พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน : เรือนไทยที่ยังเหลือไว้ใจกลางกรุง
การที่ใครสักคนจะมองความงามของบางสิ่งบางอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก เพียงกวาดสายตามองผาดไปแล้วเห็นของสวยหรือสิ่งถูกใจก็เพียงแค่ว่างามถูกจริต ทว่าการมองความงามเข้าไปให้ลึกจนเห็นคุณค่า แล้วจนที่สุดก็ฝังใจอยู่กับความงามนั้นจนกลายเป็น “หลงใหล” จะต้องใช้ทั้ง “สายตา” และต้องใช้ “หัวใจ” มองสิ่งนั้นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ยากเหลือเกินเมื่อการมองนั้นเป็นการมองความงามแบบไร้กำแพงแห่งเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และพรมแดน...อย่างที่เมื่อย้อนหลังไปเกือบ 70 ปีที่แล้ว มิสเตอร์ เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน ( James Harrison Wilson Thompson) บุรุษอเมริกันผู้เดินทางมาไกลจากคนละซีกโลก ได้ใช้ทั้งสายตาและหัวใจ มองและเห็นความงามอันยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมและศิลปะของประเทศเล็กๆ อันแสนสงบงดงาม จนติดตาตรึงใจเขายิ่งนัก...
ความระอุร้อนของเปลวแดดบ่ายที่เต้นยิบอยู่ที่ปลายหางตาที่หรี่หลบแสงอาทิตย์ที่แผดกล้ากลับกลายเป็นผ่อนเบาลงทันทีที่สองเท้าย่างเข้าสู่ปริมณฑลอันร่มครึ้มของ “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน” หรือที่ใครต่อใครมักจะเรียกสั้นๆ ว่า “บ้านจิม”
ภายในพื้นที่หมู่เรือนไทยเก่าแก่ 6 หลังที่เร้นกายอยู่อย่างเงียบเชียบและสง่างามผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ที่ท้ายซอยเกษมสันต์ 2 ซอยเล็กๆ ริมถนนพระราม 1 ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติมากนัก เงาไม้หลากพันธุ์ทั้งไม้ยืนต้นที่อายุเฉียดร้อยปี รวมถึงบรรดาเฟิร์น มอส และบ่อน้ำ โอ่งน้ำน้อยใหญ่ ให้ความรู้สึกชุ่มฉ่ำ ชุ่มชื้น จนแทบไม่น่าเชื่อว่า ความครึ้มเขียวเย็นนี้ จะอยู่ห่างจากถนนใหญ่ที่เต็มไปด้วยความจอแจและเสียงยวดยานอันอึกทึกเพียงแค่ไม่กี่ร้อยเมตร
บริเวณด้านหน้าสุดของพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน เป็นพื้นที่รับรองนักท่องเที่ยวที่มา ในรูปแบบของร้านอาหาร “จิมทอมป์สันเรสเตอรองท์แอนด์ไวน์บาร์” ( Jim Thompson Restaurant and Wine Bar) ที่เปิดบริการนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนตลอดทั้งวัน
เมื่อเดินเลยส่วนที่เป็นร้านอาหารเข้ามาในบริเวณหมู่เรือนไทยด้านใน จะพบส่วนที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ซึ่งในส่วนนี้มีทั้งมัคกุเทศก์ของทางพิพิธภัณฑ์ฯ รอให้ข้อมูลและนำชมทั้งแบบเวอร์ชั่นภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ , ฝรั่งเศส , และ ญี่ปุ่น)
และที่ตรงนี้เองที่ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักมิตรใหม่ผู้ใจดี...พี่ต้อม – นัทธีรา อยู่มงคล ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน เอื้อเฟื้อพาชมพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน พร้อมให้ความรู้และการบรรยายโดยละเอียดด้วยตัวเอง
ประวัติโดยย่อของมิสเตอร์ เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน หรือที่คนไทยรู้จักในดีในนามของ “จิม ทอมป์สัน” นั้น พี่ต้อมได้เล่าคร่าวๆ ให้ฟังว่า ราวปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ.2488) ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง มิสเตอร์จิมผู้ผันตัวเองจากหนุ่มสถาปนิกแห่งมหานครนิวยอร์ก มาเป็นทหารอาสาร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย ทว่าสงครามจบเสียก่อน ทำให้พำนักอยู่ในประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าสถานียุทธศาสตร์ในกรุงเทพ และมีหน้าที่ฟื้นฟูสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกา โดยระหว่างนี้ ชายหนุ่มผู้มาจากอีกซีกโลกรายนี้ ได้เห็นแง่งามของ "ไหมไทย" จึงได้ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจ และจับตลาดการรับซื้อไหมไทยเพื่อส่งออกไปยังอเมริกา
..กรุงเทพฯ ในยุคนั้น มีแหล่งผลิตผ้าไหมชั้นเลิศอยู่ที่ “ชุมชนบ้านครัว” อันเป็นชุมชนคนมุสลิมริมคลองมหานาค เขตราชเทวี...
