครอบครัวเหมือนกับรุ่นพ่อแม่ ทำให้พวกเขามองว่าการหาความสุขและความมั่นคงให้ตัวเอง อย่างการซื้อบ้าน ซื้อรถ และท่องเที่ยว เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าการมีลูก ซึ่งทัศนคตินี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบประชากร โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ภาวะสังคมสูงวัยอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมทั้งอาจจะเป็นประชากรที่ต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐมากกว่ารุ่นก่อนๆ เนื่องจากไม่นิยมมีลูกกันนั่นเอง

เมื่อมองดูแล้วก็ใช่ว่า Gen Y จะมีแต่ความสุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเกินตัวเสมอไป ถ้าตัดเรื่องของพฤติกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทำให้ Gen Y ถูกบีบบังคับทางการเงิน สมัยก่อนรุ่นพ่อแม่เข้าทำงานใหม่ๆ เงินเดือนสตาร์ท 3,000 บาท ข้าวจานละ 10 บาท ซื้อข้าวได้ 300 จาน ปัจจุบันปริญญาตรีเงินเดือนสตาร์ท 15,000 บาท (สำหรับกรุงเทพฯ) ข้าวจานละ 40-50 บาท ซื้อข้าวได้ 300-375 จาน แต่ไหนจะต้องมีค่าเดินทางที่แพงหูฉี่ ค่าเช่าหอพัก ค่าอะไรต่อมิอะไรที่คนเมืองต้องแบกรับภาระอีก ก็นับว่า Gen Y นั้นเป็นประชากรที่โชคร้ายอยู่เหมือนกัน - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก