การแต่งงานคือพันธสัญญาใหญ่หลวงของชีวิต ด้วยความที่กฎหมายกำหนดให้สามีภรรยาคือบุคคลเดียวกัน ภาระทั้งหลายจึงเป็นสิ่งที่คนสองคนมีร่วมกัน รวมถึงทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแต่งงานก็ถือเป็นสินทรัพย์ที่ต้องรับผิดชอบร่วม ซึ่งมาในรูปแบบของ “สินสมรส”

            เส้นแบ่งระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวและสินสมรสออก มีหลักการจำแนกง่ายๆ คือ อะไรที่ทำมาหาได้ระหว่างยังแต่งงานกันสิ่งนั้นถือเป็นสินสมรส แต่อะไรที่ได้มาโดยไม่ได้หาร่วมกัน นั่นคือทรัพย์สินส่วนตัว กฎหมายมีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้อย่างค่อนข้างชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงอย่างไม่ยุติธรรม ดังต่อไปนี้

1.   ทรัพย์สินส่วนตัว คือสิ่งที่ได้มาโดยไม่ได้ร่วมกันสร้าง ไม่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย มีอยู่ทั้งสิ้น 4 ประเภท ดังนี้

          ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เงินทอง เมื่อได้รับมาก่อนการแต่งงาน เท่ากับอีกฝ่ายไม่ได้ร่วมสร้าง จึงไม่มีสิทธิใดๆ ในการเรียกร้องหรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย การจะคงทรัพย์สินส่วนนี้ไว้เป็นของตัวเองตลอดไป ต้องทำรายการทรัพย์สินสลักไว้หลังทะเบียนสมรส

          ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือได้มาโดยเสน่หา คือสิ่งที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมา เป็นการตกทอดมาจากตระกูลคือน้ำพักน้ำแรงของบรรพบุรุษ ไม่ได้ใช้ความสามารถร่วมกันในการได้มา จึงไม่ถือเป็นสินสมรส

           ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ตามแต่ฐานะ เครื่องมือที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะได้มาระหว่างแต่งงานกัน หรือได้มาเพราะนำเงินจากสินสมรสไปซื้อหามาก็ถือว่าเป็นสินส่วนตัว เพราะเมื่อแต่งงานกันแล้วมีความจำเป็นนต้องมีข้าวของเครื่องใช้สำหรับใช้สอยเป็นการส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวข้องกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

            เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรส หมายถึง สิ่งของที่ใช้ในบการทำงาน ไม่ว่าจะโดยแรงงานหรือเครื่องจักร เช่น จอบ เสียม มีดพร้า กบไสไม้ เครื่องสูบน้ำ รถไถ เป็นต้น

แม้เครื่องมือเครื่องใช้สอยนี้ จะได้มาเพราะนำเอาเงินจากสินสมรสไปซื้อมาก็ถือเป็นสินส่วนตัว แต่ต้องดูความจำเป็นในการใช้ประกอบอาชีพและฐานะของเจ้าของร่วม  เช่น สามีเป็นตำรวจต้องมีปืน สามีเป็นทันตแพทย์ต้องซื้อเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพคือ เครื่องทำฟัน สามีมีอาชีพขับรถแท็กซี่เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งปืน เครื่องทำฟันของทันตแพทย์ รถแท็กซี่ถือ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่นับเป็นสินสมรส

แต่ถ้าตำรวจหรือทันตแพทย์ผู้เป็นสามีซื้อรถยนต์ไว้ขับไปทำงาน รถยนต์ไม่เป็นสินส่วนตัว เพราะรถยนต์ไม่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ถือเป็นสินสมรส

          ของหมั้นสินสอดต่างๆ จะถือเป็นสินส่วนตัวของผู้หญิง เพราะฝ่ายชายให้มาแล้ว เป็นการให้โดยความยินยอมและความรัก คล้ายๆ การให้โดยเสน่หา เมื่อหมดรักจะมาขอคืนดื้อๆ ไม่ได้

2.      สินสมรส คือทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างแต่งงาน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

          ทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำงานหรือไม่ก็ตาม แต่ถือว่าทั้งคู่หามาร่วมกัน กินอยู่เลี้ยงดูกัน

          ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรมโดยระบุว่าให้เป็นสินสมรส เช่นพ่อแม่ให้ที่ดินเพื่อรับขวัญลูกเขยหรือสะใภ้ บอกให้เอาไปทำทุนด้วยกัน ก็ถือเป็นสินสมรส เพราะไม่ได้ระบุไว้ว่าให้เป็นสินเดิม

          ทรัพย์สินที่เป็นกำไรสุทธิหรือดอกผลของสินส่วนตัว หากได้รับมรดกมา แต่สามารถทำให้มรดกนั้นงอกเงยขึ้นระหว่างเป็นสามีภรรยากัน สิ่งที่งอกเงยมาถือเป็นสินสมรส ในขณะที่มรดกยังคงเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เช่น สามีได้รับที่นามาเป็นมรดก ต่อมาแต่งงานและช่วยกันทำนาปลูกข้าว ข้าวสารหรือเงินที่ได้จากการขายข้าวคือสินสมรส ในขณะที่ที่นายังคงเป็นสินส่วนตัวของสามี


เมื่อได้ทราบรายละเอียดแบบนี้แล้วทีมงาน Terra’s Blog หวังว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะไม่สับสนเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวและสินสมรสอีกต่อไป


บทความโดย : TerraBKK.com