“สมัยนั้นแทบทุกหลังคาเรือนในชุมชนบ้านครัว มีอาชีพทอผ้าไหมทั้งนั้น แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 หลังเท่านั้นที่ยังคงทอผ้าไหมอยู่” พี่ต้อมอธิบาย
ระยะแรกที่มิสเตอร์จิมปักหลักอยู่ในประเทศไทย เขาพักอยู่ที่โรงแรมโอเรียลเต็ล และถัดมาได้เช่าบ้านสองหลังละแวกศาลาแดงเอาไว้ แต่เนื่องจากภายหลังที่ของสะสมเพิ่มขึ้น มิสเตอร์จิมก็ตัดสินใจที่จะสร้างบ้านที่นี่ในที่สุด และเหตุที่เขาเลือกที่ดินอันเป็นที่ตั้งของบ้านของเขา ที่ภายหลังต่อมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในยุคปัจจุบันนั้น ก็เพราะห่างจากชุมชนบ้านครัวเพียงลำคลองกั้น และเป็นพื้นที่ท้ายซอยที่ยังมีบรรยากาศของความเป็นชนบทอยู่มาก
หมู่เรือนไทยภายในบ้านของมิสเตอร์จิม ส่วนหนึ่งเป็นเรือนที่เจ้าตัวเดินทางไปเลือกเองจากจังหวัดอยุธยา เป็นบ้านไม้เก่าอายุเกินหนึ่งศตวรรษแล้วทั้งนั้น เมื่อถูกใจก็ติดต่อขอซื้อ และถอดเป็นชิ้นๆ นำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อ จะมา “ปรุง” ใหม่บนที่ดินริมน้ำที่ซื้อไว้นี้ และได้ดัดแปลงออกแบบบางส่วนตามความรู้เชิงสถาปัตย์ จนกลายมาเป็นหมู่เรือนไทยที่สวยงามยิ่งอย่างในปัจจุบัน และนอกจากนี้ ยังมีบ้านอีกสองหลังจากฝั่งบ้านครัว โดยหนึ่งในสองหลังเป็นของขวัญที่ได้จากช่างทอผ้าในชุมชนอีกด้วย
ตำนานความเป็นราชาไหมไทยของมิสเตอร์จิม ปิดฉากลง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510 ) เขาเดินทางไปพักผ่อนตากอากาศกับเพื่อน ที่บริเวณที่ราบสูงคาเมรอน เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย เขาหายตัวไปอย่างลึกลับ มีเพียงคำบอกเล่าของพยานที่ระบุว่า มิสเตอร์จิมทิ้งกล่องใส่บุหรี่และกล่องยาประจำตัววางไว้ที่โต๊ะหน้าบ้านพัก แล้วเดินเข้าป่าที่อยู่ไม่ห่างจากบ้านพัก แล้วก็หายสาบสูญไป ทางการมาเลเซียระดมตำรวจกว่า 300 นาย ติดตามค้นหา และกลุ่มเพื่อนของมิสเตอร์จิมก็ออกติดตามหาด้วย เป็นระยะเวลายาวนานถึง 2 ปี ก็ไม่พบหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นหลักฐานแสดงถึงการมีชีวิตอยู่ หรือหลักฐานที่ระบุว่ามิสเตอร์จิมเสียชีวิตแล้ว
ทว่าแม้ตำนานความเป็นราชาไหมไทยจะปิดฉากลงนับจากการหายสาบสูญของมิสเตอร์จิม แต่สิ่งที่เขาส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง นอกจากเรื่องของไหมไทยที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีแล้ว อีกด้านหนึ่งของสุภาพบุรุษอเมริกันรายนี้ คือสายตาแห่งศิลปิน ที่สามารถมองเห็นความงามของศิลปวัตถุในแทบจะทุกแขนง และความรักที่จะสะสมวัตถุโบราณอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ เพื่อส่งต่อให้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป
ภายในเรือนประธานหรือเรือนใหญ่ อันเป็นเรือนที่มิสเตอร์จิมเคยใช้เป็นที่กิน ที่นอน และที่ทำงาน ในสมัยยังพักอาศัยอยู่ที่นี่ ปัจจุบันปรับปรุง ซ่อมแซม และอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพคล้ายของเดิมที่สุด แต่ปรับเปลี่ยนเฉพาะนำของสะสมอันประเมินค่ามิได้ อันเป็นของสะสมส่วนตัวของมิสเตอร์จิม ที่ถูกนำมาจัดแสดงไว้ในห้องต่างๆ ของบางชิ้นเป็นของธรรมดาสามัญเมื่อราว 100 ปีก่อน แต่เป็นของที่คนไทยอาจจะเห็นเป็นสามัญธรรมดาและไม่ได้เก็บรักษาเอาไว้
ของสะสมของมิสเตอร์จิม มีทั้งศิลปวัตถุจำพวกเครื่องกระเบื้องเคลือบ ไม่ว่าจะเป็น
เครื่องกระเบื้องจีน อันเป็นคอลเลกชั่นนับแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายครามที่ส่งออกในสมัยราชวงศ์หมิง หลายชิ้นได้มาจากอยุธยาเป็นของที่ส่งมาจากเมืองจีนระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15– 17
เครื่องเคลือบลพบุรี- เขมร ศิลปวัตถุสีน้ำตาลเข้มเป็นลักษณะที่เด่นชัด ทำในบริเวณอาณาจักร ลพบุรีในคริสต์ศตวรรษที่ 12
เครื่องสุโขทัยและสวรรคโลก เครื่องกระเบื้องของไทยที่ผลิตใน คริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15
เครื่องเบญจรงค์และเครื่องเคลือบลายน้ำทองเขียนลายไทย ศิลปะสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18-19
ในขณะที่ของสะสมประเภทปฏิมากรรม หรือพระพุทธรูปนั้น ก็มีมากมายจนถือได้ว่าเป็นคอลเลคลั่นไฮท์ไลท์ของที่นี่ เพราะมีทั้งพระพุทธรูปสมัยต่างๆ รวมถึงชิ้นส่วนพระพุทธรูปเก่าแก่ จากหลายประเทศในแถบ มีศิลปวัตถุ ชิ้นงามๆที่แสดงให้เห็นรูปแบบหลักๆของศิลปกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชิ้นสำคัญๆ น่าชมได้แก่
พระวรกายของพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยทวาราวดี ตั้งแสดงไว้ในพื้นที่โล่ง ใต้ถุน บ้านส่วนที่เป็นห้องอาหาร พระพุทธรูปนี้มีอายุตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 หรือ 8 พบอยู่ที่จังหวัดลพบุรีในภาคกลางของประเทศไทย
หรือที่ถือว่าเป็นของรักที่สุดองค์หนึ่งของเจ้าของบ้าน เนื่องจากนำไปไว้ในห้องทำงาน เป็นพระพุทธรูปครึ่งองค์ขนาดใหญ่แกะสลักจากหินปูนได้มาจากแถบลพบุรี เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี คริสต์ศตวรรษที่ 8
ทั้งยังมี “พระแผง” โบราณขนาดใหญ่ ทำมาจากดินเผาประดับด้วยกระจกสี บรรจุพระไว้ถึง 450องค์ ทว่าน่าเสียดายที่บางองค์ถูกหัวขโมยเจาะลักเอาไปจนเป็นช่องโหว่ แต่ก็ถือว่าสมบูรณ์มากและหาชมได้ยากอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังมีภาพจิตรกรรมจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเชิงพุทธศาสนา รวมถึงคอลเล็คชั่นผ้าพระบฏสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 อีกด้วย
ส่วนสิ่งละอันพันละน้อยน่ารักน่าเอ็นดู ที่มิสเตอร์จิมได้สะสมเอาไว้นั้น บางสิ่งบางอย่างสำหรับบางคนอาจจะเพิ่งเคยเห็นที่นี่เป็นครั้งแรก อาทิ "โกลนช้าง" , ประตูโรงรับจำนำสมัยเก่า และ “บ้านหนู” ฝีมือช่างแกะสลักชาวจีนในคริสต์ศตวรรษที่19 อันเป็นของเล่นของเด็กจีน ในการนำหนูขาวมาแต้มสี ของใครของมัน แล้วปล่อยในบ้านหนูซึ่งออกแบบให้มีหลายคูหา หลายช่อง หนูของใครออกมาก่อนตัวแรก ถือว่าเป็นผู้ชนะ
“ตามปกติที่นี่มีโอกาสรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนวันละประมาณ 700-800 คน” พี่ต้อมเอ่ยทิ้งท้ายเมื่อพาชมภายในเรือนประธานเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย
“แต่มีคนไทยค่อนข้างน้อยค่ะ”
และเมื่อถามถึงสัดส่วนการมาเยือนของชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ได้รับคำตอบอันชวนให้รู้สึกถึงอารมณ์บางอย่างอันยากจะบรรยาย
