ฝึก Skill ให้หลากหลายแบบ da Vinci ด้วยกฎ 20 ชั่วโมง
Renaissance ตามรูปศัพท์แปลว่า ‘เกิดใหม่’ แต่ถ้าเติม man เข้าไปด้วยจะแปลว่าคนที่มีความเก่งกาจหลายอย่าง
แล้วความเก่งกาจที่ว่านี้เป็นแบบไหนกันล่ะ ก็แบบ Leonardo da Vinci เลย เขาเป็นทั้งสุดยอดศิลปิน รอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ อย่างเช่นวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ และยังมีความเป็นนักประดิษฐ์อีก บางทีต้นตอของคำว่า Renaissance man ก็อาจจะมาจากตัว da Vinci เองก็ได้
Renaissance man ก็คือคนแบบ da Vinci ที่มีทักษะในระดับยอดเยี่ยมหลายด้าน ฟังดูแล้วคงจะมีแต่คนที่เกิดมาพร้อมพรสวรรค์เท่านั้นถึงจะไประดับนี้ได้ แต่ความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่เช่นนั้น
เพราะถ้ามันเป็นเรื่องของทักษะแล้วล่ะก็ แสดงว่าเราก็สามารถฝึกกันได้
Josh Kaufman อาจจะไม่ใช่ Renaissance man แต่เขาก็มีทักษะที่หลากหลายเพราะเขามีวิธีเพิ่มทักษะใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 12 เดือนเขาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆถึง 7 อย่าง ไม่ว่าจะเป็น การเขียนโค้ด เล่นโยคะ เล่นวินด์เซิร์ฟ เล่นอูคูเลเล่ เล่นโกะ ฝึกเทคนิคการพิมพ์แบบ Colemak (ว่ากันว่าเร็วกว่าการพิมพ์แบบ QWERTY หรือ ฟหกด ที่เราพิมพ์มาตั้งแต่เด็ก) และถ่ายและตัดต่อหนัง
เขาเรียกวิธีฝึกฝนนี้ว่า “Rapid skill acquisition” หัวใจสำคัญของมันคือการฝึกอย่างจดจ่อ (deliberate practice) ภายในกรอบเวลาที่วางไว้
เขาฝึกทักษะข้างต้นตั้งแต่ความรู้เป็นศูนย์จนตอนนี้อยู่ในระดับคล่องแคล่วชำนาญ อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นเซียนอย่าง Renaissance man แต่นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือความหลากหลาย
“ถ้าคุณฝึกฝนอย่างชาญฉลาด มีกลยุทธ์ มันก็ไม่มีข้อจำกัดในสิ่งที่คุณเรียนรู้ แม้แต่เรื่องการสร้างจรวดก็ด้วย” Kaufman กล่าว
=====
เราฝึกฝนไปเพื่ออะไร
เราอาจจะฝึกฝนเพื่อหาวิธีสร้างรายได้ให้มากขึ้น
ฝึกเพื่อให้โปรไฟล์เราดูดีกว่าเดิมเพื่อที่คนอื่นจะให้ความเคารพต่อคุณค่าของตัวเราและสร้างโอกาสใหม่ให้ตนเอง
ฝึกฝนเพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้น เพื่อให้เห็นโลกในมุมใหม่ๆและสนุกไปกับการเติบโตของตนเอง
ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องดีทั้งนั้นที่เราจะฝึกฝนทักษะเพิ่ม แต่น้อยคนที่จะลงมือทำจริงๆนั่นก็เพราะมันมีอุปสรรคมาขัดขวางและบ่อยครั้งมันก็เกิดขึ้นจากตัวเรานี่แหละ
Kaufman กล่าวว่ามีอุปสรรคอยู่ 3 อย่างที่ทำให้ผู้คนไม่เริ่มฝึกฝนซักที
