โดย คุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน) อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8 1. การมอบอำนาจ คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวการ มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทน และการกระทำนั้นมีผลทางกฎหมายเสมือนว่าตัวการทำด้วยตนเอง

การมอบอำนาจให้ทำกิจการใด ถ้าหากกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือการมอบอำนาจให้ทำกิจการนั้น ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย เช่น การซื้อขายที่ดินกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้ขายที่ดินก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย โดยจะใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดินหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีสาระสำคัญครบถ้วน แต่เพื่อความสะดวก ควรใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดิน โดยผู้นั้นจะต้องทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ไปทำการแทน จะต้องมอบบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านตัวจริง ของผู้มอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เหตุที่ต้องเอาตัวจริง เพราะถ้าจะมีการปลอมแปลง หนังสือมอบอำนาจ ก็จะต้องทำการปลอมบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านด้วย ทำให้ทำทุจริตได้ยากขึ้น หากใช้แต่ภาพถ่ายก็ทำปลอมง่ายซึ่งเรื่องนี้จะต้องเข้าใจว่า สำนักงานที่ดินต้องการรักษาผลประโยชน์ขอประชาชน(เจ้าของที่ดินและคนซื้อ) ไม่ใช่เพื่อการตุกติกให้ล่าช้าแต่อย่างใด

หนังสือมอบอำนาจ มีอยู่ 2 แบบ สำหรับ ที่ดินมีโฉนดแล้ว แบบหนึ่ง กับ ที่ดินที่ยังไม่มีโฉนด (หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น บ้านอย่างเดียว) อีกแบบหนึ่ง หากจะใช้กระดาษอื่นควรเขียนข้อความอนุโลมตามแบบพิมพ์ของกรมที่ดิน เพราะจะได้รายการที่ชัดเจนและถูกต้อง (ดาวน์โหลดแบบพิมพ์ใบมอบอำนาจของกรมที่ดินได้ที่ www.dol.go.th)

ตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจที่ดิน ทด.21

ตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจที่ดิน "ทด.21"

7 คำเตือนเพื่อรักษาประโยชน์ของเจ้าของที่ดินและผู้ที่เกี่ยวข้อง (ข้อความหลังใบมอบอำนาจ)
  1. ให้กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหรือ อสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เช่น ตึก,บ้านเรือน,โรง,ให้ชัดเจน
  2. ให้ระบุเรื่องและอำนาจจัดการให้ชัดเจนว่า มอบอำนาจให้ทำอะไร เช่น ซื้อขาย จำนอง ฯลฯ ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมก็ให้ระบุไว้ด้วย
  3. อย่ากรอกข้อความให้ต่างลายมือและใช้น้ำหมึกต่างสีกัน ถ้าใช้เครื่องพิมพ์ดีดก็ต้องเป็นเครื่องเดียวกัน
  4. ถ้ามีการขูดลบ ตกเติม แก้ไข ขีดฆ่า ให้ระบุว่า ขีดฆ่าตกเติมกี่คำ และผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกแห่ง
  5. อย่าลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ ก่อนกรอกข้อความครบถ้วน และถูกต้องตามความประสงค์แล้วหรืออย่าลงชื่อในกระดาษเปล่าซึ่งยังมิได้กรอกข้อความเป็นอันขาด
  6. ให้มีพยานอย่างน้อย 1 คน ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยาน 2 คน พยานต้องเซ็นชื่อจะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้
  7. หนังสือมอบอำนาจ ทำในต่างประเทศควรให้สถานทูตหรือสถานกงสุล หรือโนตารีปับลิค (notary public) รับรองด้วย

ธุรกรรมและสัญญา TerraBKK รวบรวมหนังสือและสัญญาต่างๆ ดังนี้ หนังสือมอบอำนาจ การซื้อ ขาย จำนอง เอกสารสิทธิ นส3 นส3ก, หนังสือมอบอำนาจ การซื้อ ขาย จำนอง โฉนดที่ดิน, หนังสือมอบอำนาจ การซื้อ ขาย จำนอง อาคารชุด, สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด, สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน, สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง, สัญญาเช่าที่ดิน, สัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 ...

บางเรื่องผู้มอบอำนาจเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่าย คือ เป็นตัวแทนทั้งฝ่ายผู้โอน และผู้รับโอน ในกรณีเช่นนี้ ผู้มอบอำนาจจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ด้วยว่า ยินยอมให้ผู้รับมอบเป็นผู้แทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วย (มาตรา 805 แห่ง ป.พ.พ.)

ในส่วนผู้รับซื้อ หรือ ผู้รับสิทธิในนิติกรรม มีหน้าที่ระมัดระวังด้วย โดยจะต้องรู้จักตัวเจ้าของที่ดินที่แท้จริง ต้องรู้จักเจ้าของที่ดินว่ามีตัวตนและมีชีวิตอยู่หรือไม่ มีเจตนาจะขายที่ดินจริงหรือไม่ หากไม่รู้จักเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเสียเลย ย่อมเป็นการผิดวิสัย ถ้าไม่แน่ใจก็อาจขอตรวจดูหลักฐานที่ดินที่สำนักงานที่ดินก่อนได้

2. คำชี้แจงเพิ่มเติมจากผู้เขียน (คุณหมอที่ดิน)
  1. ให้ลอกเครื่องหมายที่ดินจากตัวโฉนดใส่ให้ครบทุกช่อง (ลอกให้หมดแม้ข้อความในวงเล็บ/ถ้ามีด้วย เช่น อำเภอเมือง(นครชัยศรี)) ซึ่งข้อความในแบบพิมพ์ หนังสือมอบอำนาจ ชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ยกเว้นเพียงคำว่า เลขที่........ซึ่งคนส่วนมากจะสงสัยว่าเลขที่อะไร เลขที่.......ในที่นี้หมายถึงเลขที่ดิน... กับอีกเรื่องหนึ่ง การนับอายุจะต้องนับปีย่างไม่ใช่ครบปีบริบูรณ์ เช่น 21 ปีบริบูรณ์เวลากรอกต้องใส่ว่า 22 ปี ทางที่ดินเขาถือปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด
  2. การเขียนหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความตายตัว ตัวอย่างที่ยกมาให้ดูนี้มุ่งให้มีความชัดเจนที่สุดไม่ให้เกิดข้อสงสัย ข้อความจึงอาจต่างจากที่เคยพบเห็นได้ และบางกรณีผู้เขียนเองก็จงใจจะใช้ข้อความที่ให้แตกต่าง หรือสลับลำดับกันออกไปบ้าง ก็เพื่อให้เห็นว่าอย่างนี้ก็ใช้ได้ ในการกรอกข้อความ ถ้าหากช่องว่างไม่พอก็ให้เขียนลงไปในที่ว่างที่ต่อเนื่องกันได้ จนครบข้อความที่ต้องการเขียน และให้สังเกตว่าจะต้องจบลงด้วยคำว่า “ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” เสมอ เพราะการมอบอำนาจให้ดำเนินการใด ๆ จะต้องมีการสอบสวนให้ถ้อยคำยืนยันเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมเสมอ
  3. เนื่องจากข้อความต่าง ๆ เป็นไปตามแบบพิมพ์แล้ว จะมีส่วนที่เปลี่ยนแปลงก็เฉพาะชื่อเรื่องกับสิ่งที่มอบหมายให้ดำเนินการเท่านั้น การให้ตัวอย่าง จึงจะยกแต่ชื่อเรื่องและการมอบให้จัดการ รวมทั้งลักษณะเหตุการณ์จริงที่ทำให้เกิดการมอบอำนาจเท่านั้น (ให้พิจารณาเลือกตัวอย่างให้ตรงกับลักษณะเหตุการณ์จริง บางกรณีก็ดัดแปลงขอความเอาเองได้ตามรูปเรื่อง)
  4. หนังสือมอบอำนาจ หนึ่งฉบับ จะมีคนมอบอำนาจร่วมกันหลายคนก็ได้ แต่ควรเป็นการมอบให้ขายด้วยกัน หรือซื้อด้วยกัน เพราะข้อความจะไม่สับสน และต้องกรอกอายุ ชื่อพ่อแม่ ให้ถูกต้องตรงกับลำดับชื่อคนมอบด้วย แต่ถึงแม้ว่าจะมอบอำนาจในฉบับเดียวกันได้ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วไม่ควรมอบอำนาจในฉบับเดียวกัน
  5. หนังสือมอบอำนาจ ฉบับเดียวกัน จะมอบให้ดำเนินการหลายเรื่อง ก็ได้ไม่มีข้อห้าม แต่ต้องเขียนให้ชัดอย่าสับสน
  6. หนังสือมอบอำนาจ ต้องให้มีพยานเซ็นด้วยหนึ่งคน การให้คู่สมรสของผู้มอบอำนาจเซ็นเป็นพยานก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสทำนิติกรรมควบคู่ไปด้วย
  7. ในการพิมพ์นิ้วมือ กรมที่ดินให้ใช้พิมพ์หัวแม่มือซ้าย ไม่ใช่ข้างขวา เรื่องนี้เป็นวิธีการปฏิบัติมาแต่ต้นแล้วเพราะเขาเห็นว่ามือขวาส่วนใหญ่ใช้งานหนักลายมืออาจสึกมากกว่าด้านซ้าย (ไม่ต้องถามว่าแล้วคนถนัดซ้ายล่ะ นั่นมันก็จริง แต่เขาเอาส่วนใหญ่ไว้ก่อน)
  8. หนังสือมอบอำนาจ เมื่อทำขึ้นแล้วต้องรีบไปดำเนินการ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากปล่อยไว้นานไปเจ้าหน้าที่อาจไม่ดำเนินการให้ เพราะไม่แน่ใจว่าผู้มอบอำนาจยังมีชีวิตอยู่ หรือว่ามีการยกเลิกหนังสือมอบอำนาจ หรือไม่
  9. กรณีที่คิดว่าจะเซ็นชื่อไม่คล้ายลายเซ็นเดิม และไม่สามารถไปดำเนินการด้วยตัวเองได้จริง ๆ ให้ผู้มอบอำนาจไปติดต่อที่อำเภอ เพื่อทำหนังสือมอบอำนาจต่อหน้านายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอจะดำเนินการให้และจะพิมพ์ข้อความรับรองว่าได้เซ็นต่อหน้าและประทับตรารับรองมาด้วย ปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ที่ดินเห็นมีคำรับรองมาก็จะดำเนินการจดทะเบียนให้ (แน่นอนว่าหลังตรวจสอบข้อมูลอื่น ๆ แล้วไม่ผิดพลาด)แม้ว่าลายเซ็นจะไม่คล้ายของเดิมมากนักก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามถ้าลายเซ็นผิดเพี้ยนไม่มีเค้าเดิมเลย เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่ดำเนินการให้ เพราะปกติถ้ามาดำเนินการด้วยตนเองและลืมว่าเดิมเซ็นอย่างไร แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ให้ดูลายเซ็นเดิมก็มักจะจำได้ และเซ็นได้แบบมีเค้าเดิมมากและบางครั้งก็เซ็นได้

ตัวอย่างการเขียน หนังสือมอบอำนาจ

เนื่องจากข้อความต่าง ๆ เป็นไปตามแบบพิมพ์แล้ว จะมีส่วนที่เปลี่ยนแปลงก็เฉพาะในช่อง “เรื่อง” กับช่อง “เป็นผู้มีอำนาจจัดการ” การให้ตัวอย่างจึงจะยกแต่ชื่อเรื่อง และการมอบหมายให้จัดการ รวมทั้งลักษณะเหตุการณ์จริงที่ทำให้เกิดการมอบอำนาจเท่านั้น (ให้พิจารณาเลือกตัวอย่างให้ตรงกับลักษณะเหตุการณ์จริงลักษณะของข้อเท็จจริงที่มีการมอบอำนาจและดัดแปลงข้อความเอาเองได้ตามรูปเรื่อง)

กรณีคนมอบอำนาจเป็นเจ้าของคนเดียวและขายทั้งแปลง

1. ขายที่ดินอย่างเดียวและบนที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน

เรื่อง.......ขายที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ) ในราคา.......บาทตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ขายที่ดินพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินทั้งหมด

เรื่อง......ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (บ้าน/ ตึก/ตึกแถว/เลขที่...)ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ) ในราคา......บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ขายที่ดินอย่างเดียวไม่รวมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดิน

เรื่อง .....ขายที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ไม่รวมสิ่งปลูกสร้างให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ) ในราคา............. บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ขายที่ดินโดยมีคนรับมอบอำนาจเป็นคนซื้อแต่เพียงผู้เดียว

เรื่อง .....ขายที่ดิน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง /รวมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ หรือใช้คำว่าผู้รับมอบอำนาจ)ในราคา.......และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าทำการในนามตนเองได้ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

5. ขายที่ดิน โดยคนรับมอบอำนาจรับมอบอำนาจจากทั้งคนขายและคนซื้อด้วย

เรื่อง.....ขายที่ดิน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/รวมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดิน(รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง)แปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ)ในราคา... และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

6. ขายที่ดิน โดยคนรับมอบอำนาจรับมอบจากทั้งคนขายและคนซื้อและขณะเดียวกับคนรับมอบอำนาจก็เข้าร่วมเป็นคนซื้อด้วย

เรื่อง.....ขายที่ดิน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/รวมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดิน(รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง) แปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อทุกคน) ในราคา....และยินยอมให้ผู้รับอำนาจอำนาจทำการในนามตนเอง และเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีคนขายเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับคนอื่นและมอบให้ขายเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

เช่น นายแดงเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับนายเขียว นายแดงขายที่ดินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่นางขาว อย่างนี้เรียกว่า นายแดงขายที่ดินเฉพาะส่วนของตน การมอบอำนาจทำดังนี้

1. ขายที่ดินเฉพาะส่วนอย่างเดียวและบนที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน

เรื่อง.......ขายที่ดินเฉพาะส่วนไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินเฉพาะส่วนแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ) ในราคา.......บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ขายที่ดินเฉพาะส่วนพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินทั้งหมด

เรื่อง......ขายที่ดินเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินเฉพาะส่วนแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (บ้าน/ ตึก/ตึกแถว/เลขที่...)ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ) ในราคา.......บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ขายที่ดินเฉพาะส่วนอย่างเดียวไม่รวมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดิน

เรื่อง.....ขายที่ดินเฉพาะส่วนไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินเฉพาะส่วนแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่ (บอกชื่อคนขาย)ในราคา............. บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ขายที่ดินเฉพาะส่วนโดยมีคนรับมอบอำนาจเป็นคนซื้อ

เรื่อง.....ขายที่ดินเฉพาะส่วน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/รวมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินเฉพาะส่วนแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อ/ขายให้ผู้รับมอบอำนาจ)ในราคา... และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าทำการในนามตนเองได้ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

5. ขายที่ดินเฉพาะส่วน โดยคนรับมอบอำนาจทำแทนทั้งคนขายและคนซื้อคนอื่นด้วยและคนรับมอบอำนาจเป็นหนึ่งในคนซื้อด้วย

เรื่อง.....ขายที่ดินเฉพาะส่วน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/รวมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขายที่ดินเฉพาะส่วน(รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง)แปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ให้แก่(บอกชื่อคนซื้อทุกคน) ในราคา.....และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าทำการในนามตัวเอง และเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีคนซื้อเป็นคนมอบอำนาจให้ซื้อทั้งแปลง

1. ซื้อที่ดินอย่างเดียวและบนที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน

เรื่อง.......ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ ในราคา.......บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ซื้อที่ดินพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินทั้งหมด

เรื่อง......ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (บ้าน/ ตึก/ตึกแถว/เลขที่...)แปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ในราคา............บาท ตลอดจนให้ ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ซื้อที่ดินอย่างเดียวไม่รวมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดิน

เรื่อง.....ซื้อที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ในราคา... บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ซื้อที่ดิน โดยคนรับมอบอำนาจรับมอบอำนาจทั้งจากคนขายและคนซื้อด้วย

เรื่อง.....ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง(หรือรวมสิ่งปลูกสร้างแล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ในราคา.....บาท และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

5.ซื้อที่ดิน โดยคนรับมอบอำนาจรับมอบอำนาจจากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อและผู้รับมอบอำนาจยังร่วมเป็นผู้ซื้อด้ว

เรื่อง ...ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ในราคา.......และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเข้ากระทำการในนามตนเองและเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีคนซื้อเฉพาะส่วนของเจ้าของคนใดคนหนึ่งเป็นคนมอบอำนาจ

เช่น นายแดง มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับนายเขียว นายดำต้องการซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนายแดง

1. ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนอย่างเดียวและบนที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน

เรื่อง.......ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินเฉพาะส่วน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง)แปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ จาก.......(บอกชื่อคนขาย..)ในราคา.......บาท.. ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนพร้อมกับสิ่งปลูกสร้าง

เรื่อง......ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (บ้าน/ ตึก/ตึกแถว/เลขที่...)แปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ในราคา........บาท จาก(บอกชื่อคนขาย) ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนอย่างเดียวไม่รวมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดิน

เรื่อง.....ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนไม่รวมสิ่งปลูกสร้างแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ จาก (บอกชื่อผู้ขาย)ในราคา............. บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ซื้อที่ดินเฉพาะส่วน โดยคนรับมอบอำนาจทำแทนทั้งจากคนขายและคนซื้อด้วย เช่น นายดำและนายสุขร่วมกันซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนายแดง และนายดำรับมอบอำนาจจากทั้งนายสุขและนายแดงด้วย

เรื่อง ....ซื้อที่ดินเฉพาะส่วน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/รวมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซื้อที่ดินเฉพาะส่วน(รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง)แปลงเครื่องหมายข้างบนนี้จาก (บอกชื่อคนขาย)ในราคา.....และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีให้ที่ดิน

1. ให้ที่ดิน (รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี

เรื่อง.....ให้ที่ดิน (รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ให้ที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง/รวมบ้านเลขที่...) ให้แก่ นาย/นาง...โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ให้ที่ดินเฉพาะส่วน

เรื่อง....ให้ที่ดินเฉพาะส่วน (ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง/รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ให้ที่ดินเฉพาะส่วนแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากมีสิ่งปลูกสร้างให้ระบุ) แก่นาย/นาง/นางสาว...โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ให้ที่ดิน โดยคนรับให้เป็นคนรับมอบอำนาจจากผู้ให้ด้วย

เรื่อง.....ให้ที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ให้ที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากมีสิ่งปลูกสร้างให้ระบุ) แก่นาย/นาง...)โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำการในนามตนเองได้ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ให้ที่ดินโดยคนรับมอบอำนาจทำแทนทั้งผู้ให้และผู้รับให้

เรื่อง.....ให้ที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ให้ที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากมีสิ่งปลูกสร้างให้ระบุ)แก่นาย/นาง....โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และยินยอมให้ผู้รับอำนาจเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
กรณีมอบอำนาจให้รับให้ที่ดิน

1. กรณีรับให้ทั้งแปลง

เรื่อง......รับให้ที่ดิน(หากมีสิ่งปลูกสร้างให้ระบุ “พร้อมสิ่งปลูกสร้าง” เป็นผู้มีอำนาจจัดการ รับให้ที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ (หากให้พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ระบุให้ชัดเจน) โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. กรณีรับให้ที่ดินเฉพาะส่วน และผู้ให้เป็นผู้รับมอบอำนาจทำแทนคนรับให้ด้วย

เรื่อง..... รับให้ที่ดินเฉพาะส่วน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง/รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ รับให้ที่ดินเฉพาะส่วนแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง) จาก นาย/นาง....โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำการในนามตนเองได้ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. กรณีรับให้ โดยผู้รับมอบอำนาจทำการแทนทั้งผู้ให้และผู้รับให้

เรื่อง..... รับให้ที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ รับให้ที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากให้สิ่งปลูกสร้างด้วยให้ระบุ) โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง(ตรงนี้จะใช้คำว่า “และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของผู้ให้”แทนก็ได้) ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีมอบอำนาจให้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวม

การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวม หมายถึงการให้คนอื่นเข้ามาร่วมถือกรรมสิทธิ์ด้วย โดยคนให้ถือกรรมสิทธิ์รวมจะยังมีชื่ออยู่เหมือนเดิมแต่สัดส่วนที่ดินจะลดลงไป ซึ่งต่างกับการจดทะเบียนประเภทให้ ซึ่งผู้ให้จะไม่มีชื่อในโฉนดอีกต่อไป และการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมนี้จะบอกว่าให้ถือรวมกี่ส่วนและจะมีค่าตอบแทนหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีค่าตอบแทนก็จะเท่ากับเป็นการขายนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีค่าตอบแทนก็เท่ากับเป็นการให้โดยเสน่หา

