'ตลาดแรงงาน' จากนี้ไป น่าเป็นห่วง!
เมื่อวงจรธุรกิจถูกตัดขาดจากวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากรัฐออกมาตรการล็อกดาวน์ที่หวังควบคุมโรค โดยช่วง มี.ค.-เม.ย.63 เกือบทุกสาขาการผลิตมีการจ้างงานลดลงมากกว่า 1 ล้านคน และมีการประมาณการว่าหลังคลายล็อกมีคนว่างงาน 3.2 ล้านคน ยังไม่รวมเด็กจบใหม่ 5.5 แสนคน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า...สาเหตุคนตกงานและว่างงาน ต้นตอหลักหนีไม่พ้นวายร้ายไวรัสโควิด-19 ตัวการหลักที่เขย่าฐานการจ้างงานสะเทือนไปทั้งโลก! ผลกระทบจากโควิด-19 มีการห้ามทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Lock down) วงจรธุรกิจถูกตัดขาด! โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจขาดรายได้ ขาดเงินทุนหมุนเวียน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ จึงจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
- ภาวะการจ้างงานก่อนและช่วงแพร่ระบาด 3 เดือนแรก 2563
จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ก่อนโควิด-19 จะแพร่ระบาดในไทย “การมีงานทำ” ในประเทศไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่มีความกังวลเรื่อง “การจ้างงานในภาคเกษตร” เนื่องจากภัยแล้งและความพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนจากการถูก “ป่วน” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยี ดิสรัปชัน เท่านั้น
ในช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดโควิด เดือน ม.ค.-มี.ค. ตลาดแรงงานของไทยยังไม่ถูกกระทบ โดยพบว่าการมีงานทำในภาพรวมเพิ่มขึ้น (1.2%) ช่วง ม.ค.-ก.พ. แต่เริ่มลดลงอย่างเด่นชัด เม.ย. ถึง 3% ผู้มีงานประจำ (ทั้งที่มีรายได้และไม่มีรายได้) แต่ไม่ทำงานสูงมากถึง 2.9 ล้านคน
ในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. เกือบทุกสาขาการผลิตมีการจ้างงานลดลงมากกว่า 1 ล้านคน แรงงานเหล่านี้ไม่ได้ว่างงานแต่เป็นการพักหรือรองานจากกิจการที่ลดชั่วโมงทำงานและหรือปิดกิจการชั่วคราว แรงงานเหล่านี้ก็ต้องกลับไปภาคเกษตรในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ภาคเกษตรก็ยังเป็น “หลังพิง” ให้กับแรงงาน
จากข้อมูลการสำรวจการมีงานทำของประเทศไทย (TDRI) แรงงานที่ยังมีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงานในช่วงการระบาดโควิด-19 แบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังมีรายได้ และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ ซึ่งรวมกันสูง 2.9 ล้านคน กลุ่มแรก แรงงานที่ยังมีรายได้ เดือน เม.ย. มีจำนวน 0.481 ล้านคน กลุ่มที่สอง แรงงานที่มีตำแหน่งประจำแต่ไม่สามารถทำงานได้ มีจำนวนสูงกว่ากลุ่มแรกมาก หรือราว 2.42 ล้านคน
จากการคาดการณ์ว่า Real GDP Growth จะลดตัวลง (โดยเฉลี่ย) 8.10% ในปี 2563 โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2563 คาดว่าจะหดตัว 11% ไตรมาสที่ 3 และ 4 ปีนี้ หดตัวเฉลี่ยเพียง 9.82%
ดังนั้น หาก Real GDP ลดลงจะเป็นผลทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการวิเคราะห์จำนวนผู้ว่างงานผ่านแบบจำลอง OLS พบว่า ปี 2563 จะมีผู้ว่างงานสูงถึง 3.26 ล้านคน
- คนว่างงานครึ่งปีหลังราว 3.2 ล้านคน
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 จำนวนประชากรผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มี 56.49 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.77 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 12 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรม 6 ล้านคน ภาคบริการ 18 ล้านคน
ขณะที่ภาคการเกษตรมีการใช้แรงงานประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากเท่าภาคอื่นๆ ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการจ้างงาน 6 ล้านคน ได้รับผลกระทบ คาดว่าการส่งออกจะติดลบ 8% เพราะตลาดต่างประเทศหดตัวจากผลกระทบโควิด ทำให้ต้องปลดคนงาน ลดกำลังการผลิต และถูกซ้ำเติมด้วยภาวะค่าเงินบาทแข็ง เป็นภาวะวิกฤติที่น่าเป็นห่วงทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
หลังการประกาศเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเดือน มิ.ย. สถานประกอบการเริ่มทยอยเปิดกิจการ แต่ด้วยกำลังซื้อที่อ่อนแอ! ทั้งจากการไม่มีรายได้ช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคตและหรือกังวลกับการติดเชื้อ ประมาณการก่อนหน้าเปิดล็อกดาวน์มีคนว่างงาน 8.4-9.0 ล้านคน
ปัจจุบันหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ คาดมีประมาณ 3.2 ล้านคน (ใกล้เคียงกับที่ TDRI ประมาณการจากแบบจำลอง OLS) ในจำนวนนี้มีคนว่างงานตามมาตรา 33 ยื่นขอรับสิทธิการว่างงานต้นเดือน มิ.ย. ถึง 1.44 ล้านคน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่อีก 5.5 แสนคน!
SOURCE : www.bangkokbiznews.com