อย่างแรกคือ “คนส่วนใหญ่ไม่ให้คำมั่นอย่างเฉพาะเจาะจงในการฝึกฝน”
พวกเขามักจะพูดว่า “ฉันคิดว่าจะฝึกพูดภาษาญี่ปุ่นซักวันนึง” แต่ก็ไม่ได้วางแผนการฝึกอะไรเลย ที่แย่กว่านั้นคือพวกเขาไม่ได้คิดเลยว่าทำไมเขาถึงสนใจทักษะนี้ พอเป็นแบบนี้การฝึกฝนก็ไม่ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ
อย่างที่สอง “เรากลัวที่จะเรียนรู้”
เมื่อเราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มันจะมีช่องว่างขนาดใหญ่ของสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ เราระแวงถึงสิ่งที่เราไม่รู้ เราไม่รู้ว่าต้องเริ่มตรงไหน เรารู้สึกถึงความไม่แน่นอนที่กำลังเผชิญ จากนั้นเราจะตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณดิบยุคดึกดำบรรพ์เพื่อหยุดความกลัว นั่นคือ “ยอมแพ้”
อย่างที่สาม “การเรียนรู้ทำให้เหนื่อยใจ”
สมมติว่าคุณฝืนความกลัวแล้วลองนั่งลงฝึกฝน สิ่งปกติที่คุณต้องเจอเมื่อเริ่มฝึกคือ คุณทำผลงานได้ห่วย คุณทนเห็นความห่วยของคุณไม่ได้ คุณผิดหวังในตัวเอง เพื่อที่จะหนีสถานการณ์แบบนี้คุณจึงหยุดการฝึกฝน และอาจจะบอกกับตัวเองว่า “ทักษะแบบนี้ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน”
อีกสิ่งหนึ่งที่ขัดขวางการฝึกคือ “กฎ 10,000 ชั่วโมง” ที่ Malcolm Gladwell ทำให้โด่งดัง กฎนี้แพร่หลายและทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ‘ถ้าเราคิดจะฝึกทักษะอะไร เราต้องฝึกจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นเราต้องฝึกให้ถึง 10,000 ชั่วโมง’
การทำตามกฎ 10,000 ชั่วโมงคือการฝึกทุกวัน วันละ 4 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 7 ปี ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำได้ การฝึกแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่คิดจะพัฒนาฝีมือตนเองไปถึงระดับโลก แต่ถ้าคุณแค่อยากจะฝึกฝนเพื่อให้ได้ทักษะที่มีคุณค่าต่อตัวเองหรือฝึกเพื่อความสนุกล่ะก็
20 ชั่วโมงก็เพียงพอ
=====
ฝึกทักษะใหม่ภายใน 20 ชั่วโมง
1) เลือกฝึกทีละอย่างและตั้งเป้าระดับที่ต้องการจะไปให้ถึง
คุณอาจจะอยากฝึกฝนทักษะหลายด้าน แต่เมื่อถึงเวลาต้องเลือก คุณต้องเลือกฝึกทีละอย่าง
เลือกหนึ่งทักษะที่สำคัญต่อคุณอย่างมากในเวลานั้นและทุ่มเทความพยายามลงไป จำไว้ว่าถ้าคุณกระจายความพยายามของคุณโดยการฝึกทีละหลายทักษะ คุณจะไม่มีพัฒนาการซักอย่างเดียว
แต่คนเรามักจะมีปัญหาในการเลือกเมื่อเจอตัวเลือกมากมาย Kaufman จึงแนะนำว่าให้เขียนรายการทักษะที่อยากฝึกออกมา จากนั้นถามตัวเองว่า
“ถ้าฉันเลือกรายการฝึกพวกนี้ได้แค่ครึ่งเดียว ฉันจะเลือกฝึกอะไร”
จากนั้นคุณก็ตัดรายการทิ้งไปครึ่งหนึ่ง แล้วคุณก็ถามคำถามนี้ซ้ำ แล้วก็ตัดออกครึ่งหนึ่งอีก ทำแบบนี้เรื่อยๆจนกว่าคุณจะเหลือสิ่งที่ต้องฝึกเพียงสิ่งเดียว
เมื่อเลือกทักษะได้แล้วต่อมาคือการตั้ง Target Performance Level
คุณต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนมากที่สุด ยิ่งรายละเอียดเยอะ ยิ่งดี ทำให้ชัดเจนว่าคุณต้องการฝึกไปจนถึงระดับไหน
การบอกแค่ว่า ‘จะฝึกภาษาอิตาเลียน’ นั้นกว้างไป การตั้งเป้าแบบ Target Performance Level คือการบอกว่า ‘เรียนภาษาอิตาเลียนเพื่อไว้ใช้ตอนไปเที่ยวอิตาลีและคุยโต้ตอบกับพนักงานเสิร์ฟ’ เขียนแบบหลังจะทำให้ฝึกง่ายกว่า
--
2) แบ่งเป็นทักษะย่อยๆเพื่อให้ฝึกง่ายขึ้น
ทักษะแต่ละอย่างคือการผสมผสานทักษะย่อยเข้าด้วยกัน เราต้องแบ่งทักษะออกเป็นส่วนย่อยๆเพื่อที่เราจะสามารถฝึกได้ง่ายขึ้นและไม่เป็นเรื่องยากเกินไป
สมมติว่าเป็นเรื่องกอล์ฟ เมื่อคุณ ‘เล่นกอล์ฟ’ คุณไม่ได้ทำแค่สิ่งๆเดียว แต่มันประกอบไปด้วยการตี Tee-off การตีเหล็กแบบต่างๆ ตีลูกชิปข้ามบ่อทราย และตีเข้ากรีน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ใช้ทักษะคนละแบบ วิธีฝึกที่ดีที่สุดคือฝึกมันทีละอย่าง
คุณอาจจะเริ่มฝึกตีลูกก่อน จากนั้นฝึกการเลือกเหล็ก แล้วค่อยเพิ่มสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆเข้าไป
ทักษะส่วนมากจะมีรูปแบบคล้ายๆกันคือ มีทักษะย่อย 2-3 อย่างที่สำคัญจริงๆ ส่วนที่เหลือแทบไม่สำคัญหรือส่งผลต่อผลลัพธ์น้อยมาก ดังนั้นเพื่อให้เรียนรู้ได้เร็ว เราจึงต้องฝึกสิ่งสำคัญเป็นอย่างแรก
--
3) ใช้กฎ 80/20 ในการเลือกทักษะย่อย
หาหนังสือ 2-3 เล่ม คอร์สเรียน วิดีโอหรือสื่ออย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่คุณฝึก แต่อย่าพึ่งศึกษามันทั้งหมด ให้ไล่ดูคร่าวๆ เรื่องไหนที่คุณเจอบ่อย เรื่องนั้นล่ะสำคัญที่สุด
เวลา 1-2 ชั่วโมงนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการหาข้อมูล การค้นข้อมูลมากเกินไปจะกลายเป็นการผัดวันประกันพรุ่งแทน สิ่งที่ต้องการคือการค้นข้อมูลเพื่อหาทักษะย่อยที่สำคัญที่สุดและหลีกเลี่ยงการฝึกที่ไม่มีการวางแผน
ตอนที่ Kaufman ฝึกเขียนโค้ด เขาซื้อหนังสือมา 20 เล่มและคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคืออ่านหนังสือพวกนี้และเริ่มเขียนโปรแกรม แต่ความจริงมันตรงกันข้าม ทักษะของเขาพัฒนาขึ้นเมื่อเขาเลือกอ่านหนังสือขั้นพื้นฐาน 2-3 เล่มเพื่อให้ได้ไอเดียหลักของทักษะการเขียนโค้ดและใช้เวลาที่เหลือไปกับการเขียนโปรแกรม
“ทำการบ้านของคุณ จากนั้นเริ่มฝึกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” Kaufman กล่าว
--
4) กำจัดสิ่งรบกวนการฝึก
ยิ่งคุณใช้ความพยายามในการเริ่มฝึกมากเท่าไหร่ คุณยิ่งพัฒนาน้อยลงมากเท่านั้น
สมมติถ้าคุณจะฝึกเล่นกีต้าร์ แต่คุณเอากีต้าร์ใส่กล่องแล้ว เก็บไว้ในตู้เสิ้อผ้า หรือวางไว้ในส่วนอื่นของบ้านที่ไกลมือ ก็แน่ใจได้เลยว่าคุณแทบไม่ได้ฝึก
วิธีที่ Kaufman ใช้ในการฝึกอูคูเลเล่คือ เก็บมันไว้ใกล้มือทุกๆวัน เมื่อถึงเวลาก็แค่หยิบและฝึกฝน
Tim Grahl เพื่อนของ Kaufman บอกเคล็ดลับที่ใช้กับตัวเขาว่า
"ฉันเดาว่าไอ้เจ้า Tim ในอนาคต มันต้องโง่เง่า ขี้เกียจ และตัดสินใจอะไรได้ห่วยแน่ๆ ดังนั้นฉันก็เลยจัดสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น"
ดังนั้นแทนที่จะรอปาฏิหารย์ทำให้คุณเริ่มฝึก คุณควรจัดสภาพแวดล้อมให้ง่ายต่อการฝึกของคุณดีกว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยอย่างเช่นเอากีต้าร์ไว้ตรงที่หยิบง่ายๆจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่
และอย่าลืมที่จะกำจัดสิ่งรบกวนการฝึก เมื่อถึงเวลาฝึก คุณควรปิดประตู ปิดทีวี ปิดอินเตอร์เน็ต ปิดเสียงโทรศัพท์ ทำสิ่งที่จะทำให้คุณมุ่งสมาธิไปที่การฝึก
--
5) ใช้จิตวิทยา ‘การตกลงล่วงหน้า’ เพื่อทำลายแรงต้าน
“คุณเต็มใจที่จะทำการฝึกอย่างจดจ่อเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ชั่วโมงรึเปล่า” เวลาที่ Kaufman ต้องการให้คุณใช้ในการฝึกแต่ละทักษะคือ วันละ 45 นาที เป็นเวลา 30 วัน
นั่งลง หยิบปฏิทิน และคิดคำนวณว่าคุณจะฝึกฝนช่วงเวลาไหน สิ่งที่ต้องการสำหรับการฝึกคือเวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น
ถ้าคุณบอกว่าไม่มีเวลา แสดงว่าทักษะนั้นคงไม่ใช่สิ่งสำคัญกับคุณจริงๆ ถ้าคุณไม่เต็มใจที่จะใช้เวลา 20 ชั่วโมงไปกับการฝีกทักษะที่คุณเลือก ก็เลิกซะ แล้วไปทำอย่างอื่น มันดีกว่าการที่คุณฝึกเล่นๆแล้วมายอมแพ้และรู้สึกผิดทีหลัง
ตามประสบการณ์ของ Kaufman การตกลงล่วงหน้ามีผลต่อการกระทำของเราอย่างมาก เพราะสิ่งที่คุณต้องทำคือการฝึกอย่างจดจ่อซึ่งมันต่างจากการฝีกแบบเรื่อยเปื่อย ถ้าคุณแค่ฝึกเล่นๆ คุณจะยอมแพ้เร็วมากถ้าคุณเจอสิ่งที่เริ่มยากขึ้นมา จำไว้ว่าช่วงแรกของการฝึกเราจะทำอะไรได้ห่วยไปหมด ซึ่งมันง่ายมากที่คุณจะยอมแพ้
แต่ถ้าคุณ ‘ตกลงล่วงหน้า’ ความคิดของคุณจะเปลี่ยนไป คุณจะเดินหน้าจนกระทั่ง
1) พัฒนาทักษะจนถึงระดับที่คุณต้องการ หรือ
2) ฝึกฝนจนครบ 20 ชั่วโมง แม้ระหว่างนั้นคุณจะผิดหวังกับความห่วย คุณก็จะคิดว่า “ถ้ามันจะห่วยก็ให้มันห่วยแค่ 20 ชั่วโมงนี่แหละ อย่างน้อยถ้าทำได้ตามเป้า มันก็น่าจะมีอะไรดีขึ้น”
