Selling, General & Administrative Expenses to Sale revenue ratio by top 5 developers
หากต้องการทราบถึงความสามารถในการขายหรือความเข้มแข็งของตราสินค้าว่าแบรนด์ใดมีประสิทธิภาพมาก TerraBKK Research ขอนำเสนอว่านอกจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภคแล้ว เรายังสามารถดูได้จากตัวเลขทางการเงิน คือ “ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (Selling, General & Administrative Expenses)” ได้อีกทางหนึ่ง
เพราะสัดส่วนทางการเงินนี้หากเจ้าได้ยังคงรักษาในระดับต่ำ แต่ยังคงสร้างความเจริญเติบโตด้านยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง นั่นสะท้อนให้เราเห็นว่าสินค้า และบริการของบริษัท นั้นๆมีฐานลูกค้าในใจที่ค่อนข้างมั่นคงจากการรวบรวมดูตัวเลขของผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 ราย เรียงลำดับตามความสามารถในการขายและการบริหารค่าใช้จ่ายได้ดังนี้
- บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
เริ่มต้นกันที่แชมป์ทำกำไรสูงสุดอย่างบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ในปีผ่านๆมาสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี โดยสามารถรักษา SG&A/Sale Ratio คงที่ตลอดระยะเวลา 5 ปี อยู่ที่ 11-12% และหากดูผลประกอบการในครึ่งปีแรกแล้ว แชมป์กำไรสูงสุดคงหนีไม่พ้นแลนด์แอนด์เฮ้าส์ไปอีกหนึ่งปี
ด้านบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ SG&A/Sale อยู่ในระดับ 10-13% แต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ต่อกันที่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่เห็นได้ว่ามีการใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงในช่วงปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับพฤกษา แต่ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพฤกษากลับมาโดดเด่นอีกครั้งด้วยการบริการทางการเงินที่ดีขึ้น ที่สามารถทำให้ SG&A/Sale ลงมาอยู่ที่ 15-16%
ในส่วนของบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ยังหวั่นไหวไปตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ SG&A/Sale ก็ยังอยู่ในระดับและสภาวะตลาดที่ 16-20%
ปิดท้ายด้วยบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่มี SG&A/Sale อยู่ในระดับ 20-26% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ และเมื่อประกอบกับยอดขายที่ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ทำให้ SG&A/Sale Ratio มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งนี้แสนสิริได้ออกมาปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่ในช่วงปลายปี 2557 โดยบริษัทจะออกมาดำเนินแผนธุรกิจ Engineer for Growth เช่น การรวมการจัดตั้งหน่วยงานกลางในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและ เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองราคาและควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย, การปรับการใช้งบการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทั้งหมดต่างก็คาดหวังว่าแผนธุรกิจนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของแสนสิริ