Essential Architects that You Must Know!
นอกจากสิ่งที่ธรรมชาติให้มาบนโลกใบนี้แล้ว อารยธรรมของมนุษย์โลกก็นำพาให้โลกทั้งใบเติมแต่งไปด้วยสิ่งที่มนุษย์สรรสร้างกันเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เครื่องใช้ เทคโนโลยีต่างๆนาๆ ที่ยุคต่างๆก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์และการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ขีดจำกัดของมนุษย์ได้แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนมากที่สุดก็คือ “สถาปัตยกรรม” การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆที่ช่วยเตือนสติเราได้อย่างมากว่าเราห่างไกลจากการอยู่ถ้ำมาไกลแค่ไหนแล้ว วันนี้เรามีคอลัมน์สถาปนิก 101 มาฝากกัน กับการแนะนำรายชื่อสถาปนิกชื่อดัง ระดับอาจารย์ของโลก ภายในศตวรรษที่ 20-21 พร้อมผลงานของพวกเขาให้เห็นภาพกันมากขึ้น เราไปดูคนแรกกันเลยดีกว่า
Fallingwater (1935) ผลงานชิ้นดังของ Frank Lloyd Wright ที่ทุกวันนี้เปิดให้เข้าชมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในรัฐ Pennslyvania ประเทศสหรัฐอเมริกา
การตกแต่งภายในของ Fallingwater
พิพิธภัณฑ์ Guggenheim Museum, New York ประเทศสหรัฐอเมริกา
Frank Lloyd Wright
หากถามถึงสถาปนิกระดับตำนาน ชื่อแรกๆที่ทุกคนนึกถึงก็คงต้องเป็น Frank Lloyd Wright สถาปนิกชาวอเมริกัน ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น “The Greatest American Architect of All Time” ลูกศิษย์เอกของ Louis Sullivan ผู้เป็นเหมือนบิดาของสถาปัตยกรรมโลกยุคใหม่ เจ้าของคติการออกแบบ Form Follows Function ซึ่งมันปรากฎให้เห็นในงานของแฟรงค์ชัดเจน งานส่วนใหญ่ของแฟรงค์คือการออกแบบบ้านเรือน ที่กล่าวได้ว่ามีความเป็น Original และเกิดขึ้นแบบธรรมชาติ ดูแล้วไม่มีการพยายามปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น ชิ้นดังคือ Fallingwater (1935) หรือ Kaufmann Residence บ้านที่ตั้งอยู่บนน้ำตกในรัฐ Pensylvania ที่ช่วยแสดงให้เห็นปรัชญาการออกแบบอันชัดเจนของเขาได้ดีเยี่ยม กล่าวคือทักษะการรวมเอาสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ตามประวัติแล้วเขาได้ทำการออกแบบอาคารไปทั้งหมดกว่า 1,000 ชิ้น (ได้สร้างเสร็จจริงๆ 532 ชิ้น) อืม นี่เป็นตัวเลขที่การันตีอะไรได้หลายอย่างเลยล่ะ
พิพิธภัณฑ์ Guggenheim Museum, Bilbao (1997) ประเทศสเปน
อาคาร Walt Disney Concert Hall, Los Angeles (2003) ประเทศสหรัฐอเมริกา
Frank Gehry
Gehry เป็นสถาปนิกแบบที่ผลงานของเขาลายเซ็นชัดเจน ดูแล้วชี้เป้าไม่ผิดคนแน่นอน กับงานสถาปัตยกรรมแบบ Deconstructive เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนที่ได้พบเห็น และนักท่องเที่ยวก็หลั่งไหลไปยลโฉมความงามกัน ถึงขนาดนิตยสาร Vanity Fair เคยกล่าวขานว่าเขาคือ “The Most Important Architect of Our Age” ไม่ใช่เพราะว่าฝีมือการออกแบบที่โดดเด่นเฉพาะตัวเท่านั้น กับการสร้างสเปซที่เล่นกับเรื่องฟอร์มและพื้นผิว รวมถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นงานที่ Original ไม่มีใครเหมือน อีกเหตุผลที่สำคัญคืออาคารที่สำคัญบนโลกในศตวรรษที่ผ่านมานี้ ก็เป็นผลงานของ Gehry มากมาย อย่างเช่นผลงานการออกแบบ Guggenheim Museum ใน Bilbao ก็เป็นงานที่สถาปนิกชื่อดังหลายคนในยุคนี้ ยกให้เป็นสุดยอดผลงาน Masterpiece ชิ้นหนึ่ง
โรงแรม Burj Al Arab ในดูไบ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงแรมที่หรูหรามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในเวลานี้
Tom Wright
List ของสถาปนิกที่เราจำเป็นต้องพูดถึงในยุคปัจจุบันนี้ คงจะสมบูรณ์ไปไม่ได้ ถ้าเราไม่กล่าวถึงสถาปนิกชาวอังกฤษ Tom Wright กับผลงานที่ทำให้ทั้งโลกฮือฮามาแล้ว โรงแรม Burj Al Arab ใน Dubai นอกจากจะมีองค์ประกอบส่วนผสมความเป็นโรงแรมที่หรูที่สุดในเมืองที่หรูหราฟู่ฟ่าระดับโลกแล้ว ในแง่สถาปัตยกรรม ถ้าพูดถึงในความเป็นปัจจุบัน ยังไม่มีอาคารไหนที่ Iconic ได้มากไปกว่านี้เอกเช่นกัน ทั้งลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่อยู่สูง และมีคอร์ทเทนนิสตั้งอยู่แบบ Open Air ด้วยเช่นกัน อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้สร้างบนฐานในทะเล เพราะฉะนั้นตัดเรื่องอายุได้เลย Tom Wright ก็มีความเก๋าที่จะอยู่ใน List นี้ด้วย
สถาบัน Crown Hall Illinois Institute of Technology, Chicago (1950) ประเทศสหรัฐอเมริกา
Barcelona Pavillion ในประเทศสเปน ผลงานออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นที่มีเอกลักษณ์ของ Mies ชัดเจน
Ludwig Mies van der Rohe
สถาปนิกลูกครึ่งเยอรมัน-อเมริกัน ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นทีเราเรียกกันทุกวันนี้ (เคียงคู่มากับ Le Corbusier และ Walter Gropius) Mies เป็นผู้นำแนวคิดแบบ Less is More น้อยแต่มากสไตล์ Minimal มาประยุกต์ใช้กับโลกของสถาปัตย์ได้อย่างลงตัวและสวยงาม การใช้เหล็กเปลือยหนาๆควบคู่กันกับกระจกบานใหญ่แทนผนังบ้าน เป็นกลวิธีแบ่งสเปซการออกแบบภายในบ้านได้อย่างมีจริต และนี่เป็นคาแรคเตอร์ที่ Mies วางรากเป็นคนแรกๆในโลกสถาปัตยกรรม จนทุกวันนี้กลายเป็นแนวการออกแบบที่อยู่ในตำราเรียนและเป็นที่นิยม ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องร้องอ๋อ
ศูนย์วัฒนธรรมการเรียนรู้ Jean-Marie Tjibaou Cultural Centre ตั้งอยู่บนหมู่เกาะนิวแคลิโดเนีย (ส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส)
อาคาร Centre Pompidou ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส
Renzo Piano
