Financial Ratio 7 : Interest Coverage Ratio
เพราะการลงทุนด้วยเงินทุนกู้ยืม อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับผู้ที่ขาดเงินทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ และแน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาก็คือ ดอกเบี้ย ซึ่งจะกลายเป็นภาระผูกพันตัวสำคัญ ยาวต่อเนื่องไปอีกนาน กว่าจะถึงเวลาปลดหนี้ก้อนนั้น TerraBKK กล่าวถึง อัตราส่วนวัดภาระหนี้ อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้คำนวณหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ( Interest Coverage Ratio) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทำความเข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป TerraBKK อธิบายว่า ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) เป็นส่วนหนึ่งของอัตราส่วนวัดภาระหนี้ (Leverage Ratio) แสดงถึงโครงสร้างเงินทุนของธุรกิจว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินกิจการในอนาคตหรือไม่ อัตราส่วนนี้สามารถประยุกต์ใช้ เพื่อชี้วัดศักยภาพกิจการได้อย่างหลากหลาย เช่น
- กำหนดนโยบายทางการเงินของกิจการ เพราะดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลโดยตรงกับระบบการเงินของกิจการ ดังนั้น กิจการที่ดีควรให้ความสำคัญในความสามารถการจ่ายดอกเบี้ย เป็นหนึ่งในตัวกำหนดกรอบนโยบายทางการเงินของกิจการ
- ตรวจสอบสภาพคล่องทางการเงินภายในกิจการ สามารถชี้วัดได้ถึงความมั่งคงของกิจการ ในแง่ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกิจการได้
- ตรวจสอบความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ว่ากิจการสามารถรับผิดชอบดอกเบี้ยจ่ายนั้นได้ด้วยตนเองหรือไม่ กล่าวคือ สามารถนำกำไรจากการดำเนินงานมาจัดสรรในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายได้เพียงพอหรือไม่ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการพึ่งแหล่งเงินภายนอกกิจการโดยไม่จำเป็น
- ชี้วัดเครดิตกิจการ กรณีเจ้าหนี้ต้องการตรวจสอบสภาพหนี้ของกิจการ หากพบว่ากิจการมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยสูง ย่อมสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ เป็นภาพลักษณ์ที่ดี ของกิจการและดู กิจการมีเครดิตที่ดี ได้
- เป็นตัวสังเกตข้อมูลทางการเงินอื่น เช่น หากกิจการมีอัตราส่วนนี้ลดลง อาจมีสาเหตุมาจาก กิจการมีกำไรจาการดำเนินงานลดลง , กิจการกู้ยืมเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยจ่ายสูงเกินไป , กิจการทำการกู้ยืมเงินเพิ่ม ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม เป็นต้น
ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) สามารถคำนวณได้ ดังนี้
TerraBKK อัตราส่วนวัดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยนี้ เป็น การเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่าง "กำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)" กับ "ดอกเบี้ยจ่าย" ซึ่ง "กำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)" คือ ผลรวมของยอดขาย หักต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายทั้งหมด หากนำกำไรจากการดำเนินงานนี้ ไปหักส่วนของ ภาษีเงินได้และดอกเบี้ยจ่าย ก็จะกลายเป็นกำไรที่เรียกว่า "กำไรสุทธิ" ดังนั้น หากใช้ กำไรสุทธิ มาคำนวณหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย จึงต้องบวกกลับภาษีเงินได้และดอกเบี้ยจ่าย ก่อนนำมาคำนวณหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย นั้นเอง สำหรับผลลัพธ์การคำนวณ ( ยิ่งสูงยิ่งดี ) สามารถแปลความหมายได้ ดังนี้
- มากกว่า 1 เท่า : กิจการ ไม่มีความเสี่ยง ด้านความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย สามารถนำกำไรจากการดำเนินงานมาจ่ายดอกเบี้ยจ่ายได้อย่างสบาย
- น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า : หากคำนวณได้ 1 เท่า แสดงว่ากิจการมีสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานและดอกเบี้ยจ่ายเท่ากันแบบ 1:1 หากน้อยกว่า 1 เท่า แสดงว่า กิจการสามารถนำกำไรจากการดำเนินงานมาจ่ายดอกเบี้ยคืนได้เพียงบางส่วน กิจการ ควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพิ่มความสามารถทางการเงิน เช่น เจรจาขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสามารถกิจการ เป็นต้น
- น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0 (ติดลบ) : กิจการไม่มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้การดำเนินกิจการต่อไป มีความเสี่ยงสูงมาก
TerraBKK ยกตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้
"กู้ยืมเงินจำนวน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี (คิดเป็น 50,000 ต่อปี) เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ หลังจากดำเนินกิจการครบปี กิจการมียอดขายรวม 1,200,000 บาท มีต้นทุนขายรวม 480,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการขายรวม 360,000 บาท"
จากตัวอย่าง จะพบว่า กิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT) = 1,200,000 – (480,000 + 360,000 ) = 360,000 บาท ดังนั้น กิจการจะมี ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย = กำไรจาการดำเนินงาน /ดอกเบี้ยจ่าย = 360,000 / 50,000 = 7.2 เท่า แสดงว่า กิจการมีความมั่นคงดี มีสภาพคล่องดี และสามารถนำกำไรจากการดำเนินงานมาจ่ายดอกเบี้ยได้อย่างสบาย การดำเนินงานของกิจการ จึงไม่มีความเสี่ยงด้านภาระหนี้ใดๆทั้งสิ้น ท้ายนี้TerraBKK ขอฝากไว้ว่า กิจการใดก็ตาม แม้ว่ามีอัตราวัดภาระหนี้ ด้านความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ย่อมเป็นเรื่องดี และถือเป็นเครดิตที่ดีของกิจการ แต่ก็ไม่ควรหลงละเลิงใจ ทั้งนี้ การดำเนินกิจการให้ประสบความสำเร็จ ยังคงประกอบด้วยปัจจัยหลายส่วน จำเป็นต้องใช้อัตราส่วนทางการเงินหลากหลายด้าน จึงจะเป็นการตรวจสอบศักยภาพของกิจการอย่างแท้จริง
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก