หุบผาชันแม่น้ำไบลด์ (Blyde River Canyon) ช่องเขาแคบอันน่าทึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีคนไปสำรวจเพื่อค้นหาทองนั้น เป็นภูทัศน์ที่สวยตรึงใจที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกา โดมแกรนิตเก่าแก่ลายแห่งของเทือกเขาดราเคนสเบิร์กในมณฑลทรานสวาลของแอฟริกาใต้ตั้งตระหง่านดุจยักษ์ปักหลั่นอยู่เหนือหุบเขาคดเคี้ยวขงหุบผาชันแม่น้ำไบลด์ ยอดโดมถูกแยกจากกันด้วยช่องเขาแคบน่าพรั่นพรึง

สายน้ำของแม่น้ำไบลด์ซึ่งบัดนี้สงบนิ่งอยู่หลังเขื่อนไบลด์พอร์ตนั้น เคยกัดเซาะให้เกิดหุบผาชันกว้างใหญ่ในเทือกเขาดราเคนสเบิร์ก

ต่ำลงไปเบื้องล่าง แม่น้ำและธารสีเงินหลายสายไหลรี่ผ่านภูมิทัศน์สงบงาม อ้อมที่ตั้งของพวกสำรวจหาทองในอดีต สถานีป่าไม้ที่ถูกทิ้งร้าง และแนวผาหินชันที่ปกคลุมด้วยไลเคนเสียงอึงอลของสายน้ำเชี่ยวกรากดังผสมผสานกับเสียงร้องของนกหายากและเสียงร้องของลิงบาบูนใต้หน้าผาสูงชันที่ถูกย้อมเป็นสีแดง เลือง และส้มด้วยแร่หลายชนิด

หุบผาชันแม่น้ำไบลด์

หุบผาชันที่แปลกตานี้ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นแบ่งระหว่างที่ราบสูงขนาดใหญ่ของแอฟริกาตอนใต้กับโลว์เวลด์ทางตะวันออก เป็นภูมิทัศน์ที่สวยติดตาตรึงใจที่สุดแห่งนึ่งในบรรดาภูมิทัศน์ของแอฟริกา ผาชันซึ่งสูงเกือบ 1,000 ม. ดิ่งลงสู่พื้นหุบผาชันแม่น้ำไบลด์
สูงขึ้นไปบนผาชันเป็นยอดเขาสามยอดชื่อธรีรอนดาเวลส์ ซึ่งได้ชื่อนี้เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระท่อมทรงกลมหลังคามุงหญ้าดั้งเดิมของชุมชนบางแห่งในแอฟริกา


หนึ่งแสนปีที่แล้ว พวกพรานยุคหินได้ท่องไปตามหุบเขาและไหล่เขาอันเขียวขจีเหล่านี้ เป็นเวลานานก่อนที่พวกบุชแมน (หรือชาวซาน) ผู้ทิ้งภาพเขียนหินไว้บนผนังหุบผาชันจะมาถึง มรดกในหุบเขาอีกอย่างที่สยดสยองกว่าคือกระดูกของนักรบสวาซี ผู้ถูกฆ่าในสงครามระหว่างเผ่ากับเปดีและปูลานาเมื่อปี ค.ศ. 1864 ชาวสวาซีต้องบาดเจ็บล้มตายไปอย่างมากเพราะหอกที่ซัดลงมาราวห่าฝนจากยอดเขามารีปสกอปซึ่งพวกศัตรูเลือกเป็นที่มั่นทางธรรมชาติ

ยอดเขาธรีรอนดาเวลส์ปรากฏขึ้นรางๆ เหนือหุบเขาผาชันแม่น้ำไบลด์ และยืนอย่างสง่าผ่าเผย และมีสีสันในแดนอัศจรรย์อันงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกา

เมื่อมองจากผาชันดราเคนสเบิร์กลงมาจะเห็นทิวทัศน์อัน่าพิสวงของโลว์เวลด์และเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าที่มีชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกา นั่นคืออุทยานแห่งชาติครูเกอร์ สัตว์ป่าท่องอยู่ตามภูเขาและหุบเขาขรุขระในเขตสงวนนี้ ลิงบาบูนและลิงอื่นอาศัยอยู่ตามร่มไม้ ในขณะที่แอนทิโลปขาวคือคูดูและคลิปสปริงเกอร์ยึดที่สูง ส่วนสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือดาว รวมทั้งฮิปโป และนากอยู่ตามเขื่อนและธารน้ำ

แม่น้ำไบลด์

ที่นี่เป็นที่ซึ่งพวกนักบุกเบิกชาวบัวร์ทิ้งผู้หญิงและเด็กไว้เมื่อปี ค.ศ. 1840 ในขณะที่สำรวจไปทางตะวันออกจนถึงท่าเรือลูรงโซมาร์ก (บัดนี้คือมาปูโต) เมื่อพวกผู้ชายไม่กลับมาตามวันที่ให้สัญญาไว้ พวกผู้หญิงจึงทึกทักว่าพวกเขาเสียชีวิตแล้ว และตั้งชื่อธารซึ่งพวกเขาตั้งค่ายว่าทเรอร์ หมายถึงความเศร้า ต่อมาไม่นานคนทั้งสองพวกนี้ได้กลับมาพบกันที่แม่น้ำอีกสาย จึงเรียกแม่น้ำนี้ว่าไบลด์ หมายถึงความปลื้มปีติ

แม่น้ำไบลด์

แม่น้ำไบลด์มีต้นน้ำอยู่บนผาชันใกล้กับหมู่บ้านขนาดเล็กชื่อ พิลกริมส์เรสต์ ซึ่งนักสำรวจเคยแย่งกันหาทองเมื่อกว่าร้อยปีก่อน ทุกวันนี้ไม่มีนักสำรวจอีกแล้ว แต่น้ำในแม่น้ำไบลด์ยังไลรี่อยู่และตกลงสู่พื้นหุบผาชันในลักษณะของแก่งและหลั่นน้ำตกที่สวยจับใจ

หุบผาชันแม่น้ำไบลด์

ตลอดหลายยุคลายสมัยที่ผ่านมา แม่น้ำไบลด์ได้พัดพาธุลีหลายพันตัน ซึ่งเซาะทางน้ำอันน่าตื่นตาเป็นระยะทาง 24 กม. ตลอดหุบผาชันนี้

ใกล้จุดตั้งต้นของหุบผาชันแม่น้ำไบลด์อันโอฬาร สายน้ำของแม่น้ำทเรอร์ไหลอย่างเร่งรีบลงไปในแก่งน้ำตก แล้วไหลเกือบเป็นมุมฉากเข้าไปในแม่น้ำไบลด์ การเปลี่ยนทิศทางอย่างฉับพลันทำให้เกิดกระแสน้ำวนซึ่งมีพลังเซาะกร่อนจนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าอ่างลึกเบิร์กส์ลัก (Bourke’s Luck) หินที่ลอยมากับการเคลื่อนไหวของกระแสน้ำและกลิ้งไปมาเป็นเวลาหลายพันปี ได้ชะหินทรายเนื้ออ่อนออกจนเป็นอ่างลึกถึง 6 ม.

น้ำวนตรงจุดที่แม่น้ำทเวอร์และแม่น้ำไบลด์มาบรรจบกันได้กัดกร่อนหินจนเกิดเป็นอ่างลึกเบิร์กส์ลัก

ทอม เบิร์กเป็นชาวไร่เจ้าของที่ดินที่เกิดอ่างลึกเหล่านี้ เขาให้เหตุผลว่าถ้านักสำรวจกำลังค้นหาทองทางต้นน้ำ เขาก็อาจพบก้อนทองกองอยู่ที่ก้น “อ่างลึก” ตรรกะของเบิร์กได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง สิ่งที่แปลกนี้จึงมีชื่อว่าเบิร์กส์ลัก

ขอบคุณข้อมูลจาก :