เมื่อคุณจัดเวลาของคุณได้แล้ว เวลาที่คุณฝึก คุณจะต้อง ‘ฝึกอย่างจดจ่อ’ นั่นคือขณะที่ฝึกเราต้องเจาะจงให้ได้ว่าองค์ประกอบใดของทักษะที่ต้องปรับปรุง แล้วค่อยบรรจงขัดเกลาสิ่งนั้น ดังนั้นมันจึงต้องมีข้อมูลป้อนกลับ (feedback) อย่างต่อเนื่อง
การฝึกจดจ่อเป็นสิ่งที่ยากกว่าการฝึกแบบเรื่อยเปื่อยเพราะมันต้องอาศัยการจดจ่อและสมาธิ มันเป็นงานหนักที่ไม่สามารถทำได้นานๆ คนเราฝึกอย่างจดจ่อได้อย่างมากที่สุดแค่วันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้นและมักจะต้องแบ่งเป็นช่วงๆโดยแต่ละช่วงไม่เกิน 60-90 นาที
แต่วิธีของ Kaufman เราจะใช้เพียง 45 นาทีในแต่ละวันเท่านั้น ดังนั้นเส้นทางนี้ไม่ยากจนเกินไป
ว่าแต่ทำไมต้องเป็น 20 ชั่วโมง
Kaufman เลือก 20 ชั่วโมงเพราะเขาพบว่ามันเป็นเหตุผลทางจิตวิทยา เวลา 20 ชั่วโมงไม่นานเกินไปที่จะทำให้เกิดความกลัว ดังนั้นมันจึงง่ายที่จะทำการตกลงล่วงหน้า แต่มันก็ไม่ได้นานพอที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง
จากประสบการณ์ของ Kaufman พบว่าในการเรียนรู้นั้น
1-2 ชั่วโมงแรกจะมีแต่ความสับสน
2-4 ชั่วโมงจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง
4-6 ชั่วโมงจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่น่าตื่นเต้น
15-20 ชั่วโมงคุณจะทำได้ดีกว่าคนส่วนมาก
หลังจาก 20 ชั่วโมง คุณจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าเดิมในการตัดสินทักษะนั้น คุณอาจจะพัฒนาทักษะนั้นต่อไปให้ดียิ่งขึ้นหรือไม่ก็พัฒนาแค่นั้นและหันไปทำสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า
Kaufman เองก็เรียนการทำอาหารภายในไม่กี่ชั่วโมง เขาต้องการแค่ทักษะทำอาหารอร่อยๆให้กับครอบครัว ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นเชฟระดับโลก ดังนั้นเขาจึงไม่ได้พัฒนาการทำอาหารมากมายนัก
แต่ทักษะอื่นอย่างเช่นการเขียนโปรแกรม มันมีค่ามากขึ้นที่จะพัฒนาต่อ เขาใช้เวลา 150 ชั่วโมงไปกับทักษะนี้และยังคงเรียนรู้ต่อไป
Kaufman บอกว่า คุณสามารถฝึกอะไรก็ได้ทั้งนั้น ในช่วง 20 ชั่วโมงมันคือช่วงเวลาในการค้นหา คุณกำลังหาคำตอบว่ามันคืออะไร มันทำงานยังไง เมื่อคุณได้รับผลลัพธ์จากการฝึก คุณก็ไม่จำเป็นต้องฝึกต่อถ้าคุณไม่ต้องการ คุณไม่จำเป็นต้องฝึกจนเป็นผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่องเมื่อคุณคิดจะเรียนรู้
แต่ถ้าคุณอยากจะฝึกฝนให้มากขึ้น คุณสามารถใช้วิธีการนี้และทุ่มเททั้งพลังและเวลาลงไปจนกว่าคุณจะไปถึงระดับยอดฝีมือ
บอกให้ได้ว่าคุณต้องการอะไร อดทนจนกว่าจะได้รับสิ่งๆนั้น จากนั้นเดินหน้าฝึกฝนต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ Talent is overrated
SOURCE : www.techsauce.co