เตรียมบ้านรับมือน้ำท่วม
เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สร้างความตื่นตัวให้กับทุกฝ่าย เราได้เห็นทั้งน้ำตาและน้ำใจของผู้คนจำนวนมาก ที่หลั่งไหลให้ความช่วยเหลือระหว่างที่น้ำหลากมาถึงเรือน สำหรับชาวกรุงเทพฯ น้ำท่วมถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเขตเศรษฐกิจสำคัญทั้งศูนย์การค้าและการบริหารประเทศต่างหลายกระจุกตัวอยู่ที่นี่ หากเกิดความเสียหายหรือความไม่คล่องตัวขึ้นกับพื้นที่ส่วนนี้ ย่อมหมายถึงการเป็นอัมพาตของระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ น้ำท่วมจึงเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดผวาให้กับคนเมืองมากกว่าคนที่เคยชินกับการใช้ชีวิตริมน้ำ
ย้อนกลับไปพิจารณาน้ำท่วมให้ละเอียด เราจะพบว่า น้ำท่วมสำหรับคนที่อยู่ในเขตสัญจรของน้ำถือเป็นเรื่องปกติ ปีไหนน้ำมาก ปีนั้นก็น้ำท่วม บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมน้ำจึงมีลักษณะการปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ เช่น บ้านไทยโบราณที่จะยกใต้ถุนสูง เพื่อไม่ให้คนบนเรือนเดือดร้อนเมื่อน้ำมาเยี่ยมเข้าจริงๆ และผ่านฤดูน้ำหลากไปอย่างไม่ต้องวิตกกังวล
ในเมื่อคนโบราณที่ไม่มีนวัตกรรมช่วยเหลือมากนักยังสามารถรับมือกับน้ำท่วมได้สบายๆ แล้วเราซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีตัวช่วยมากมาย ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว วิธีรับมือกับเหตุการณ์อะไรก็ตามมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ ป้องกัน หรือ แก้ไข วิธีรับมือกับน้ำท่วมก็มี 2 ขั้นตอนเช่นกัน
เตรียมตัวรับมือ เมื่อน้ำมาใกล้ถึงบ้าน ต้องเตรียมขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูงและเตรียมสภาพบ้านให้พร้อมสำหรับการมาของน้ำ แน่นอนว่าเรายายบ้านหนีไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องป้องกันบ้านให้แน่นหนาที่สุดก่อน ด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ปิดรอยรั้วรอบรั้วบ้านด้วยวัสดุอักกันน้ำต่างๆ เช่น ซิลิโคนเหลว ดินน้ำมัน
- ทำความสะอาดกำแพงและรอยรั่วในกำแพงเพื่อไม่ให้เป็นรอยแผลเป็นหลังน้ำลด
- กันน้ำเข้าบ้านชั่วคราวด้วยการหาวัสดุกันน้ำเช่นแผ่นพลาสติก มากั้นข้างกำแพง คลุมให้ถึงด้านล่างเพื่อป้องกันเชื้อรา
- การฉาบผนังคอนกรีตทับจะช่วยได้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น เพราะน้ำจะทะลักจากใต้คานเข้ามาในบ้านได้อยู่ดี
- จัดระบบไฟฟ้าใหม่ ย้ายปลั๊กขึ้นที่สูงป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว
- เทปูนปิดส้วมเพื่อป้องกันการทะลักของของเสียจากท่อ
หรือมีบ้านอยู่ในเขตน้ำท่วมบ่อยๆ การสร้างบ้านลอยน้ำไปเลยก็ดูเป็นการแก้ปัญหาแบบเด็ดขาดดี หลายฝ่ายออกมาให้ความสนใจกับไอเดียนี้ทำให้มีนวัตกรรมสำหรับบ้านลอยน้ำออกมามากมาย เช่นจากกรมโยธาธิการที่คิดแบบบ้านลอยน้ำไว้ถึง 10 แบบ สามารถเข้าไปดูแบบบ้านได้ที่ goo.gl/VIYeX2
เตรียมการซ่อมแซม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมคือ ทุนทรัพย์ เพราะเมื่อบ้านถูกน้ำท่วมยิ่งถูกท่วมมิดหลังคาความเสียหายจะเกิดขึ้นกับทุกส่วน ต้องซ่อมไปทุกส่วนเหมือนสร้างบ้านใหม่อีกหลังเลยทีเดียว การซ่อมแซมทุกชิ้นส่วนหลังน้ำท่วม ข้อหนึ่งที่ต้องปฏิบัติร่วมกันคือ บ้านต้องแห้งแล้วจริงๆ เท่านั้น
รั้วหลังน้ำท่วมพื้นดินอาจจะอ่อนตัวทำให้รั้วเอียงหรือร้าวได้เนื่องจากคานไม่ได้มีดินแน่นหนารองรับอีกต่อไปแล้ว ลองตรวจสอบรอยยุบตัวรอบๆ รั้วบ้าน หากพบลองหาดิน หิน คอนกรีตมาเสริมคานให้แข็งแรงอีกครั้ง
พื้นหากเป็นพื้นกระเบื้อง คอนกรีต หรือหินอ่อน จะไม่เดือดร้อนมากนัก แค่ทำความสะอาดก็พอแล้ว แต่ถ้าเป็นพื้นปาเก้ อาจต้องการการเยียวยาไปตามอาการ
- เปียกน้ำเล็กน้ำไม่ถึงกับลอกร่อน เช็ดให้สะอาด ไล่ความชื้นด้วยการเปิดประตูหน้าต่างให้กว้าง รอให้แห้งก่อนแล้วจึงทาทับด้วยสี หรือ ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวหน้า เพราะหากทาทับเมื่อยังเปียกอยู่ความชื้นจะระเหยออกมาไม่ได้
- ปูด เปียก เบี้ยว ให้เลาะออกเพราะเป็นปาเก้ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว
- ลอกร่อน เลาะออกแล้วปูใหม่ ควรรอให้พื้นแห้งแล้วจริงๆ ซะก่อน เพื่อไม่ให้ความชื้นจากพื้นทำลายเนื้อปาเก้ที่เพิ่งปูลงไป
โครงสร้างส่วนที่เป็นไม้ ทำความสะอาดแล้วปล่อยให้แห้งสนิท ทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ป้องกันเชื้อราและการผุกร่อน หากต้องการทาสีทับ รอให้ให้แห้งสนิทจริงๆ เท่านั้นเพื่อไม่ให้สีปูดโป่ง
สี การซ่อมสีคือขั้นตอนสุดท้ายในการซ่อมแซมบ้าน เมื่อสีอยู่ในน้ำนานๆ อาจเกิดอาการบวมและเชื้อราได้ วิธีแก้ไขคือรอให้แห้งสนิท แซะสีเดิมออกแล้วทาสีใหม่ทับลงไป
วิธีเหล่านี้คือวิธีเตรียมการณ์และรับมือกับน้ำท่วมอย่างได้ผล แม้จะเตรียมตัวดีแค่ไหน แต่ถ้าน้ำไม่ท่วมได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทุกคนต้องการ