เช่น นายแดงเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งมีสี่ไร่ ต้องการขายให้นายดำหนึ่งไร่ในราคา 50000บาท โดยไม่ต้องการแบ่งแยกออกไปก่อน อย่างนี้ก็ต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมมีค่าตอบแทน ในการจดทะเบียนก็จะจดให้ชัดว่าให้นายดำเข้าถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ในสี่ส่วน (1 ไร่ จาก 4 ไร่) เมื่อจดทะเบียนแล้วก็จะมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันสองคน และทั้งคู่สามารถขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดออกตามสิทธิของแต่ละคนได้โดยต้องยื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน

1.กรณีนี้เขียนใบมอบอำนาจกรรมสิทธิ์รวมโดยมีค่าตอบแทน โดยให้คนอื่นมาทำแทนเจ้าของที่ดิน ดังนี้

เรื่อง..... กรรมสิทธิ์รวม(พร้อมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) โดยมีค่าตอบแทน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ให้นายดำเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้จำนวน หนึ่งในสี่ส่วน(จะแตกไร่เป็นตารางวาก็ได้จะเป็นว่า...จำนวน 400 ส่วน ใน 1600 ส่วน) (หากรวมสิ่งปลูกสร้างให้ระบุให้ขัดเจน บ้านเลขที่...) โดยมีค่าตอบแทนห้าหมื่นบาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. จากตัวอย่างใน 1. ถ้าหากนายแดงให้นายดำเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมฟรีๆ ไม่มีค่าตอบแทน และให้นายดำเป็นคนรับมอบอำนาจด้วย จะเขียนใบมอบอำนาจ ดังนี้

เรื่อง..... กรรมสิทธิ์รวม(สิ่งปลูกสร้าง/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง)โดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ให้นายดำเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้จำนวน 400 ส่วน ใน1,600 ส่วน ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำการในนามตนเองได้ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3.กรณีคนขอเข้าถือกรรมสิทธิ์รวม(นายดำ)มอบอำนาจให้คนอื่นมาทำแทน

เรื่อง..... ขอถือกรรมสิทธิ์รวม(รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง/ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี) โดยมีค่าตอบแทน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขอถือกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้จากนายแดงจำนวน 400 ส่วนใน 1,600 ส่วน (รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง)โดยมีค่าตอบแทน 50,000 บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วน

การให้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนก็มีได้เหมือนการจดทะเบียนอื่น ๆ เช่น ให้ ขาย จำนอง การเขียนหนังสือมอบอำนาจก็เป็นทำนองเดียวกับตัวอย่างที่ผ่านมาข้างต้นทั้งหมด(เพียงดัดแปลงให้เข้ากับเรื่อง) จึงจะขอยกมาเพียงกรณีเดียว

ตัวอย่าง มอบอำนาจให้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนมีค่าตอบแทน โดยมอบอำนาจให้คนขอเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมมาดำเนินการแทน เรื่อง..... กรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วน(ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง แล้วแต่กรณี)โดยมีค่าตอบแทน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ให้นาย/นาง...เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม เฉพาะส่วนของข้าพเจ้าจำนวน...ส่วนใน...ส่วน (ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง/ถ้ารวมสิ่งปลูกสร้างระบุให้ชัด/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง) โดยมีค่าตอบแทน.....บาท และยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำการในนามตนเอง ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีเกี่ยวกับการจำนองที่ดิน

1. มอบอำนาจให้ทำจำนองซึ่งคนรับจำนองเป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

เรื่อง..... จำนองที่ดิน/หรือจำนองที่ดินเป็นประกัน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ จำนองที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ (หากรวมสิ่งปลุกสร้างให้ระบุว่าพร้อมบ้าน ตึกเลขที่...)กับนาย/นาง...ในวงเงิน.....บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ...บาทต่อปี เพื่อประกันเงินกู้ ของนาย/นาง...ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. มอบให้จำนองกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน

