TerraBKK Researchได้รวบรวม 10 สุดยอดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยประจำปี 2557 ที่สามารถทำยอดขายได้สูงที่สุด 10 อันดับแรก เพื่อนำ 10 บริษัทเหล่านี้มาเปรียบเทียบเพื่อค้นหาศักยภาพของกิจการที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีที่สุด หลังจากที่หลายบริษัทได้ประกาศผลประกอบการประจำปี 2557 ครบทั้งหมดแล้ว

จากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย TerraBKK Research มองว่า Ananda เป็นบริษัทที่มีการเจริญเติบโตของผลประกอบการดีที่สุด รองลงมาคือ Raimon Land และ Land and House ตามลำดับ สำหรับ Supalai ยังสามารถทำผลประกอบการได้ค่อนข้างคงที่สม่ำเสมอทุกๆปี สำหรับ Pruksa เติบโตช้าลงหลังจากที่ได้เติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และบริษัทอสังหาฯที่ทำผลประกอบการได้ต่ำลง ได้แก่ L.P.N. เติบโตช้าลงมากและมีแนวโน้มลดลง ส่วน Property Perfect ถึงแม้จะทำผลงานได้ดีขึ้นจากปีที่แล้วแต่ก็ยัมีศักยภาพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทั้ง 10 บริษัท มีรายละเอียดของแต่ละบริษัทดังนี้

รายได้สุทธิ (Net Sale) บริษัทใหญ่หลายรายในปี 2557 ยังมียอดโอนที่ดีอยู่ถึงแม้ว่าจะเป็นปีที่หลายบริษัทชะลอการเปิดตัวโครงการลงเพื่อรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่ามีกำลังซื้อหรือไม่ (รายได้ปี 2557 เป็นรายได้ที่เกิดจาก Backlog ตั้งแต่ 1-2 ปีก่อนหน้าขึ้นอยู่กับระยะเวลาการก่อสร้าง)จากผลการดำเนินงานปี 2557 ของทั้ง 10 บริษัทมีแนวโน้มรายได้เติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเกือบทุกบริษัท มีเพียง Sansiri และ L.P.N. เท่านั้นที่มียอดรับรูรายได้ลดลง ยอดรับรู้รายได้ของบริษัทอสังหาฯในประเทศไทยที่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ Pruksa รองลงมาเป็นLand and Houses และ Sansiri ตามลำดับ โดยปี 2557 บริษัท Pruksa มีรายได้สูงกว่า Land and Houses ถึงกว่า 14,000 ล้านบาท

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)ในปี 2557 เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 36% บริษัทที่สามารถทำ Gross Profit Margin เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและขึ้นเป็นอันดับ 1 คือ Raimon Land (รับรู้รายได้จาก 185 ราชดำริและโครงการ The River) อันดับ 2 คือ Supalai (ตกจากอันดับ 1) อันดับ 3 Ananda โดยบริษัท Supalai สามารถสร้าง Gross Profit Margin ได้สม่ำเสมอมากกว่า 40% ตลอด 5 ปีส่วนบริษัทที่ทำ Gross Profit Margin ได้ค่อนข้างต่ำคือ Property Perfect, L.P.N. และ Sansiri

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อันดับ 1 ต้องยกให้ Land and Houses มีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 24.67% รองลงมาเป็น Supalai และ Raimon Land ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 บริษัทสามารถทำสถิติได้สูงที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่สามารถทำอัตรากำไรสุทธิเติบโตตลอด 3 ปี ได้แก่ Land and Houses, Raimon Land, Pruksa และ Ananda

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Asset & Return on Equity) บริษัทที่สามารถทำอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ได้สูงที่สุดคือ Supalai 17.2% รองลงมาคือ Pruksa,Land and Houses, Raimon Land และทั้ง 4 บริษัทนี้เป็น TOP4 ของบริษัทที่ทำ ROE ได้สูงที่สุดด้วย สำหรับบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตของ ROA เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ปี ได้แก่ Land and Houses, Raimon Land, Ananda และบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตของ ROE เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ปี ได้แก่ Land and Houses, Ananda และบริษัทที่ ROA และ ROE มีแนวโน้มลดลง คือ L.P.N.

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning Per Share : EPS) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ Ananda (+63%), Raimon Land (+62%), Supalai (+55%), Land and Houses (+23%), Pruksa (+15%) และบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นลดลงคือ L.P.N.

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity Ratio) ในปี 2557 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีหนี้สินต่อทุนค่อนข้างคงที่ บริษัทที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1 ได้แก่ L.P.N. และ Land and Houses ส่วนบริษัทที่มีแนวโน้มก่อหนี้ลดลง คือ Pruksa,Raimon Land, Sansiri ทั้ง 3 บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุนลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีในขณะเดียวกัน Raimon Land ยังมี D/E Ratio สูงถึง 2.16 เท่า สำหรับ Ananda ยังอยู่ในระดับที่ปกติถึงแม้จะมีแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่สำหรับ Property Perfect มี D/E Ratio เท่ากับ 2.49 สูงที่สุดในบริษัท TOP10 และลดลงเพียงเล็กน้อย - เทอร์ร่า บีเคเค

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช่ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น จากเจ้าของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก