เตรียมก่อนเริ่มลุย 'ตลาดหุ้น' ต่างแดน
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มซึม นักลงทุนควรมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ อาจต้องเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ที่ดูใกล้เคียงกับการลงทุนในตลาดทองคำ ดังนั้นก่อนที่จะเข้าไปลงทุนควรรู้และศึกษา 6 เรื่องพื้นฐานก่อนลงทุน
“ตลาดหุ้นไทยเริ่มซึม” เทรดได้ยากมากขึ้น ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในไทยน้อยรายที่สามารถฟันฝ่าปัจจัยกระทบจากไวรัสโควิด-19 ประกอบกับรัฐบาลไทยยังคงต้องใช้เวลามากกับการพลิกฟื้นสถานะการณ์ด้านการท่องเที่ยว และการแข่งขันด้านการส่งออกที่เป็นเส้นเลือดหลักไปแล้วสำหรับเศรษฐกิจไทยให้กลับมาได้ดั่งเดิม ผลคืออัตราผลตอบแทนการลงทุนสำหรับตลาดหุ้นไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ของตลาดหุ้นเอเซีย
สำหรับโลกการลงทุน ผมแนะว่า เราควรมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพียงแห่งเดียว นักลงทุนอาจรู้สึกการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นเรื่องไกลตัว ลำบากไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง แต่หากเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาดทองคำ ก็ดูใกล้เคียงกันกับการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนที่มีการลงทุนในตลาดทองคำ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปีนื้ทองคำนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มาช่วยประคองพอร์ตการลงทุนของท่านเป็นปีที่ 2 แล้ว
เอาล่ะ นักลงทุนควรรู้อะไรบ้างก่อนจะลุยตลาดหุ้นต่างประเทศ สิ่งที่เราควรรู้มีดังนี้
1.รู้จักขนาดเศรษฐกิจ ประเทศเป้าหมาย ปัจจัยขับเคลื่อน ธุรกิจไหนที่ได้ประโยชน์
เราควรศึกษาก่อนว่า ประเทศที่เราจะไปลงทุนนั้นมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอย่างไร ขนาดของเศรษฐกิจใหญ่มากแค่ไหน ระบบการเมือง ตลาดหุ้นที่ผ่านมา 3-5 ปีปรับตัวในทิศทางเช่นไร เช่นตลาดหุ้นยุโรปทรงตัวเช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นสหรัฐสามารถปรับตัวขึ้นได้ ปัจจัยอะไร หรือธุรกิจประเภทใดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัว
2.อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็ง/ดอลลาร์สหรัฐ
หลายท่านกังวลมากกับค่าเงินบาทเมื่อต้องลงทุนต่างประเทศ แต่ท่านกล้าที่จะลงทุนในทองคำ ซึ่งนั่นหมายความว่า ท่านก็มีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลล่าร์สหรัฐไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบัน ค่าเงินบาท/ดอลล่าร์สหรัฐอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเงินเมื่อก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง 21 ปีมาแล้ว ดังนั้น ค่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อไปมากๆจากระดับนี้อาจมีความเสี่ยงไม่มาก ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่เศรษฐกิจคนสูงวัย เศรษฐกิจเติบโตช้าลง คนบริโภคและลงทุนในประเทศน้อยลง ดังนั้น ค่าเงินบาทระดับนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสที่เราจะซื้อสินทรัพย์ต่างแดนในราคาที่ถูก และเป็นการกระจายความเสี่ยงหากค่าเงินบาทอ่อนค่าจากระดับนี้ เพราะอย่างไรเสีย สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของนักลงทุนก็ยังอยู่ในไทยในรูปสกุลเงินบาทอยู่แล้ว
3.นักลงทุนควรเลือกโบรกเกอร์ที่มั่นคง เครดิตเรตติ้งสูง และระบบเทรดสะดวก
นักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศ เงินลงทุนของท่านเปรียบเสมือนอยู่ในกระเป๋าเงินตัวแทนคือ โบรกเกอร์ที่เราเลือกใช้ ดังนั้นหากโบรกเกอร์ตัวแทนกระเป๋าตังค์เราไม่แข็งแรงด้านการเงินแล้ว ก็เปรียบเสมือนท่านฝากเงินไว้ในสถาบันการเงินที่ไม่แข็งแรง ดังนั้นความเสี่ยงของการถอนเงิน การตัดเงินผ่าน ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันหากมีปัจจัยกระทบที่รุนแรงจากด้านการเงิน หรือเศรษฐกิจ
4.โบรกเกอร์ที่ปรึกษาการลงทุนในไทย ควรมีบทวิเคราะห์ที่เสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อย่อยข้อมูลสำหรับการตัดสินใจลงทุน และที่สำคัญคือ โบรกเกอร์ไทยนั้นควรมีพันธมิตรต่างชาติที่สามารถ เข้าถึงข้อมูลในเชิงลึก เพื่อวิเคราะห์ได้ถูกต้องแม่นยำ อันจะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
5.ข้อควรระวัง การเข้าถึงข้อมูลบริษัท นักลงทุนไม่ควรลงทุนในบริษัทที่ใหม่เกินไป ขนาดเล็ก และจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่มีข้อมูล ข่าวสารเป็นภาษาท้องถิ่นเท่านั้น ผมแนะว่าควรลงในบริษัทขนาดใหญ่หน่อย เรารู้จักสินค้าบริการของบริษัทนั้นด้วยยิ่งดี และมีข้อมูลอัพเดทจากบริษัทที่เป็นภาษาอังกฤษ
6.การเลือกลงทุนในหุ้นโดยตรง หรือลงทุนใน ETF (เสมือนตะกร้าหุ้น)
อันนี้ นักลงทุนควรประเมินข้อจำกัดของตัวเอง เช่น หากท่านสามารถเข้าใจการลงทุนในหุ้นไทยรายบริษัท ท่านสามารถนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปใช้กับการตัดสินใจลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งการซื้อขายนั้นจะมีค่าคอมมิชชั่นเช่นตลาดหุ้นไทย การแตกพาร์ ภาษีจากกำไรเราได้รับการยกเว้น เป็นต้น
ในทางกลับกัน หากท่านเป็นนักลงทุนที่เข้าใจในมิติมหภาคได้ดี เข้าใจทิศทางธุรกิจหลักๆที่ขับเคลื่อนได้ดี และแสวงหาการลงทุนในบริษัทต่างๆซึ่งอาจมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ หรือ บริษัทขนาดย่อมลงมา การลงทุนใน ETF อาจเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในตะกร้าหุ้นในกลุ่มธุรกิจ หรือ ประเทศเป้าหมายที่มีการกระจายความเสี่ยงที่มากขึ้น
ดังนั้น โลกปัจจุบันที่เราสามารถเลือกกระจายเม็ดเงินไปได้ทั่วโลก และสะดวกขึ้น นักลงทุนควรเรียนรู้ และศึกษาโอกาสทางการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เราสามารถสร้างอัตราผลตอบแทน และลดความเสี่ยงได้ดีขึ้นด้วยครับ
SOURCE : www.bangkokbiznews.com