เรื่อง...... จำนองที่ดินเป็นประกัน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ จำนองที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าเพื่อประกันหนี้เงินกู้/หนี้.../หนี้ทุกลักษณะ)ของผู้จำนองและหรือของนาย/นาง...ที่ มีต่อธนาคารผู้รับจำนองในวงเงิน......บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ....ต่อเดือน/ปี นำส่งดอกเบี้ยเดือน/ปีละครั้ง โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงต่าง ๆ เป็นไปตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. รับจำนองโดยบุคคลธรรมดาเป็นผู้รับจำนอง

เรื่อง..... รับจำนอง(รวมสิ่งปลูกสร้าง) เป็นผู้มีอำนาจัดการ รับจำนองที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากรวมสิ่งปลูกสร้างให้ระบุให้ชัด เป็นบ้าน/ตึก เลขที่...)ในวงเงิน.....บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ...บาทต่อเดือน/ปี เป็นการประกันหนี้เงินกู้ ของนาย/นาง...ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ไถ่ถอนจำนอง และมอบให้ขายในหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียวกัน

เรื่อง..... ไถ่ถอนจำนองและขาย เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่....และจัดการขายให้แก่นาย/นาง... (รวม/ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง) ในราคา......บาท ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีเกี่ยวกับการโอนมรดก

1. มอบให้รับโอนมรดก

เรื่อง..... รับโอนมรดกที่ดิน(หากมีสิ่งปลูกสร้างให้ระบุว่า “พร้อมสิ่งปลุกสร้าง” เป็นผู้มีอำนาจจัดการ รับโอนมรดกที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากมีสิ่งปลูกสร้างให้ระบุให้ชัด) ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. มอบให้จดทะเบียนผู้จัดการมรดก

เรื่อง..... ผู้จัดการมรดก เป็นผู้มีอำนาจจัดการ จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้โดยพินัยกรรม/คำสั่งศาล....คดีหมายเลขแดงที่... ลงวันที่....ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ผู้จัดการมรดกโอนมรดกให้ทายาท

เรื่อง..... โอนมรดกที่ดิน((หากรวมสิ่งปลูกสร้างให้ระบุ) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ โอนมรดกที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากรวมสิ่งปลูกสร้างให้ระบุให้ชัด) ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย/นาง...ตามพินัยกรรม/คำสั่งศาล....ให้แก่นาย/นาง.... ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

4. รับโอนมรดกจากผู้จัดการมรดก

เรื่อง..... รับโอนมรดก(หากรวมสิ่งปลูกสร้างให้ระบุ) เป็นผู้มีอำนาจจัดการ รับโอนมรดกที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้(หากรวมสิ่งปลูกสร้างให้ระบุให้ชัด) จากนาย/นาง....ผู้จัดการมรดกของนาย/นาง....ตามพินัยกรรม/คำสั่งศาล...คดีหมายเลขแดงที่.... ลงวันที่....ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
กรณีเกี่ยวกับการขอรังวัด

1. ขอแบ่งแยกในนามเดิม เป็นการที่เจ้าของที่ดินขอแบ่งที่ดินของตนออกเป็นแปลงย่อย เมื่อแบ่งออกมาแล้วทุกแปลงจะยังมีชื่อเจ้าของเดิมทุกคน

เรื่อง ...... แบ่งแยกในนามเดิม เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิมที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ นำช่างรังวัดปักหลักเขตที่ดิน และรับรองแนวเขตที่ดิน ถ้าทำการรังวัดแล้วได้รูปแผนที่หรือเนื้อที่ต่างจากเดิม ให้มีอำนาจยินยอมให้แก้รูปแผนที่และเนื้อที่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แก้คำขอ(ถ้ามี)จดทะเบียนแบ่งแยกในนามเดิม วางและรับเงินมัดจำรังวัดที่เหลือคืน รับโฉนดที่ดิน ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ที่ดินแปลงหนึ่งมีเจ้าของหลายคน แต่ละคนต้องการแบ่งแยกที่ดินของตนออกมาถือโฉนดต่างหากจากคนอื่น ในการนี้จะต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมว่าใครจะได้ตรงไหน เนื้อที่เท่าใด ก่อนถ้าไม่ตกลงกันก็แบ่งกรรมสิทธิ์รวมไม่ได้ ต้องไปฟ้องร้องต่อศาล

เรื่อง..... แบ่งกรรมสิทธิ์รวม เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขอรังวันแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม นำช่างรังวัดปักหลักเขตและรับรองแนวเขตที่ดิน ถ้าทำการรังวัดได้รูปแผนที่หรือเนื้อที่ต่างจากเดิม ให้มีอำนาจยินยอมให้แก้รูปแผนที่เนื้อที่ให้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง แก้คำขอ(ถ้ามี) จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม วางและรับเงินมัดจำรังวัดที่เหลือคืน รับโฉนดที่ดิน ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. สอบเขตที่ดิน เกิดขึ้นในกรณีที่เจ้าของที่ดินต้องการรู้เขตที่แน่ชัดของที่ดิน ดูว่ามีใครรุกล้ำ หรือมีรูปแผนที่หรือเนื้อที่ผิดพลาดหรือไม่

เรื่อง..... สอบเขตที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขอรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ นำช่างรังวัดปักหลักเขตที่ดิน และรับรองแนวเขตที่ดิน ถ้าทำการรังวัดได้รูปแผนที่เนื้อที่ต่างจากเดิม ให้มีอำนาจยินยอมให้แก้รูปแผนที่เนื้อที่หมายเลขหลักเขตในโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แก้คำขอ(ถ้ามี) วางและรับเงินมัดจำรังวัดที่เหลือคืน รับโฉนดที่ดิน ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีขอใบแทนโฉนดที่ดิน เรื่อง..... ขอใบแทนโฉนดที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขอใบแทนโฉนดที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ ซึ่งโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินได้ ชำรุด/สูญหาย (และได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจ...ตามบันทึกประจำวัน ลงวันที่...) รับใบแทนโฉนดที่ดิน ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีมอบอำนาจให้อายัดที่ดิน เรื่อง..... อายัดที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ยื่นคำขออายัดที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีมอบอำนาจให้ขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน เรื่อง..... ขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ เพื่อนำไปแสดงต่อศาล.../สถานีตำรวจ...เพื่อประกอบการพิจารณาขอประกันตัว นาย/นาง/...ในคดีความผิดหรือข้อหา...(หรือเพื่อนำไปแสดงต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน...เพื่อประกอบการพิจารณาการขอกู้ยืม) ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีขอตรวจหลักฐานที่ดิน เรื่อง..... ตรวจหลักฐานที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ยื่นคำขอตรวจหลักฐานที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศัพท์อังกฤษเกี่ยวกับการมอบอำนาจ (เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในวงการกฎหมายและ Real Estate)
  • power of attorney หนังสือมอบอำนาจ บางทีเีรียกสั้น ๆ ว่า power
  • letter of attorney ก็หมายถึงหนังสือมอบอำนาจเช่นกัน (แต่คำนี้ไม่นิยมใช้เท่าอันแรก)
  • (the) attorney-in-fact ตัวผู้รับมอบอำนาจ(เป็นคำมีลักษณะเป็นทางการ)
  • donor of the power of attorney ผู้มอบอำนาจ(เป็นตัวการหรือ principal)
  • donee of the power of attorney ผู้รับมอบอำนาจในความหมายทั่วไป บางที่ก็เรียกสั้น ๆ ว่า attorney ก็ได้
  • revocation of power of attorney การยกเลิกหนังสือมอบอำนาจ
  • general power of attorney หนังสือมอบอำนาจทั่วไป
  • special power of attorney หนังสือมอบอำนาจเฉพาะเรื่อง
  • enduring power of attorney เป็นหนังสือมอบอำนาจที่เริ่มมีขึ้นเมื่อทศวรรษ 1950 เป็นหนังสือมอำนาจที่มีผลบังคับได้ต่อไป แม้ว่าผู้มอบอำนาจจะกลายเป็นคนที่ไม่มีความสามารถ ไม่รู้สึกตัวตลอดไป บางประเทศมีการเรียกชื่ออื่น เช่น เช่น durable power of attorney, continuing power of attorney , lasting power of attorney (ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ enduring power of attorney ได้ที่นี่ Land Clinic
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก โดย คุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน) อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8 บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก