แก้ปัญหาแบบเด็ก ๆ กันเถอะ
เราอาจเคยได้ยินแต่คนพูดว่า อย่าแก้ปัญหาแบบเด็กๆ ซึ่งมักหมายถึงการแก้ปัญหาแบบที่คิดง่ายไป คิดน้อยไป หรือไม่ค่อยจะเข้าท่าในเชิงเหตุผล จึงกล่าวกันไว้เช่นนั้น นี่คงเป็นเป็นอีกบทความดี ๆ ที่จะลองชวนมาลองเปลี่ยนทัศนคติ กันดู (อีกแล้ว)
คำว่า “ปัญหา” นั้นอาจแตกต่างกันไป มีหลายมิติ หลากปัจจัย ที่คงไม่สามารถเขียนครอบคลุม หรือเปรียบเปรยได้หมดทุกเรื่อง ในที่นี้อาจชัดเจนไปในแง่ของ “ปัญหาระหว่างบุคคล” ด้วยมุมมองเชิงทัศนคติแล้ว ทุกอย่างเริ่มจากการปรับมุมคิดแล้วสิ่งอื่น ๆ จะตามมา ในบทความนี้ก็เช่นกัน ที่จะยกตัวอย่างเชิงมุมคิดที่น่าสนใจเผื่อนำไปต่อยอดแล้วเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป
อะไรเป็นปัญหาแบบเด็กๆ?
ถ้าตอบแบบทั่วไป บางทีปัญหาเด็กก็เป็นเรื่องเด็ก ๆ นั่นแหละ ส่วนใหญ่คือเรื่องความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทะเลาะกับเพื่อน มีปัญหาความไม่เข้าใจกับ “ผู้ใหญ่”..
แต่เดี๋ยวนะ! เราโตมาก็ยังมีปัญหาแบบนี้เหมือนกันไม่ใช่หรือ? ทะเลาะกับคนรอบข้าง ไม่ทะเลาะกันตรง ๆ ก็ขัดกันทางความคิดกับใครบางคน มันช่างไม่ต่างกับปัญหาเด็กกับผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจกัน โดยอย่างยิ่งกับคนที่คิดว่าตัวเองเป็น “ผู้ใหญ่” กว่า..
ทว่าสิ่งที่แตกต่างคือ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นภายในใจแล้ว ระหว่าง เด็ก กับผู้ใหญ่ มักจะมีท่าที การแสดงออกที่แตกต่างกัน ยังผลให้ที่สุดแล้วผลลัพธ์ของปัญหามักลงเอยแตกต่างกันด้วย เราลองอ่านแล้วนึก หรือคิดตามดูว่า ตอนที่เราเด็ก ๆ เรามีปัญหากับคนอื่นเราเป็นอย่างไร แล้วเด็ก ๆ เขามักทำอย่างไรกัน..
วิธีแก้ปัญหาแบบเด็ก ๆ
- เธอโกรธเราก่อนทำไม? (บอกตรงๆ)
ในเวลาที่คนสองคนมีปัญหากัน เราล้วนทราบดีว่า ถ้าไม่ยอมคุยกัน มันยากจะจบปัญหาแต่มันก็มีอีกเช่นกันที่ การคุยแทนที่จะแก้ปัญหา กลายเป็นว่ายิ่งแย่ลง ก็คงเพราะ คุยยังไง?..
ความเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งรู้สึกว่ามีความคิดกันแล้ว ก็มักเปิดประเด็นไปที่ การยกตัวอย่าง.. (ถ้า.. สมมติว่า.. ลองเป็นเธอ.. คิดดูนะ..) คำพูดในเชิง ความคิด ยกเหตุ มีทั้งยัดเยียดเหตุใส่อีกฝ่ายและอ้อมค้อมมากมาย รวมถึงการพยายามถามฝ่ายตรงข้ามว่า.. “เธอเข้าใจไหม?” นั่นกลายเป็นประเด็นต่อว่า พออีกฝ่ายไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย คนละมุม ปัญหาเลยใหญ่ขึ้น…
เวลาที่เด็ก ๆ ทะเลาะกัน และเมื่อเขาได้คุยกัน ประโยคแรก ๆ เขาจะบอกสิ่งเขารู้สึกหรือได้รับทันที เช่นว่า “..เธอว่าเราแบบนั้นทำไม? ..เธอทำแบบนี้ทำไม?” หรือบางทีไม่รู้ว่าอีกฝ่ายโกรธอะไร ก็พูดไปตรงๆ ว่า “ก็เธอโกรธเราก่อนทำไม?” ด้วยน้ำเสียงท่าทีที่ไม่ได้หาเรื่องและออกจะน้อยใจด้วยซ้ำไป
การเปิดประเด็นแบบตรงประเด็นของเด็ก ๆ นี้เพียงเพราะความซื่อในการสื่อสาร หรืออะไรก็ตาม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเด็กได้คุยกัน มันมักจะจบลงด้วยการคืนดี มากกว่าการมีข้อขัดแย้งเพิ่มเหมือนผู้ใหญ่ ที่หลากหลายเหตุผลเกินไป และถ้าลองสังเกตดี ๆ เด็กพร้อมจะฟังกว่า นี่คือสิ่งแตกต่างที่สำคัญ และถ้าสังเกตเห็น ปัจจัยคือ “เด็กมักไม่เปิดประเด็นด้วยการสรุปว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างไร” เช่น อีกฝ่ายไม่เข้าใจ ไม่เคยคิด ทำนองนี้ แต่เปิดด้วยว่า ฝ่ายตัวเองเป็นอย่างไร ซึ่งแท้แล้วคนเราย่อมรู้ตัวเราเองก่อนที่จะไปรู้คนอื่น
- ไม่ได้โกรธสักหน่อย (ถอยหนึ่งก้าว)
และด้วยเพราะเด็กเป็นวัยที่อาจจะยังไม่ได้สร้างกำแพง ทิฐิ ศักดิ์ศรีนัก นี่ทำให้เด็กมีเงื่อนไขน้อยที่สุดในการจะถอยหรือจบปัญหา ในตัวอย่างแรก แม้ว่าอีกฝ่ายจะเปิดใจ เปิดประเด็นตรง ๆ หากเป็นความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะตอบไปตรงประเด็น หรือยอมลงแบบง่าย ๆ และมัก “ต้องได้แบบนั้น.. ต้องทำแบบนี้.. ต้องมีคำพูดเช่นนั้น.. เสียก่อน” เมื่อเงื่อนไขมากอันมาจากทิฐิ สันติจึงไม่เกิดเสียที แถมบ่อยครั้งไม่ยอมพูดตรง ๆ ด้วยซ้ำว่าต้องการอะไร บางทีก็เลยเถิดจนลืมไปว่าต้องการอะไร และมักจะเรื่องเล็กนิดเดียวสำหรับเด็กแล้ว เมื่อมีคำถามว่าโกรธไหม โกรธก่อนหรือเปล่า เด็กอาจจะตอบว่าไม่ได้โกรธสักหน่อย.. แม้ว่าใจจริงก่อนนั้นเขาจะโกรธ มันอาจเป็นคำตอบที่ไม่จริงเสียทีเดียว แต่ในตอนที่เขาตอบแบบนี้ เขามีสัญญาณว่า เขาอยากจบ.. ถอย.. และไม่ได้โกรธแล้ว พร้อมจะคืนดี นี่คือวิธีที่ไม่มีเงื่อนไขซับซ้อน หรือเงื่อนไขน้อยสำหรับเด็ก…แต่ในขณะเดียวกัน คำตอบที่ว่า “ไม่ได้โกรธสักหน่อย” นี้ บางทีจากปากของเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ได้มีความหมายเดียวกัน เพราะเด็กไม่โกรธก็คือไม่ หรือหายแล้ว ถอยได้ จบได้ แต่กับผู้ใหญ่ มันไม่แน่.. ความคับแค้นใจอาจคงอยู่ และพร้อมจะขุดขึ้นมาได้เสมอเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว จะสรุปก็ได้ว่าการที่ตอบไปเช่นนั้นเพราะ “โตมาประชดประชันเก่ง” นี่แหละมันจึงแก้ปัญหาไม่ได้ ยังไม่นับรวมกับความเจ้าคิดเจ้าแค้นด้วยนะ..
- หนูไม่รู้.. (กล้ารับ) –
ในหลายๆ ครั้งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุชัดเจน และรู้ว่าใครเป็นฝ่ายผิด อาจยังไม่ถึงขั้นเป็นปัญหาก็ได้ ทว่า เมื่อถามถึงสาเหตุขึ้นมา ผลที่ได้กลายเป็นปัญหาเพียงเพราะการไม่ยอมรับหรือพยายามอ้างสิ่งต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องปกติของการปกป้องตัวเองในเชิงจิตวิทยา (Ego Defense Mechanism) เพียงแต่เมื่อเกิดในต่างเหตุการณ์ ต่างบุคคล ผลลัพธ์จึงอาจไม่สมเหตุ สมผลต่ออีกฝ่าย (พูดง่าย ๆ ว่าฟังไม่ขึ้น) นั่นกลายเป็นสร้างความขัดแย้งเพิ่ม…
ดังตัวอย่างเช่น เมื่อใดที่มีคำถามที่ตอบไม่ได้ หรือเหตุการณ์ไม่ตั้งใจ เด็กส่วนใหญ่ก็คงตอบด้วยความใสซื่อไปว่า “หนูไม่รู้” แต่ผู้ใหญ่ อาจกลัวจะโง่ หรือ ผิดเสียไม่ได้ จึง “รู้” “แต่!!” ที่ทำไปเพราะเหตุผลบางอย่าง” ทั้งที่ผลลัพธ์มันส่งผลเสียหายได้ ซึ่งเมื่อเสียหายแล้ว หากไปตำหนิต่อว่า อีกฝ่ายที่อ้างว่า รู้ หรือในความไม่กล้ารับการกระทำของตัวเอง เขาก็จะมีเหตุผล อ้างแก้ตัวได้ ซึ่งทบทวนกันดี ๆ สิ่งนี้ควรเรียกว่า “ไม่รู้” เพราะรู้คงไม่ทำให้เสียหาย หรือ กล้ารับว่าคิดผิด ทำผิด ไม่งั้นก็ไม่เสียหายโดยรวมแล้วก็คือ แทนที่เราจะยอมรับสิ่งต่าง ๆ ให้ง่าย แต่ความเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ทำให้ไม่ง่ายและกลายเป็นว่าปัญหาบานปลายกว่าเดิม ซึ่ง เด็กไม่ใช่ตอบแค่ ไม่รู้ เขายังกล้าตอบอะไรที่มันทำให้จบปัญหาง่ายกว่า เช่น หนูไม่ระวังเอง หนูไม่ได้ตั้งใจ หนูผิดไปแล้ว และ.. หนูขอโทษ ต่อไปจะไม่ทำอีก ประโยคพวกนี้เราจะได้ยินจากปากผู้ใหญ่ไม่ง่ายเลย..
- เขาโกรธเราเหรอ (สงสัยก็ถาม)
เช่นกันที่หลายครั้งเรารู้สึกได้ว่า มีคนอาจไม่พอใจ ไม่ชอบใจ อะไรในเชิงที่เขารู้สึกไม่ดีต่อเรา ด้วยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวถึงสาเหตุก็ตาม การตอบสนองมักมีหลายแบบ เช่น เชิดมาเชิดกลับ หรือ ผ่านคนกลางในทำนอง ฉันไปทำอะไรให้!, ฝากบอก “มัน” ด้วยว่า.. สิ่งเหล่านี้เสมือนเป็นการประกาศสงคราม หรือปิดกั้นหนทางในการ “รู้ปัญหา” อย่างดีหน่อยก็เฉย ๆ ไปเสียเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่ได้ความว่าจบปัญหา ทั้งอาจยังทำให้มีปมค้างคาใจในภายหลัง
ประเด็นในเรื่องนี้อีกด้านคือ การผ่าน คนกลาง, คนอื่น หรือไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง ที่หลายครั้งมันยากเกินไปทำให้พูดเองโดยตรงไม่ได้ ทว่าแทนที่จะเป็นการผ่านคนกลางเพื่อแก้ปัญหา แต่กลายเป็นวางป้อมปราการหรือเปิดรุกใส่ ทั้งที่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น คงพอเห็นได้ว่ามันไม่แก้ปัญหาเลย…ในความซื่อตรงของเด็ก ๆ นั้นบางทีมีอะไรสงสัยเขาก็ถาม การถามผ่านคนกลางนั้นที่จริงง่ายต่อการถามตรง ๆ ด้วยความเปิดเผย ไม่ต่างจากฝากด่า ที่ง่ายกว่าด่าต่อหน้าเช่นกัน แต่ผลลัพธ์ก็จะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
อนึ่งเรื่องคนกลางหรือคนอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีนี้ก็ล้วนมีหลายแบบ วางตัวหลายประเภท บ้างก็เป็นบ่างช่างยุ บ้างก็ตีความเจตนาผิด อีกฝ่ายถามตรง ๆ แต่คิดว่าอารมณ์เสียก็เลยใส่ไปตามนั้น ใด ๆ ก็ตาม แม้ในเด็ก ก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสียทีเดียว บางครั้งเด็กทะเลาะกับเพื่อน ก็จะชวนเพื่อนของตนให้โกรธอีกฝ่ายด้วย “เราโกรธมาลีแล้ว พวกเราต้องห้ามคุยกับมาลีนะ ใครคุยกับมาลี แสดงว่าไม่ใช่เพื่อนเรา!” นี่เป็นอีกมุมประสาเด็กที่คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องเด็ก ๆ ไป แต่ที่น่าสนใจคือ บางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมีการวางตัวเช่นนี้อยู่ ก็ลองคิดเอาว่าถ้าเป็นเพื่อนเรา มันไหวไหม?
- ขอโทษเราก่อน (พร้อมอภัย)
หลายคนทราบดีว่า การพูด “ขอโทษ” แม้จะได้ผลหรือไม่ แต่ก็เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ควรจะทำ และโดยส่วนใหญ่มันก็ทำให้ทุกอย่างเบาบางลงได้ บนท่าทีที่จริงใจต่อคำพูดนั้นด้วย ซึ่งในหลายสถานการณ์ของความขัดแย้ง ปัญหาของเหล่าผู้ใหญ่คล้ายกับที่เขียนไป เมื่อทิฐิ มานะ และ “ศักดิ์ศรี” มีกันมากขึ้น สองพยางค์นี้ก็ดูเป็นสิ่งที่เสียให้กันไม่ได้ง่าย
หลายกรณีที่มันควรจะผ่านหรือเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ที่ยังไม่ยอม เพียงเพราะต้องการให้อีกฝ่าย “ยอมรับ” หรือ “ลด” ทิฐิ มานะ บางอย่าง แต่เมื่ออีกฝ่ายไม่ยอมลง เพราะไม่ได้มองเป็นการลดทิฐิ มานะ แต่มองว่าเสียศักดิ์ศรี (มองกันคนละด้าน) แต่ล้วนหลงลืมกันไปว่า เรานี่แหละก็กำลังเป็นผู้มี “มานะ” เสียเอง มานะพยายามให้เขาต้องลง กลายเป็นตนเองทิฐิสูงขึ้นแทนโดยลืมตัวจากตรงนี้ในภาพของเด็ก ๆ ที่พร้อมจะอภัยหรือคืนดีกัน เมื่อมีฝ่ายหนึ่งแค่เอ่ยปากขอ “เธอก็ขอโทษเราก่อนสิ” หลาย ๆ ปัญหา มันไม่ได้ใหญ่เกินกว่าจะอภัยได้ ลืมได้ หรือเป็นฝ่ายยอมขอโทษก่อนไม่ได้ ทว่า ทิฐิ มานะ การสร้างความซับซ้อนนั้น ทำให้อีกฝ่าย อึดอัด ปิดโอกาส และไม่เข้าใจ ทั้ง ๆ ที่เราอยากให้เขาเข้าใจ แก้ไข กลายเป็นตรงกันข้าม บางทีเราคิดหรือมองว่าเขาไม่พยายาม แต่ทำไมเราไม่มองบ้างว่า มันควรจะให้ความรู้สึก และความสัมพันธ์กลับมาโดยเร็วก่อน เหตุผลที่เขา “อยากพยายาม” จึงจะตามมาได้ง่ายขึ้น
- ห่วงเล่น…
เด็กมัก “ห่วงเล่น” การเล่นของเด็ก คือความสุข มีเพื่อนเล่น ก็คือการยิ่งมีความสุขสำหรับเด็ก ปัญหาระหว่างกัน มันจึงควรจบ เพราะอยากเล่นสนุกกันต่อ มีเพื่อนหลายคนมันเล่นสนุกกว่า นี่น่าจะเป็นแรงจูงใจในแบบเด็ก ๆ เพราะเด็กห่วงเล่น หรือจะบอกว่า เขาหวงแหนช่วงเวลาแห่งความสุขของเขา และทุกข์สั้นเสมอ…
ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ มันก็คล้ายจะยากขึ้นทุกวันที่จะให้ทุกข์สั้น และสุขยาว ไม่รวมถึง สุขยาก ทุกข์ง่ายของหลายคน บางทีอาจเพราะเราลืมไปว่าเราต้องการอะไร ไม่ว่าจะเด็กผู้ใหญ่อย่างไรก็อยากได้ “ความสุข” มากกว่าความทุกข์แน่นอน ถ้ากลับไปคิดแบบเด็กได้ บางทีเราอาจจะมองเห็นว่าอะไรสำคัญกว่า เราอาจเลิกเสียเวลากับปัญหา เพื่อให้มีเวลาเล่นสนุกสนานมีความสุขต่อไป ซึ่งมันน่าจะดีกว่าไม่ใช่หรือ?..
หวังว่านี่คงบทความน่าอ่านอีกบทความหนึ่ง ที่เปลี่ยนทัศนคติในการตัดสินปัญหา วางความเป็นผู้ใหญ่เอาไว้ แล้วลองมาใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเด็ก ๆ กันดูครับ
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 18/5/2020
SOURCE : www.sirichaiwatt.com