เชื่อว่าขึ้นปีใหม่แทบทุกปี หลายคนมักยึดหมุดหมายนี้ตั้งเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเก็บเงินเพื่อมิชชั่นอะไรสักอย่าง, ลดน้ำหนัก, จัดบ้านใหม่, ออกกำลังกาย, เลิกบุหรี่ หรือเรียนคอร์สเพิ่มเติม 

แต่สังเกตไหม? ช่วงแรกก็ฮึดดีอยู่หรอก แต่ไม่ถึง 3 วันก็ล้มเลิกไป หรือแรงใจหายไปเหมือนความตั้งใจนั้นไม่เคยเกิดขึ้น บอกเลยว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเรื่องท้าทายสำหรับมนุษย์ทุกคน ไหนจะเจอกับสิ่งเร้าสารพัดอย่างที่พร้อมจะดึงเราออกจากเส้นทางเดิม 

แต่เราสามารถเอาชนะกับความล้มเหลวเหล่านั้น ถ้ามีการวางแผนที่ดี ปีใหม่นี้จึงอยากชวนมาบรรลุเป้าหมายชีวิตให้สำเร็จ (ซะที) กับแนวทางการปรับพฤติกรรมด้วยแนวคิด SMART Goals ให้ยั่งยืน

ทำไมคนเรามักล้มเลิกง่าย?

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมคนเราถึงถอดใจง่ายๆ เมื่อเริ่มจะเปลี่ยนแปลงภารกิจอะไรสักอย่าง สาเหตุหลักที่พอสรุปได้ คือ

  • ตั้งเป้าหมายสูงเกินไปและต้องการผลลัพธ์ในทันที ทำให้รู้สึกท้อแท้ จนนำไปสู่รู้สึกว่าไม่สามารถทำได้จริง
  • ขาดแรงจูงใจที่แข็งแกร่ง 
  • สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย 
  • ขาดการวางแผนที่ชัดเจน : จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะเมื่อเราไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และขาดการคิด-ลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอน จะส่งผลให้รู้สึกสับสนและถอดใจไปในที่สุด
  • ขาดวินัย : อีกจุดที่สำคัญที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ต้องเป็นเรื่องที่กระทำทุกวัน ทำอย่างสม่ำเสมอ ช่วงแรกอาจจะยาก แต่ถ้าค่อยๆ เริ่มทีละเล็กละน้อย และทำประจำเหมือนกับการกินข้าว ดื่มน้ำที่ต้องทำสม่ำเสมอ ก็จะก่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมจนติดเป็นนิสัย ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จได้

เคล็ดลับพลิกพฤติกรรมด้วย SMART Goals

ก่อนจะไปแนะนำวิธีการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยแนวคิด SMART Goals ทำความรู้จักก่อนว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้ว จาก George T. Doran ที่เผยแพร่แนวคิดนี้ครั้งแรก ในบทความชื่อว่า “There’s a S.M.A.R.T. Way to Write Management’s Goals and Objectives” ตีพิมพ์ในปี 1981 ใน Management Review Journal เพื่อเป็นกรอบแนวคิดช่วยให้ผู้คนสามารถตั้งเป้าหมายที่มีความชัดเจนและมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก

SMART ย่อมาจาก 5 องค์ประกอบ ดังนี้

  1. S (Specific) : ตั้งเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ
  2. M (Measurable) : สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน
  3. A (Achievable) : เป้าหมายต้องเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง 
  4. R (Relevant) : เป้าหมายต้องสอดคล้องกับความต้องการ หรือความสำคัญในชีวิต ซึ่งข้อนี้ก็เหมือนสร้างแรงจูงใจ ค้นหาเหตุผลที่แท้จริงว่าต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร 
  5. T (Time-bound) : มีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมาย แนะนำให้มีการแบ่งกรอบเวลาย่อย หรือมิชชั่นย่อยออกมาทีละเล็กๆ แต่สามารถทำได้สม่ำเสมอ หรือแบ่งเป้าหมายใหญ่เป็นเป้าหมายย่อยๆ จะช่วยให้เห็นความคืบหน้าได้ชัดเจนขึ้น และรู้สึกว่าเป้าหมายอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดขึ้นได้ในทันที แต่หากทำอย่างต่อเนื่อง จะเห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และหมั่นให้รางวัลตัวเองเล็กๆ น้อยๆ เมื่อบรรลุเป้าหมายย่อย

ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย แนะนำว่าควรมีขั้นตอนการคิดดังนี้ 

  • Specific : วิ่ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • Measurable : ครั้งละ 30 นาที อาจจะมีนาฬิกามาช่วยจับเวลา 
  • Achievable : เริ่มจากวิ่งช้าๆ ในสวนสาธารณะ หรือในสถานที่ที่เอื้อต่อการวิ่ง หรือสถานที่ที่ชอบ เลือกอะไรที่สามารถทำได้จริง
  • Relevant : เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและลดน้ำหนัก 
  • Time-bound : ภายใน 3 เดือนแรกของปีนี้ เริ่มจากการวิ่งเส้นทางง่ายๆ ระยะสั้นๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อกิจกรรมนั้นรู้สึกว่าทำได้แล้ว ค่อยเพิ่มความยากทีละน้อย อย่างไรก็ตามขอเสริมตัวช่วยที่อยู่นอกเหนือจากแนวคิด SMART Goals โดยแนะนำเป็นหลักคิดสำหรับผู้เริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ได้แก่ 
  • หาแนวร่วมอุดมการณ์เดียวกัน : อาจจะเป็นเพื่อน, ครอบครัว หรือโค้ช ในกิจกรรมเดียวกัน เพราะการมีเพื่อนร่วมทางเดียวกัน จะเป็นการสร้างกำลังใจช่วยกันและกัน ให้ผ่านอุปสรรคระหว่างทางไปได้
  • เรียนรู้จากความผิดพลาดและเริ่มต้นใหม่ : เพราะการล้มเหลวเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ขอแค่เราพร้อมจะลุกขึ้นมาทำใหม่ โอกาสที่จะไปสู่จุดหมายยังมีอยู่เสมอ

 

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/SMART_criteria

https://www.scirp.org/reference/referencespapers?referenceid=2982408

https://www.achieveit.com/resources/blog/everything-you-need-to-know-about-smart-goals/