สถาปนิกชาวอิตาเลียน Renzo Piano เป็นสถาปนิกที่ชื่อเสียงของเขาเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่ววงการสถาปัตยกรรมโลก กวาดรางวัลชื่อดังมาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็น Pritzker Prize ที่เป็นเหมือนรางวัลสุดยอดในชีวิตของสถาปนิกทุกคน (ในลิสต์นี้หลายคนก็ได้มาเช่นกัน) เหรียญทองของสถาบัน American Institute for Architects หรือรางวัล Sonning Prize ในเดนมาร์ก คาแรคเตอร์งานของเขาถูกบัญญัติว่าเป็นการรื้อเอาความหมายของ Modern และ Postmodern มาผสมผสานใหม่ในกลิ่นอายตัวเอง ลองดูภาพได้จากผลงานของเขา ที่แค่ภายนอกก็ให้ความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว การใช้เส้นโครงมากมายนับไม่ถ้วนมาก่อสร้างรวมตัวกันเป็นผนังภายนอกที่ดูโปร่ง แต่ก็ดูแข็งแรงด้วยในเวลาเดียวกัน
อาคาร National Assembly Building ในเมืองหลวงธากา ประเทศบังกลาเทศ
Louis Kahn
ปรมาจารย์ของสถาปนิกชื่อดังหลายคนในยุคนี้ Louis Kahn เป็นสถาปนิกชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ใน Philadelphia รัฐ Pennsylvania นอกจากการสร้างผลงานที่เป็นงานออกแบบระดับโลกแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญของ Kahn คือการเป็นนักวิาจารณ์งานออกแบบและอาจารย์สอนอยู่ใน Yale School of Architecture ที่ที่คนอยากเป็นสถาปนิกทุกคนใฝ่ฝัน ความหลงใหลในประวัติศาสตร์และบรรดาซากปรักหักพังโบราณในโลกทุกวันนี้ มันเป็นส่วนผสมชั้นดีที่มาปรากฎให้เห็นอยู่ในงานของเขา คำที่บัญญัติได้ดีที่สุดก็คงจะเป็นความใหญ่ยักษ์และความเป็นเหมือนอนุเสาวรีย์ มีคาแรคเตอร์ชัดเจน และมีความแข็งแรง สัดส่วนเป๊ะไปหมด เขาไม่เคยรู้สึกเสียดายการใช้วัสดุในการสร้างผลงานของเขาใดๆทั้งสิ้น ผลงานที่เด่นชัดและเป็นที่พูดถึงก็คือ Jatiyo Sangsad Bhaban กล่าวว่าเป็นการออกแบบอาคารที่มีความซับซ้อนใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในโลก เนื้อที่กว่า 200 เอเคอร์ (800,000 ตารางเมตร)
พิพิธภัณฑ์ Lourve กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
Ieog Ming Pei (I. M. Pei )
สถาปนิกชาวจีนที่เดินทางมาเรียกสถาปัตย์ในสหรัฐอเมริกา สุดท้ายก็เดินทางมาเป็นสถาปนิกที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์งานออกแบบ จนถึงทุกวันนี้เกือบศตวรรษให้หลังแล้ว ผู้คนก็ยังสามารถเห็นผลงานของ I.M. Pei และยังรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับมันได้อยู่ กับการใช้รูปทรงเรขาคณิตในการออกแบบโจ่งแจ้งเต็มๆ รวมไปถึงการประยุกต์เอาแนวคิดการออกแบบกลิ่นอายจีนโบราณมาใช้ในงาน ถ้ายังสงสัยว่าแบบที่ว่านี้มันออกมายังไง ลองดูพิพิธภัณฑ์ Le Grand Louvre ในกรุง Paris ได้ เราจะสังเกตเห็นสามเหลี่ยมเต็มไปหมด งานของ I.M. Pei มักจะเป็นงานชิ้นใหญ่ๆที่ถูกจ้างโดยรัฐบาลประเทศต่างๆทั้งนั้น
ตึก Seagram Building ชื่อดังในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
Glass House (1949) บ้านกระจกอันชื่อดังของ Philip Johnson
The Crystal Cathedral โบสถ์หลังใหญ่ที่เป็นกระจกแก้วทั้งหลัง สร้างเสร็จในปี 1981
Philip Johnson
สถาปนิกชาวอเมริกันที่ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อวงการออกแบบมากที่สุดคนหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ 20 แบบเต็มๆ (1906-2005) ในครึ่งแรกของชีวิตสถาปนิก เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบตึกอาคารที่เน้นการใช้เหล็กและกระจกตามแบบสถาปนิกในยุคครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ทั่วๆไป จนมาในยุคหลังของเขา ที่เขาได้คิดค้นแนวคิดการออกแบบเฉพาะตัวเป็นการใช้กระจกในการก่อสร้างแบบจัดเต็ม จนให้ความรู้สึกว่าอาคารที่เสร็จสมบูรณ์เป็นเหมือนกับผลึกคริสตัลแท่งใหญ่ Johnson ถูกจัดว่าเป็นส่วนผสมตรงกลางระหว่าง Minimalism และ Pop Art เพราะมันทั้งดูน้อยชิ้นเรียบง่ายแล้วก็ดูอลังการดึงดูดสายตาด้วยในเวลาเดียวกัน ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมงานชิ้นดัง Seagram Building มีกลิ่นอายคล้ายคลึงกับ Louis Mies van der Rohe ข้อข้างบน เพราะทั้งสองสถาปนิกผู้ชื่นชอบแผ่นกระจกร่วมมือกันสร้างตึกหลังนี้นั่นเอง!
อาคาร Arab World Institute ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
บรรยากาศภายในเมื่อมีแสงลอดผ่านเกิดเป็นลวดลายตามแบบผนังของอาหรับ
โปรเจคต์ Monolith for Expo.02 (2002) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
Jean Nouvel
เจ้าของรางวัล Prtizker Prize ปี 2008 และอีกหลายรางวัลมากมาย ชื่อเสียงของสถาปนิกชาวฝรั่งเศสคนนี้เกิดจากผลงานการออกแบบอาคาร Arab World Institute ในกรุง Paris ทั้งกลไกระบบที่สามารถเปิดปิดผนังกำแพงได้อัตโนมัติ เป็นการควบคุมแสงภายในอาคารขึ้นอยู่ตามสภาพของแสงภายนอก แถมยังเป็นการออกแบบที่รื้อเอาแพทเทิร์นการออกแบบช่องแสงบนกำแพงสไตล์อาหรับแท้ๆมาใช้ในงานได้อย่างชาญฉลาด ไอเดียที่เป็นต้นตำรับและมีการเล่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ยืนหยัดอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ได้นี่ล่ะ ที่ทำให้ Nouvel โดดเด่นใน Scene สถาปัตยกรรมขณะนี้อย่างมาก
Beko Building ในเมืองหลวง Belgrade ของประเทศเซอร์เบีย เป็นตัวอย่างการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ของ Zaha Hadid
อาคาร Heydar Aliyev Center ในประเทศอาเซอร์ไบจาน
Zaha Hadid
ในศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันนี้ เธอคือ Big Name ในวงการสถาปัตย์ของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย Zaha Hadid คือสถาปนิกผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัล Pritzker Architecture Prize (กล่าวคือนี่เป็นรางวัล Nobel Prize ในมุมของโลกสถาปัตยกรรม) เกิดในประเทศอิรัก ผลงานของเธอเป็นเส้นที่อยู่ตรงกลางระหว่างโลกงานออกแบบอาคารกับโลกศิลปะ ฟอร์มที่ดูแล้วมีคาแรคเตอร์กลิ่นอายโลกอนาคต และการใช้เส้นโค้งกลมสวยงาม จนใครก็ตามที่ได้เห็นมักจะอ้าปากค้างไปตามๆกันว่า เธอทำแบบนั้นได้อย่างไร? หลายครั้งที่คนมักจะสับสนว่าจะเรียกเธอว่าเป็นสถาปนิก หรือศิลปินที่เล่นกับการก่อสร้างอาคารดี เพราะพูดตรงๆว่าเธอทำได้ดีในทั้งสองโลกนี้จริงๆ
Writer: Pakkawat Tanghom
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.