มรดกหนี้อสังหาฯ... กับการทำประกันสินเชื่อ
"เราต่างทราบกันดีว่าการซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย หรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ หากซื้อผ่านสถาบันการเงิน จะเป็นหนี้สินระยะยาวตั้งแต่ 5 – 30 ปี ซึ่งระหว่างนี้เองที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ถึงอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะ หากผู้กู้เสียชีวิตก่อนชำระหนี้เงินกู้หมด ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้กู้มักไม่ได้คำนึงถึง รวมทั้งผลที่ตามมาจากการเสียชีวิตของผู้กู้ เกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นๆ"
TerraBKK จึงขอพาไปคลายปมเรื่องนี้ให้เป็นที่เข้าใจ ขั้นแรกเราต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า บ้าน คอนโด อาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถูกซื้อนี้ ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ซื้อตามกฎหมาย เมื่อผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าของสิ้นสภาพบุคคล(คือตาย) ทรัพย์สินนั้น ก็กลายเป็นมรดกตกทอดไปสู่ทายาทโดยธรรมตามลำดับ หรือตกเป็นของทายาทตามพินัยกรรม (หากมีการทำพินัยกรรมไว้ ผู้รับผลประโยชน์คนแรกจะเป็นทายาทตามพินัยกรรม) มรดกที่จะตกสู่ทายาท ไม่ได้มีเฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น ยังรวมถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบอื่นๆ ของผู้ตายด้วย ซึ่งนั่นอาจหมายถึงหนี้สินที่ยังไม่หมดภาระ ซึ่งทายาทต้องรับผิดชอบภาระนั้นต่อ โดยแนวทางการรับมีดังนี้ บ้านได้รับการคุ้มครองด้วยประกันสินเชื่อ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะคำนึงถึงความเสี่ยงที่ผู้กู้จะเสียชีวิตก่อนชำระหนี้หมดมากกว่าผู้กู้ จึงมีการเสนอให้ทำประกันคุ้มครองสินทรัพย์ตั้งแต่ตอนเซ็นสัญญากู้ยืม เพื่อประกันความเสี่ยงไว้ก่อน ประกันประเภทนี้จะชดใช้หนี้สินที่เหลือให้ทั้งหมด หากผู้กู้เสียชีวิต นั่นหมายความว่า หากทำประกันสินเชื่อไว้เมื่อผู้กู้เสียชีวิตลงก่อนชำระหนี้หมด ถือเป็นประกันที่มีประโยชน์มากต่อทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ตามพินัยกรรม เพราะจะได้รับบ้านหลังนั้นไปเลย โดยไม่ต้องมานั่งชำระหนี้ต่อ แต่ประกันคุ้มครองสินทรัพย์มักถูกปฏิเสธจากผู้กู้ โดยเฉพาะผู้กู้อายุน้อยๆ และกู้ระยะสั้น เนื่องจากจ่ายเบี้ยประกันสูงและไม่เห็นถึงความสำคัญ ซึ่งจะให้ผลดังกรณีต่อไป บ้านไม่ได้ทำประกันสินเชื่อ บ้านหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นก็จะตกเป็นของทายาทพร้อมหนี้สินที่เหลือโดยผลของกฎหมาย จุดนี้ธนาคารจะมีแนวทางดำเนินการ 2 ทางคือ ทายาทปฏิเสธไม่รับทรัพย์สิน ธนาคารเจ้าหนี้จะทำการยึดทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้ต่อไป หากจำนวนเงินมากพอจะชำระหนี้ได้หมด ทายาทก็ไม่ต้องรับภาระใดๆ แต่การขายทอดตลอดมักได้ราคาที่ต่ำกว่ายอดหนี้ ภาระหนี้จะตกแก่ทายาทต่อไป ทายาทต้องการรับทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้รับการประเมินสภาพหนี้ใหม่โดยสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งจะประเมินจากหนี้ที่เหลือกับความสามารถในการผ่อนชำระของทายาท หากทายาทมีความสามารถผ่อนต่อได้ คือกู้ผ่าน ทายาทก็รับหน้าที่ผ่อนต่อไปจนหมด แต่หากเป็นในทางตรงกันข้าม คือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่อหรือกู้ไม่ผ่าน แนวทางการชำระหนี้ก็จะเหมือนการปฏิเสธไม่รับทรัพย์สิน คือธนาคารบังคับขายทรัพย์ทอดตลาด เพื่อชำระหนี้ที่เหลือบ้านเป็นสถานที่แห่งความสุขและจุดเริ่มต้นของความหวังในอนาคตสำหรับใครหลายๆ คน แต่อนาคตคือสิ่งที่มาไม่ถึงและยังสัมผัสไม่ได้ เราจึงไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าพรุ่งนี้ บ้านที่เราซื้อจะยังเป็นสถานที่แห่งความสุขหรือกลับกลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับคนข้างหลัง การป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.