Government Revenue from The Revenue Department,The Excise Department & The Customs Department
การพัฒนาความเจริญของประเทศไทย เป็นสิ่งที่เราคนไทยต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม หนึ่งช่องทางที่ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการจ่ายภาษีฯ สิ่งนี้จะเป็นรายได้ของรัฐบาล เป็นงบประมาณที่จะนำไปใช้จ่ายบริหารประเทศต่อไป TerraBKK พบข้อมูลน่าสนใจจาก www.mof.go.th เกี่ยวกับ การจัดเก็บภาษี 3 หน่วยงานหลัก ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการคลัง ได้แก่ กรมสรรพากร ,กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร
TerraBKK สังเกตได้ว่า การจัดเก็บภาษีทั้ง 3 ช่องทาง มีแนวโน้มคงที่ในช่วงปี 50 -52 จากนั้นปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดในช่วงปี 53 -56 และในปี 57 เริ่มชะลอตัว ปรับลงเล็กน้อย ประมาณ 3.9 % จากปีก่อน (ปี 56 = 2.30 ล้านล้านบาท ,ปี 57 = 2.21 ล้านล้านบาท ) โดย สัดส่วนการจัดเก็บภาษีของแต่ละกรมในช่วงปี 50 - 57 ที่ผ่านมาที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนหลักเป็นของ กรมสรรพากร เฉลี่ย 75.6% , กรมสรรพสามิต เฉลี่ย 19% และ กรมศุลกากร เฉลี่ย 5.4% ล่าสุดในปี 2557 กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีรวม 172.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีได้ 38.1 หมื่นล้านบาท และกรมศุลกากร จัดเก็บภาษีได้ 11.1 หมื่นล้านบาท รายละเอียดดังนี้กรมสรรพากร (The Revenue Department)
คือ หน่วยงานหลักในการจัดเก็บภาษีจาก ฐานรายได้และฐานการบริโภค ภายในประเทศ แบ่งได้เป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บจากผู้ประกอบการที่มีรายได้มากกว่าปีละ 1.8 ลบ. , ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้าง ,โรงงาน ,อาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร รวมทั้งผู้ประกอบการอยู่นอกประเทศที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร โดยมีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย โดยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จะคิดร้อยละ 7
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล : จัดเก็บจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามกฎหมาย โดยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จะคิดอัตราร้อยละเป็นขั้นบันได
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : จัดเก็บจากประชาชนผู้มีรายได้ทั่วไป โดยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จะคิดอัตราร้อยละเป็นขั้นบันได
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ : จัดเก็บจากธุรกิจที่ประกอบกิจการด้านธนาคาร, ธุรกิจเงินทุน ,ธุรกิจหลักทรัพย์ ,ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ,การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ,การรับประกันชีวิต ,การรับจำนำ และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้า โดยอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ จะคิดตามลักษณะธุรกิจนั้นๆ ตั้งแต่ร้อยละ 0.1 – 3
- อากรณ์แสตมป์ : จัดเก็บจาก “ตราสาร” ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน ,เช่าซื้อทรัพย์สิน ,จ้างทำของ ,กู้ยืมเงิน เป็นต้น โดยอัตราอากรสแตมป์ จะคิดแตกต่างกันไปตามประเภทตราสารนั้นๆ
TerraBKK พบว่า ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 50 -57 นั้น สัดส่วนหลักจะเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉลี่ย 39.6% และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉลี่ย 34.8% รองลงมาได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉลี่ย 16.5% , ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เฉลี่ย 6 % ,ภาษีธุรกิจเฉพาะ เฉลี่ย 2.4% และท้ายสุดเป็น อากรณ์แสตมป์ เฉลี่ย 0.7% ทั้งนี้ สำหรับปี 57 กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ลดลง เป็นผลมาจากการตอบสนองนโยบายภาครัฐ ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา รวมทั้งเงินได้ปิโตเลียม จากความผันผวนของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สำหรับข่าวล่าสุด ด้านการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ชะลออยู่นั้น ก็อยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่ดินและกรมสรรพกรด้วยเช่นกัน
กรมสรรพสามิต (The Excise Department)
คือ หน่วยงานหลักในการจัดเก็บภาษีจาก ฐานสินค้า บางประเภทผลิตภายในประเทศ บางประเภทนำเข้าจากต่างประเทศ โดย จำพวกสินค้า ได้แก่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ,เครื่องดื่ม เช่น น้ำแร่,น้ำอัดลม,น้ำผลไม้ เป็นต้น , เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ,โคมไฟระย้า เป็นต้น ,แก้วและเครื่องแก้ว ,รถยนต์,ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสําอาง ,สุรา,ยาสูบ ,ไพ่ รวมทั้ง สถานบันเทิงพักผ่อน เช่น ไนท์คลับ,ดิสโกเทค ,สถานอาบน้ําหรืออบตัว,สนามกอล์ฟ เป็นต้น อัตราภาษีจัดเก็บจะแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้าและการใช้บริการ ซึ่งนอกจากมาตรการควบคุมการจัดเก็บภาษีแล้ว กรมสรรพสามิตยังมีหน้าที่ควบคุมและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดด้วย TerraBKK พบว่า ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 50 -57 สัดส่วนหลักจะเป็น ภาษีน้ำมัน เฉลี่ย 24.4% และ ภาษีรถยนต์ เฉลี่ย 24 % รองลงมาได้แก่ ภาษีเบียร์ เฉลี่ย 17.4% , ภาษียาสูบ 15.2 % , ภาษีสุราฯ เฉลี่ย 13.1% , ภาษีเครื่องดื่ม เฉลี่ย 4.1% และท้ายสุดจะเป็น ภาษีเครื่องไฟฟ้า , ภาษีรถจักรยานยนต์ และภาษีแบตเตอรี่ เฉลี่ยเท่ากันที่ 0.6 % สำหรับปี 57 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ลดลง เป็นผลมาจากภาษีรถยนต์โดยตรง ขณะที่ภาษีประเภทอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงใดๆ รูปกราฟดังนี้
กรมศุลกากร ( The Customs Department )
คือ หน่วยงานหลักในการจัดเก็บภาษีจาก ฐานการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ในหลากหลากประเภทสินค้า ครอบคลุมทั้ง สัตว์และพืช ,ผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ ,ผลิตภัณฑ์เคมี , พลาสติก ,โลหะ ,เครื่องจักร เป็นต้น อัตราภาษีจัดเก็บจะแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้านั้นๆ ตามประเภทกลุ่มนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งนอกจากการควบคุมการจัดเก็บภาษีแล้ว กรมศุลกากรยังมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการหลีกเลี่ยงและลักลอบหนีภาษี รวมทั้งการส่งเสริมการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สนองตามนโยบายภาครัฐ TerraBKK พบว่า ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากร โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 50 -57 นั้น สัดส่วนหลักจะเป็น อาการขาเข้า เฉลี่ย 97.1% ที่เหลือจะเป็น รายได้อื่น ( เช่น ค่าธรรมเนียม ) เฉลี่ย 2.6% และ อากรขาออก เฉลี่ย 0.3 % มีรูปกราฟดังนี้ --เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก