Mixed-income Community การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ควรเริ่มได้แล้วในปีนี้
ในปี 2030 ประชากรทั่วโลกกว่า 60% จะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง โดย World Economic Forum ได้มองทิศทางการอยู่อาศัยในอนาคตเรื่องนี้ว่า การพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยนั้นควรจะมีความยั่งยืนและเท่าเทียม โดยจะต้องมีราคาไม่สูงจนเกินเอื้อม และควรตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ทำงาน ซึ่งคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นกลุ่มแรก
ในปี 2015 สหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้เช่าที่อยู่อาศัยเกือบ 21 ล้านคน และมีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ 18 ล้านคน ซึ่งใช้เงินมากกว่า 30% ของรายได้ในการลงทุนเรื่งเนรื่องอยู่อาศัย The Joint Center for Housing Studies of Harvard University ได้รายงานในทำนองเดียวกันว่า มีจำนวนผู้ครอบครองที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมากกว่า 11 ล้านคน และมีเจ้าของที่อยู่อาศัยเพื่อปล่อยเช่าประมาณ 8 ล้านคน ที่ใช้เงินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ไปกับเรื่องที่อยู่อาศัย
แม้แต่กลุ่มอาชีพที่ถือว่ามีรายได้สูง ก็มีการสำรวจพบว่า คนกลุ่มนี้นั้นไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้กับที่ทำงานได้ โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาที่กระจุกตัวอยู่ที่ใจกลางเมือง ทำให้ที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นมีราคาสูงมาก ทำให้การอยู่อาศัยของผู้มีรายได้ระดับปานกลางนั้นถูกถีบออกมาในเมืองชั้นนอก สิ่งที่ตามมาคือ รยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ในอเมริกา มักถูกผลักให้ออกไปจากศูนย์กลางเมือง ซึ่ง World Economic Forum มองว่าการพัฒนาเชิงโดดอย่างนี้ ทำให้ไม่เกิดกลุ่มก้อนทางชุมชนและเกิดการแตกกลุ่มระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา
Mixed-income Community
แนวคิดของชุมชนรายได้ผสมผสานนั้นเริ่มเกิดขึ้น โดยหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาได้รื้ออาคารที่อยู่อาศัยที่เริ่มหมดสภาพหรือไม่มีผู้อาศัย โดยมีการพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดชุมชนรายได้ผสมผสาน หมายความว่าในชุมชนนั้นจะมีทั้งที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้แตกต่างกันทุกกลุ่ม โดยวิธีการนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถยกระดับรายได้ให้กับประชากรมากขึ้น เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยจะมีโอกาสลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางไปทำงานมากขึ้น และยังมีโอกาสสร้างความสัมพันธฺทางสังคมใหม่ๆอีกด้วย
ในกรุงเวียนนา นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในเมืองเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบรายได้ผสมผสาน โดยเป็นรูปแบบอพาร์ตเม้นท์ ซึ่งมีสัดส่วนคือ 50% เป็นของผู้มีรายได้ต่ำ โดยค่าเช่าถูกควบคุมโดยหน่วยงานรัฐ ในระดับค่าเช่าที่ไม่เกิน 20-25% ของรายได้
อีกหนึ่งในการพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกระแสการกระจุกตัวในเมืองของประชากร คือการพัฒนาโครงการ Mixed-use Complex ที่ประกอบไปด้วยส่วนของที่พักอาศัย, พื้นที่ค้าปลีก และสำนักงาน โดยอยู่บริเวณพื้นที่เมืองรอบนอก เพื่อกระจายแหล่งงานไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเมืองเกินไป
เหตุผลของการริเริ่มพัฒนาโครงการแนวนี้ ไม่ได้มาจากกระแสโลกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมาจากปัจจัยบีบบังคับอย่างเรื่องของราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น การพัฒนาที่ดินในบริเวณที่อยู่ติดขนส่งมวลชนนั้นยุ่งยาก เพราะต้องมีการแย่งประมูลและทำสัญญาจากภาครัฐ นอกจากนั้นนักพัฒนที่ดินไม่สามารถซื้อที่ดินและถือครองไว้เฉยๆได้ แต่จะต้องมีแผนพัฒนาโครงการด้วย
World Economic Forum ได้ชี้แนะ 3 แนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องการพัฒนาชุมชนรายได้ผสมผสาน ดังนี้
- การพัฒนาชุมชนรายได้ผสมสานนั้น ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมีส่วนร่วมในการจัดสรรที่ดินอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในการอยู่อาศัย
- แต่ละชุมชนควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เพื่อจัดหาเงินทุนที่จำเป็นในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนา
- หากต้องการให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รัฐควรพิจารณาสิทธิประโยชน์ในด้านเครดิตและภาษีในระยะยาวสำหรับชุมชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาในแนวนี้ เนื่องจากสิ่งจูงใจในระยะสั้นจะไม่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
อุปสรรคใหญ่ที่ World Economic Forum มองคือ ความยากในการสร้างความตระหนักว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบรายได้ผสมผสานนั้นเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างในนิวยอร์ก มีรายงานพิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบนี้ สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวก ทั้งในระดับครัวเรือนและเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยระหว่างปี 2011-2015 โครงการที่อยู่อาศัยแบบรายได้ผสมผสานสามารถสร้างงานรวมกว่า 329,400 ตำแหน่งและงานแบบถาวรกว่า 46,800 งาน ซึ่งหากเกิดการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยในรูปแบบนี้มากขึ้น จะสามารถยกระดับประชากรได้กว่าล้านคน และจะสามารถเห็นผลได้ในอีก 20-30 ปีอย่างแน่นอน -เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก