หลังจากเห็นสภาพบ้าน ตกลงราคาซื้อขายจนเป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่ายแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการโอนกรรมสิทธิ์เพื่อการเป็นเจ้าของบ้านอย่างสมบูรณ์ของผู้ซื้อ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องเกิดขึ้นที่กรมที่ดิน ในเขตที่บ้านหลังนั้นตั้งอยู่เท่านั้น โดยจต้องมีการเตรียมตัวกันก่อน ดังนี้

เตรียมเอกสาร เพราะการซื้อขายจะไม่สมบูรณ์ได้หากขาดสัญญาที่มีลายเซ็นของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนและความถูกต้องของเอกสาร ผู้ซื้อและผู้ขายต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้มาให้พร้อม

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
  • ต้นฉบับโฉนดที่ดิน
  • ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า (หากมี)
  • กรณีสมรส และหากที่ดินที่ขายเป็นสินสมรส จะต้องมีหนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมของสามีด้วย

เตรียมค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการโอนจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับทางรัฐ แบ่งออกเป็น 4 รายการด้วยกัน คือ

  • ค่าธรรมเนียมการโอน ร้อยละ ๒ ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
  • ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย (กรณีเจ้าของที่ดินเป็นบุคคลธรรมดา)
  • ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ในกรณีขายเพื่อการค้าหรือกรณีที่ครอบครองไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 3.3 ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายแล้วแต่ว่าราคาใดจะสูงกว่า
  • ค่าอากรสแตมป์ ร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า แต่ถ้าเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ไม่ต้องเสียค่าอากรสแตมป์ ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ภาษีที่มากับการซื้อขายบ้าน
         

เตรียมตัว  เมื่อไปถึงที่ทำการที่ดินตามนัดหมายแล้วทั้งสองฝ่าย ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จนถึงขั้นตอนสุดท้าย การโอนกรรมสิทธิ์จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อเจ้าหน้าที่ลงสลักหลังและส่งมอบโฉนดที่ดินพร้อมใบ ทด. 13 ให้กับผู้ซื้อ