‘เงิน’ เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนสากล ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยมาตราไหน ชีวิตประจำวันของทุกคนมีรายจ่าย แต่เงินในกระเป๋าสตางค์มีที่มา และมักจะหาที่ไปอยู่บ่อยๆ จนชักหน้าไม่ค่อยจะถึงหลังทุกที

           
วิธีแก้ปัญหาง่ายนิดเดียวแต่ทำยากมากๆ คือ บริหารเงินให้สมดุล
 

ปัญหาทั้งหมดเริ่มต้นจากเงินในกระเป๋าสตางค์สวนทางกับพฤติกรรมด้านการเงิน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ความเครียด             ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การลงทุน เเผนกจิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาเวช มีคำแนะนำหลายแง่มุมสำหรับบำบัดความเครียดอันเนื่องจากปัญหาโลกแตก – เรื่องเงินๆ ทองๆ     

ดร.รพีพงค์  ยังวราสวัสดิ์ 
นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาด้านการเงิน  การลงทุน  เเผนกจิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาเวช

 

ทำไมเรื่องเงินถึงเป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ไขยากเย็นจนถึงขั้นต้องมีการบำบัด สาเหตุเบื้องต้นของปัญหาทั้งหนี้สินและใช้เงินไม่เป็นเกิดจากอะไร


ผมมองว่าการเงินแบ่งออกเป็นการหาเงิน การเก็บเงิน และการใช้จ่ายเงิน ผมเรียงลำดับสามอันนี้ มีความสำคัญซึ่งกันและกัน อันนี้คือการบริหารเงิน เราเลยเรียกว่า ‘สมดุลทางการเงิน’
 

ทีนี้การที่คนเราจะเกิดปัญหาคือว่า การเงินไม่สมดุล อย่างเช่นการหาเงินได้มากจนกระทั่งไม่มีเวลาใช้ บางคนเป็นแบบนั้น มันจะเกิดความเครียดบางอย่าง แล้วความคิดมันมีพลังงาน ก็ต้องระเบิดออกทางใดทางหนึ่ง ถ้าเขายังไม่กำจัดความเครียดทางการเงินของเขา
 

หรือบางคนใช้จ่ายเงินมากกว่าที่หามา มากกว่าที่เก็บ ก็เริ่มไม่สมดุล เมื่อการใช้จ่ายติดลบก็จะเกิดหนี้สิน สร้างภาระให้คนอื่น อาจจะเป็นภาระกับธนาคาร ภาระกับเพื่อน ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพราะฉะนั้นปัญหาของคนเรามาจากตรงนี้ครับ ความไม่สมดุลทางการเงิน



การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เช่น shopaholic แสดงให้เห็นถึงภาวะเสพติด คนเรามีกลไกเสพติดการช็อปปิ้งอย่างไร

เสพติดการใช้จ่ายเป็นพฤติกรรมหนึ่ง คือพฤติกรรมทำซ้ำ เหมือนเราดื่มกาแฟ ก็เคยชิน แล้วยิ่งเป็นอะไรที่เราชอบเราก็จะจำ เพราะฉะนั้นคนที่หาเงินมาแล้วได้ใช้จ่าย มันเป็นความสุขนะ ไม่ได้บอกว่าผิด ถ้าอยู่ในระดับพอดี


การเสพติดการช็อปปิ้ง ในหัวจะครุ่นคิดถึงแต่เรื่องช็อปปิ้ง การใช้เงิน สมมุติชอบท่องเที่ยว พอเปิดอินเทอร์เน็ตก็จะนั่งดูเว็บไซต์โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว แล้วสมดุลทางการเงินก็จะเริ่มเสีย การทำงานเริ่มไม่ดี เพราะเอาเวลาไปนั่งเสิร์ชข้อมูล ไปหมกมุ่นกับมัน ผมมองว่านิยามของการหมกมุ่นไม่มีตายตัว แต่ถ้าคุณเสียเวลาไปอย่างน้อยสองชั่วโมงต่อวัน ผมถือว่าเริ่มหมกมุ่นแล้ว


นอกจากนี้การช็อปปิ้งบางครั้งเป็นประเด็นทะเลาะกับคนในครอบครัว ต้องแอบหลบๆ ซ่อนๆ ว่าของที่ซื้อมาราคาถูก เพื่อให้ว่า เออ ราคาไม่ได้แพง เลยต้องมีการโกหกครอบครัว แล้วเขาก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ครับ

หากมองเป็นวิทยาศาสตร์ บางคนเคยบอกว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายจนเกินตัวมากๆ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของสารเคมีในสมองจริงไหม


บางส่วนครับ เพราะว่าบางรายอยากรวย สมองมีความเคยชิน สมมุติเราติดกาแฟ พอวันไหนเราไม่ได้กินก็รู้สึกเบื่อหน่าย อารมณ์แบบนั้นเลย มันจะไปกระทบเหมือนกันในส่วนที่เป็นความคิด อารมณ์ พฤติกรรม          


สมองก็เสพติดเหมือนกัน แต่สมองส่วนหนึ่งมันสะท้อนพฤติกรรม สะท้อนอารมณ์ พอเขามีความคิดแบบนี้ขึ้นมา อารมณ์ก็มาแล้ว มันมาพร้อมกันว่าอยากได้ ทีนี้มันควบคุมส่วนอารมณ์ไม่ได้ พฤติกรรมที่ออกมาก็คือ ไปซื้อ


แล้วพอหนี้สินที่เอาไม่อยู่ บัตรเครดิตมีห้าใบ ใบที่หนึ่งมาโป๊ะใบที่สอง ใบที่สองมาโป๊ะใบที่สาม พอฟองสบู่แตกก็จะเริ่มเกิดความเครียด มีคนมาทวงหนี้ พอมีปัญหาทางการเงิน เชื่อเลยว่าจะต้องมีปัญหาการทำงานหรือปัญหาครอบครัวตามมา เกิดภาวะซึมเศร้า สุดท้ายก็พบว่าปัญหามันมาจากการเงิน

ปัญหามนุษย์เงินเดือนที่ชีวิตดีแค่สองสัปดาห์ แล้วช่วงครึ่งเดือนหลังจะรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ เป็นแบบนี้ทุกเดือน คำแนะนำคืออะไร


อย่างแรกเลยคือจะให้จดบันทึกก่อน อย่างที่สอง จดบันทึกรายรับรายจ่ายว่าไปรั่วไหลตรงไหน เดือนหนึ่งเรามีการหาเงินและการใช้จ่ายเงินยังไง ส่วนนี้เราจะเดาๆ ได้แล้ว อยากให้วางแผนทางการเงินเข้าไปด้วย


เพราะฉะนั้นเรื่องเงินเดือนมันเกิดจากการวางแผนทางการเงินที่ไม่ดีพอนะครับ ถ้าวางแผนให้ดีๆ ในหนึ่งปีเราอาจรู้ว่าใช้เท่านี้ ยิ่งถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน รายได้เขาจะนิ่ง แต่ถ้าฟรีแลนซ์ เขาจะเดาได้ว่า อาจจะเอา 5-10 เดือนมาหาค่าเฉลี่ยเลยว่าต่อปีเขาได้เท่าไหร่ ก็จะพอเดาๆ ได้นะครับ

ถ้าหนี้สินล้นพ้นตัวจนทำให้สมดุลต่างๆ พัง life balance กับ money balance ไม่เท่ากัน จะทำอย่างไร


ต้องหาต้นตอของปัญหาและปรับพฤติกรรม บางทีต้นตอเขาอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ มากเลยก็ได้ เช่นในปัจจุบัน เราอยู่กับสังคมวัตถุนิยม แล้วทุกอย่างก็จะทำให้อยากได้อะไรที่เป็นวัตถุนิยมไปด้วย เช่น ของที่ทันสมัย


เพราะฉะนั้นพอมาคิดย้อนดู บางคนอาจจะมีต้นตออื่น เช่น หน้าใหญ่ พอมาเห็นแล้วว่าต้นตอคือสิ่งนี้ เขาหน้าใหญ่ไปกับการสังสรรค์กับเพื่อน การช่วยเหลือผู้อื่น หรือลูกอยากได้อะไรเปย์หมด พ่อแม่อยากได้อะไรเปย์หมด เหมือนกับช่วยภาระทางบ้านสุดฤทธิ์ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังไม่รอด ก็ต้องมาดูว่าเงินหายไปตรงไหน สังเกตไหมครับ มันต้องกลับไป back to basic จดรายรับรายจ่าย ว่ารายจ่ายออกไปได้ยังไง

เมื่อมีปัญหาทางการเงินแล้วเครียดจัด ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อย คำแนะนำหรือวิธีการบำบัดความเครียดทางการเงินควรทำอย่างไร


อันนี้ต้องจัดการกับความเครียด เช่น ในบางมุมต้องทำกิจกรรมบำบัด กิจกรรมที่เขาชอบ อย่างเคสเสพติดช้อปปิ้ง เราก็ไม่ให้เขาไปเจอสิ่งเร้า แรกๆ อาจจะเลิกไม่ได้ เราต้องค่อยๆ ทำจนเขาเลิกให้ได้ แต่การจะเลิกได้ต้องมีสิ่งทดแทน เช่น เปลี่ยนจากเดินห้างช็อปปิ้งมาออกกำลังกายด้วยกัน ฟิตเนสแพงก็ไปสวนสาธารณะ


ในฐานะที่เป็นนักจิตวิทยา เราเป็นแค่กระจกสะท้อน ตัวเขาเองคือผู้รักษาตัวเขาเองดีที่สุดครับ แต่เราเป็นแค่กระจกสะท้อนว่าเออกิจกรรมนี้ดีมั้ย ทดแทนกันได้ ดูแล้วให้เขาไปทำการทดลองว่ามันดีขึ้นกับชีวิตเขามั้ย

หากบางครั้งการใช้เงินจะมีความสุขมากตอนซื้อ ทั้งๆ ที่เป็นของไม่จำเป็น แล้วมารู้สึกผิดทีหลัง จะทำอย่างไรดี


ถ้าเกิดทำผิดไปแล้วอยากให้จดบันทึก ว่านี่เป็นครั้งที่หนึ่ง เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยจำ เพราะถ้าจำได้จะมีสติ ครั้งที่สองถือว่าพลาดได้ แต่ถ้ามีครั้งที่สามอีกนี่ไม่ใช่พลาดแล้ว และลามไปถึงครั้งที่สี่ ครั้งที่ห้า เขาค่อนข้างไม่สบายแล้ว และเขาก็จะรู้สึกผิดสลับกันไป เหมือนเสพติดการพนัน


การมาให้คำปรึกษากัน เราจะบันทึกไว้ตลอดว่าครั้งที่แล้วคุณก็มีปัญหา ซื้ออันนี้มา ทำไมครั้งที่สองซื้อมาด้วยเหตุผลใหม่ แต่เหตุผลใหม่คล้ายกับเหตุผลเดิม เขาจะเริ่มรู้ว่านี่คือครั้งที่สองแล้ว เราจะมาคุยกับเขาอีก บางครั้งเราจะให้เขายืดหยุ่นนะ การแก้ไขปัญหากับความเข้มแข็งทางจิตใจไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องค่อยเป็นค่อยไป

ถ้าเราไม่ได้เป็นคนสร้างหนี้ แต่คนในครอบครัวเป็นหนี้เป็นสิน ยกตัวอย่างเช่น พ่อเป็นหนี้ ใช้เงินเกินตัว แล้วคนทั้งบ้านต้องรองรับความเครียด สมาชิกในครอบครัวต้องจัดการอย่างไร


ถ้าเป็นไปได้อยากให้มาคุยกันทั้งครอบครัว เพราะแต่ละคนมีประเด็นไม่เหมือนกัน ต้องมาดูกันว่าใครมีอำนาจเหนือใคร คีย์แมนคือใคร


เพราะครอบครัวมีจุดเชื่อมโยงกัน เช่น น้องสนิทกับพ่อ พี่ชายสนิทกับแม่ แต่วันนี้พ่อมีปัญหา สมมุติ ตอนนี้เงินฝืดเคือง เริ่มมีหนี้สิน ก็ต้องมาดูแล้วว่าจะแก้ปัญหาอะไรก่อนหลัง


ถ้านำไปสู่ความรุนแรง ก็ต้องดูว่าใครรุนแรงกับใคร ใครเป็นคนควบคุมความรุนแรงนี้ได้ ใครมีอำนาจที่มาต่อรองตรงนี้ได้ แล้วความรุนแรงตรงนี้จัดการอย่างไร


ครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงินที่พบบ่อยมาจากการสื่อสารแล้วโยนบาปกัน “เพราะมึงมันถึงเป็นแบบนี้” คือเวลาเขาทะเลาะเขาจะไม่มีใช้ ‘คุณ’ กัน ไม่ให้เกียรติกันในการสื่อสาร และการสื่อสารเริ่มกล่าวโทษแล้วโยนบาปว่าผิดเพราะเธอไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือบางทีจะเกิดคำว่า Financial Abuse คือการข่มเหงทางการเงิน ยิ่งถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าก็จะเกิดการข่ม นี่ไงใช้หนี้ให้แล้ว ก็ข่มอีกฝั่งหนึ่งได้


มันต้องปรับตัว เช่น เราไม่ได้สร้างหนี้  แต่แฟนสร้างให้ อย่างแรกก็ต้องปรับตัวปรับใจของเราก่อน เสร็จเล้วมาปรับพฤติกรรม อาจจะหานักจิตวิทยา และฝั่งเราที่เป็นครอบครัวต้องให้กำลังใจ

SOURCE : www.scb.co.th