มหันตภัยเงียบ“สารอินทรีย์ระเหยง่าย”เลี่ยงได้ด้วยโครงการอาคารเขียว
สภาพสิ่งแวดล้อมในอาคาร หรือ Indoor Environmental Quality (IEQ) นับเป็นอีกหนึ่งหมวดพิจารณาของหลายข้อกำหนดและมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ไม่ว่าจะเป็น LEED หรือ TREES และอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมในอาคารเป็นส่วนที่สัมผัสใกล้ชิดที่สุดต่อผู้ใช้อาคาร และโดยตรง ในแง่ของสุขภาวะและความน่าสบาย
ทั้งนี้ ในขั้นตอนกระบวนการของการก่อสร้างโครงการนั้น ประกอบด้วยสารเคมีต่างๆมากมาย อาทิ กาวและสารยึดติด (Adhesive) สารยาแนว (Sealant) สีทาภายในอาคาร (Paint) สารเคลือบต่างๆ (Coating) รวมไปถึงวัสดุปูพื้นจำพวกพรม (Carpet) หรือแม้กระทั่งในเครื่องเรือน (Furniture) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่จะมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย แฝงตัวเป็นมหันตภัยเงียบ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคารทั้งสิ้น
สารอินทรีย์ ระเหยง่าย หรือ Volatile Organic Compound (VOCs) คือ สารในกลุ่มของสารประกอบอินทรีย์ )Organic Compounds) ที่สามารถระเหยกลายเป็นไอ และยังจะสามารถกระจายตัวไปในอากาศได้โดยง่าย ในสภาวะอุณหภูมิและความดันปกติ (ประมาณอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส และความดัน 1 บรรยากาศ) ไอของสารเหล่านี้ สามารถที่จะแปรเปลี่ยนรูปกลับเป็นของเหลว หรือของแข็งตามสภาวะเดิมได้โดยการเพิ่มอุณหภูมิหรือลดความดันจากสภาวะปกติดังกล่าว
โมเลกุลส่วนใหญ่ ของสารอินทรีย์ระเหยง่ายประกอบด้วยอะตอมของ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และอาจจะมีออกซิเจน (O) หรือธาตุฮาโลเจน เช่น คลอรีน (Cl) โบรมีน (Br)ร่วมอยู่ด้วย สารอินทรีย์ระเหยง่ายบางตัวอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งร้ายแรงได้ โดยที่สารอินทรีย์ระเหยง่ายจะสามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้ใช้อาคารได้ 3 ทางคือ การหายใจ, การกิน และ การสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งตามข้อกำหนดมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) จะเน้นพิจารณาทางการหายใจเป็นหลัก
ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายที่สุด โดยหลังจากที่สารอินทรีย์ระเหยง่ายเข้าสู่ร่างกายของผู้ใช้อาคารแล้ว จะไปสู่การกำจัดโดยตับ ซึ่งหากได้รับปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายมากจนเกินไป จะเกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย จนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในที่สุด
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารและโครงการต่างๆ ได้มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายแฝงตัวอยู่ในสารเคมีที่ใช้ในกิจกรรมก่อสร้างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสำหรับงานสถาปัตยกรรม ที่จะต้องมีการติดยึด เชื่อมต่อ หรือปรับระดับให้เรียบเสมอกัน รวมไปถึงงานระบบต่างๆโดยเฉพาะระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ที่อาจจะต้องมีการติดตั้งโดยร่วมกับการติดฉนวนกันความร้อนด้วยกาว เป็นต้น
ถึงแม้ว่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายยังจะต้องคงอยู่ในสารเคมีต่างๆ แต่เราก็สามารถเลี่ยงได้ โดยการนำกลไกตามมาตรฐานข้อกำหนดอาคารเขียว (Green Building) มาใช้ได้ เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าว ได้มีการกำหนดค่าปริมาณต่ำสุดของสารอินทรีย์ระเหยง่าย(VOCs Limit) ในรายสารเคมีที่ใช้ในทุกๆกิจกรรมของการก่อสร้าง ในหน่วยของ Weight/Volume หรือ กรัมต่อลิตร ปราศจากน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดเพดานปริมาณสารพิษไม่ให้สูงเกินไปกว่านี้ อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคารได้
ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ผู้ใช้อาคารจะเข้าพื้นที่ หรือ ช่วง Occupancy Phase นั้น จะมีกระบวนการ Flush Out ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่จะดูดเอาอากาศจากภายนอกอาคารหรือโครงการ เป่าสารพิษที่อาจจะสะสมอยู่ตามบริเวณต่างๆในอาคารจากกิจกรรมก่อสร้าง ให้เบาบางและลดลงจนหมดไป ด้วยอัตราที่เหมาะสมตามที่ข้อกำหนดอาคารเขียว (Green Building) ได้กำหนด
ซึ่งส่วนใหญ่ได้กำหนดไว้ที่ 14,000 ลูกบาศก์ฟุต ต่อ ตารางฟุต ตามมาตรฐาน LEED เป็นต้น โดยการ Flush อากาศในแต่ละครั้งนั้น จำต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ที่จะให้สารพิษสะสมอยู่นั้น เบาบางและหมดไปได้โดยง่าย คือในสภาวะที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาฟาเรนไฮน์ และความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน ร้อยละ 60 หรือโครงการสามารถที่จะเลือกอีกทางเลือกหนึ่งทดแทน
นั่นก็คือ เลือกใช้วิธีในการทดสอบ หรือ Air Testing โดยการเก็บตัวอย่างอากาศในอาคารในแต่ละบริเวณ เพื่อไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมี ว่ามีปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้อาคารแล้วหรือไม่ จึงจะสามารถอนุญาตให้เริ่มใช้อาคารได้ในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ใช้อาคารได้มีสุขภาพอนามัยที่ดี จากการใช้อาคารและโครงการที่เป็นไปตามมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building)
ข้อมูลดีดีจาก : buildernews
http://www.buildernews.in.th/page.php?a=10&n=146&cno=8682
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.