แบ่งสินทรัพย์เมื่อรักมันจาง
"วันแต่งงาน ทุกคู่ก็คงเห็นโลกเป็นสีชมพูสวยงาม ทุ่งดอกไม้กว้างใหญ่ ผีเสื้อบินว่อน พูดจาตกลงอะไรกันก็เข้าอกเข้าใจไม่คิดมากไปเสียทุกอย่าง เพราะหลังจากจดทะเบียนทั้งคู่จะ ถือเป็น “คนๆ เดียวกัน” ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินและการจัดการทรัพย์สินระหว่างสมรส โดยผลของกฎหมาย ฟังดูคล้ายจะลงตัวและไม่น่ามีปัญหาอะไรตามมา และโรแมนติกเหมือนเป็นพันธนาการหัวใจที่จะยึดคนทั้งคู่ไว้ไม่ให้ห่างกัน"
หยุดฝันสักหน่อย พิจารณาโลกตามความเป็นจริง จะเห็นว่า “บุคคลคนเดียวกัน” ในทางกฎหมาย มีนัยสำคัญซ่อนเร้นนอกเหนือจากความโรแมนติก จึงต้องระแวงระวังเป็นพิเศษ เพราะหลังจากการสมรสทรัพย์สินทุกอย่างที่ได้มาต้องแบ่งกัน ในทางกฎหมายจะเรียกทรัพย์สินเหล่านี้ว่า“สินสมรส”
คำว่า “สินสมรส” ตามกฎหมายได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึงได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ ระบุว่าเป็นสินสมรส นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงดอกผลของสินส่วนตัวแต่ละคนด้วย
นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินที่เข้าลักษณะทั้ง 3 ประการเป็นสินสมรส และยังมีพ่วงท้ายด้วยว่า ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เว้นแต่มีหลักฐานระบุว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เวลารักกันหวานชื่น เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเป็นปัญหาดูเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ จะไม่มีฝ่ายใดใส่ใจกับสินสมรสหรือสินส่วนตัว แต่พอเลิกกันขึ้นมา การหารครึ่งนี้มักสร้างเรื่องราวให้ตามแก้เป็นพัลวัน โดยเฉพาะหากมีตัวแปรเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อย่างบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ เพราะสินสมรสนั้นไม่ได้มีเพียงทรัพย์สินแต่ยังครอบคลุมถึงหนี้สินอีกด้วย ปัญหาที่พบบ่อยๆ มีดังนี้
จะแบ่งทุกอย่างโดยอ้าง “สินสมรส” สินสมรส คือ สิ่งที่หามาได้ร่วมกันหลังการสมรสตามกฎหมาย หมายความว่า เป็นการแต่งงานโดยจดทะเบียนสมรสเท่านั้น หากอยู่ร่วมกันเฉยๆไม่ถือเป็นการสมรส ซึ่งการหารครึ่งทรัพย์สินในส่วนนี้ถือว่ายุติธรรม ในเมื่อร่วมชีวิตกันมา สิ่งใดที่งอกเงยจากนั้น สร้างมาด้วยกันถือว่าทั้งคู่มีส่วนร่วมกันสร้าง คือแต่จะเกิดปัญหาทันทีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตีขลุมเอาทรัพย์สินของอีกฝ่ายเข้ามารวมกับสินสมรสด้วย ซึ่งร้อยทั้งร้อยฝ่ายที่โดนตีขลุมนั้น ไม่มีใครยอม เพราะทรัพย์สินส่วนนี้มักเป็นมรดกตกทอดเป็นทรัพย์ที่พ่อแม่ให้ฝ่ายสามีหรือภรรยาที่เลิกกันไปไม่มีส่วนในการหามา ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันให้วุ่นวายมานักต่อนัก
แนวทางป้องกัน เรื่องนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการทำรายการทรัพย์สินส่วนตัวไว้ ก่อนจะจดทะเบียนสมรสพนักงานเจ้าหน้าที่จะสอบถามก่อนว่าทั้งคู่จะระบุอะไรเป็นสินเดิมหรือไม่ เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงเจตจำนง ควรตั้งสติและเตรียมรายการทรัพย์สินให้พร้อมเพื่อแจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่
การแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระบุว่าอะไรบ้างเป็นสินเดิม ถือเป็นสัญญาก่อนสมรสซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ หากไม่ทำข้อตกลงที่แจ้งไว้ก็จะตกเป็นโมฆะ เมื่อทำตามที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนกระบวนความรายการที่แจ้งระบุไว้ก็จะไม่ถูกอีกฝ่ายโมเมเป็น “สินสมรส”เพราะในขั้นตอนนี้คู่บ่าวสาวหมาดๆ มักไม่ได้ใส่ใจ เพราะชีวิตคู่แสนหวานกำลังจะเริ่มใครจะมาสนใจเรื่องหยุมหยิม แต่ขอเตือนไว้ ณ จุดนี้ ว่ามันไม่ใช่เรื่องหยุมหยิมเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สนุกเลยหากต้องมานั่งแก้ไขในอนาคต หากรู้สึกว่าการทำแบบนี้เป็นลางร้ายหรือความไม่ไว้ใจ ให้คิดใหม่ว่าเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อกันทั้งสองฝ่าย คุยกันให้เข้าใจแล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น
พ่อแม่ย่อมรักลูกที่สุด ดังนั้นหลายคนจึงมีความเป็นห่วงเป็นใย ยกที่ดิน บ้านช่อง ให้ลูกในวันแต่งงาน หากต้องการรักษาให้เป็นของลูกตลอดไป ไม่ตกเป็นของเขยหรือสะใภ้ในวันที่เลิกกัน พ่อแม่ต้องช่วยปกป้องผลประโยชน์ของลูก ด้วยการบอกว่าทรัพย์สินชิ้นนี้ยกให้ลูกของตัวเองไว้เป็นมรดก อย่าทำหนังสือยกให้หรือทำพินัยกรรมระบุว่า “ให้เป็นสินสมรส” เป็นอันขาด
ดังนั้น การทำรายการทรัพย์สินเพื่อสลักหลังใบทะเบียนสมรสเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ควรละเลยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้สลักหลังไว้ ก็ต้องหาทางพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งใดบ้างที่ได้รับมาก่อนการสมรส หากพิสูจน์ไม่ได้ นออกจากเสียความรู้สึกที่ต้องเลิกรากันไป ยังต้องมานั่งเจ็บใจที่เสียทรัพย์สินของพ่อแม่แถมมาด้วย
หมดรักต้องแบ่งหนี้ เมื่อแต่งงานกันก็ย่อมอยากสร้างชีวิตร่วมกัน การแบกรับหนี้สินร่วมกันระหว่างสามีภรรยาไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ดังนั้นหลายคู่จึงเอาบ้านไปค้ำประกันเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ยิ่งกู้ร่วมวงเงินที่ได้ก็ยิ่งสูง เท่ากับว่าทั้งสองทำสัญญาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่ถ้าบังเอิญเลิกกันก่อนหมดหนี้ จะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือทั้งคู่ต้องไปตกลงกันมาก่อนว่าต้องการจะขายหรือรักษาทรัพย์นั้นไว้ เมื่อได้ผลลัพธ์อย่างไรก็ไปจัดการต่อเป็นกรณีไป
- ต้องการขาย คือไม่อยากใช้หนี้ต่อ ให้ติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อขายทอดตลาดและเอาเงินมาชำระหนี้ หากชำระหนี้ได้หมดก็จบไปแยกย้ายอย่างไม่มีอะไรติดค้าง แต่ถ้าเงินที่ได้จากการขายไม่พอจะชำระหนี้ได้ทั้งหมด ต้องนำสินสมรสมาขายเพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ดังกล่าว หากขายสินสมรสจนหมดเกลี้ยงก็ยังไม่พอ ต้องเดือดร้อนสินส่วนตัวของแต่ละคน นำไปขายเอาเงินมาชำระหนี้ต่อไป
- ต้องการรักษาบ้านไว้ ให้ไปพูดคุยทำความตกลงกับทางธนาคารเพื่อขอทำสัญญาใหม่ โดยให้ทั้งคู่รับผิดชอบหนี้สินส่วนนี้คนละครึ่ง และเมื่อไถ่ถอนออกมาแล้วบ้านจะเป็นของใครอยู่ที่การตกลง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขายให้อีกฝ่ายไปเลยก็ได้
บ้านและความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ผูกพันและยึดโยงคนสองคนไว้ร่วมกันมากกว่าที่คิด มีรายละเอียดที่ซับซ้อนและต้องทำความเข้าใจอยู่ไม่น้อย ก่อนร่วมใช้ชีวิตกับใครนอกจากคำนึงถึงพันธะทางหัวใจ ควรคำนึงถึงพันธะทางกฎหมายควบคู่ไปด้วย