“เมื่อก่อนนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวตะวันตก จากยุโรปและอเมริกา ระยะหลังมีจากเอเชียมากขึ้น เป็นจีนและญี่ปุ่น คนไทยเพิ่งจะนิยมมาเที่ยวเอาไม่นานมานี้ คิดสัดส่วนตอนนี้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งหมด จะมีคนไทยประมาณร้อยละ5 โดยประมาณ”
เขียนถึงตรงนี้...ในฐานะที่ไปเยือนและไปซึมซับทั้งความงามและความรู้มาแล้ว อดฉงนใจมิได้ ว่าเหตุใดสิ่งที่เป็นความรู้ ความงามเหล่านี้ ไม่ใคร่จะเป็นที่สนใจของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของประเทศ และเจ้าของวัฒนธรรม และเหตุใดชาวต่างชาติอย่างมิสเตอร์จิมเสียอีก ที่เป็นฝ่ายสะสมของไทยงามๆ ทั้งหลาย ไว้ให้คนไทยรุ่นหลังๆ ได้เห็น
เชิญชวนมาชมกันมากๆ เถิดครับ แล้วคุณจะรู้ว่า...เพียงวันเดียว การชมและการศึกษาสิ่งต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน อาจจะไม่เพียงพอ...แล้วคุณจะรู้ว่า...ในความเก่า ในโมงยามแห่งอดีต และในความถวิลหาวันวาน ณ ที่แห่งนี้ ให้อะไรมากกว่าที่คุณคาดคิด
พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ตั้งอยู่ในซอยเกษมสันต์ 2 บนถนนพระราม 1 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ
เวลาเปิด:09.00-17.00น. ทุกวัน กำหนดเวลาของทัวร์ที่มีมัคคุเทศก์นำชม รอบสุดท้ายอยู่ที่เวลา 17.00 น. (การเข้าชมต้องมีมัคคุเทศก์นำชมโดยรอบบ้าน)
การเดินทาง : สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่กลางใจเมืองกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปได้ทางรถยนต์ แท็กซี่ สามล้อเครื่อง หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส
ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 100 บาท นักเรียนนักศึกษา 50 บาท , นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี 50 บาท (โปรดแสดงบัตร)
TerraBKK แนะนำสถานที่พักใกล้ พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน คือ Bangkok Vacation House ใช้เวลาเดินเพียง 1 นาทีจากสถานี BTS สนามกีฬาแห่งชาติ และศูนย์การค้ามาบุญครอง ประกอบด้วยอพาร์ตเมนต์ปรับอากาศแบบ 1 ห้องนอนที่ทันสมัยที่มีอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ฟรี สระว่ายน้ำ และที่จอดรถส่วนตัวฟรี
อพาร์ตเมนต์แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจาก Jim Thompson House 60 เมตร ใช้เวลาเดินเพียง 7 นาทีจากสยามพารากอนและสยามสแควร์
Apartments at Bangkok Vacation House มีการตกแต่งที่ทันสมัย ห้องพักแต่ละห้องประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่นแยกเป็นสัดส่วน ทีวีจอแบนขนาด 42 นิ้ว เครื่องเล่นภาพยนตร์ระบบ HD ลำโพงไอโฟน / ไอพอด / ไอแพด พื้นที่รับประทานอาหารมีห้องครัวที่มีตู้เย็น และห้องน้ำในตัวมีฝักบัว
ท่านสามารถสำรองที่พักเพื่อรับส่วนลดพิเศษผ่าน http://www.booking.com รูปถ่ายเดินเท้า โดย “แมวหง่าว” เรื่องเล่าเดินทาง โดย “อักษรจรจัด”
ขอบคุณข้อมูลจาก : travel.truelife.com
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com
Facebook : TerraBKK Facebook
Google+ : TerraBKK Google+
Twitter : TerraBKK Twitter
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.