ห่วงแรงงาน 2.1 ล้านคน เสี่ยงนายจ้างเบี้ยวเงินเดือน
สศช.ชี้ขณะนี้มีแรงงานในระบบที่ไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง 2.18 ล้านคน โดย 420,000 คนตกงานแล้ว ส่วนอีก 1.76 ล้านคนรอลุ้นนายจ้างจะได้เปิดกิจการต่อหรือไม่
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.สรุปภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการจ้างงาน ซึ่งทำให้ผู้มีงานทำลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 700,000 คน เหลือ 37.1 ล้านคน หรือลดลง 1.9% และมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 1.95% หรือ 370,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สศช.ติดตามข้อมูลพบว่าแรงงาน 1.76 คน มีสถานะทำในสถานประกอบการแต่ไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างเพราะหยุดกิจการชั่วคราวหรือบางส่วน จึงเสี่ยงตกงานหากธุรกิจยังไม่ประกอบการได้ปกติ แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นจำนวนคนว่างงานกลุ่มนี้อาจลดลง แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นและสถานประกอบการต้องปิดตัว จะทำให้กลุ่มนี้เสี่ยงว่างงาน
ส่วนแรงงานในระบบที่ตกงานแล้วมี 420,000 คนที่ถูกเลิกจ้างและใช้สิทธิ์ประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งรวมแล้วขณะนี้มีแรงงานที่มีความเสี่ยงไม่ได้รับค่าจ้าง 2.18 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขคนตกงาน 8 ล้านคนที่ สศช.เคยระบุเป็นความเสี่ยงในกรณีควบคุมโควิดไม่ได้
นอกจากนี้ การมีงานทำของคนกลุ่มนี้แปรผันไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่นตอนล็อคดาวน์ ตลาดปิดร้านค้าปิด ก็ไม่มีงานทำ แต่พอยกเลิกล็อคดาวน์ก็ไม่ตกงาน เริ่มมีรายได้ ก็ต้องสำรวจผู้ประกอบอาชีพอิสระให้มากขึ้น และมีมาตรการดูแล เช่น ช่วยให้เขาขายของได้ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คนขายลูกชิ้นปิ้ง คนขับวินมอเตอร์ไซค์ ขายของตามตลาด
ศบค.เศรษฐกิจถกจ้างงาน
นายทศพร กล่าวว่า การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ นายสุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีมาตรการดูแลการจ้างงาน การเข้าไม่ถึงเงินทุนของเอสเอ็มอี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ได้ตรงจุด รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ซ้ำซ้อนการทำงานของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นข้อเสนอจากกระทรวงหรือภาคธุรกิจ โดยเห็นตรงกันว่าช่วยให้การทำงานด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคล่องตัวขึ้นและรอบด้านขึ้น โดยวันที่ 19 ส.ค.นี้ จะประเมินแนวโน้มผลกระทบเศรษฐกิจและพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงและภาคธุรกิจ
SOURCE : www.bangkokbiznews.com