วิกฤตค่าเงินบาทจะเกิดขึ้นจริงหรือ?
หลังจากที่ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลง 0.25% เหลือ 1.50% เมื่อวันที่ 29 เม.ย.58 หลังจากมีความพยายามใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงที่ผ่านมา แต่กำลังซื้อกลับไม่เพิ่มขึ้นมากนัก อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในช่วงที่ผ่านค่อนข้างแข็งค่าอย่างมากส่งผลให้สินค้าไทยที่จะส่งออกไปต่างประเทศมีราคาสูง เนื่องจากหลายประเทศค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลล่าห์จึงส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือน จึงเป็นประเด็นให้ทาง กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในที่สุด ผลกระทบต่อค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
TerraBKK Research ลองสำรวจอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเทียบกับประเทศอื่นๆในช่วงที่ผ่านมา โดยหากเปรียบเทียบจากเดือนมกราคมปี 2553 จนถึง วันที่ 10 พฤกษาภาคม 2558 จะพบว่า กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน จะมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในแถบยุโรป ญี่ปุ่น ที่ค่าเงินส่วนใหญ่อ่อนค่าแทบทั้งสิ้นเมื่อเทียบกับค่าเงิน US Dollar สำหรับประเทศไทยในช่วงก่อนประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งค่าสวนทางกับค่าเงินอื่นๆในโลกแต่หลังจากประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินกลับอ่อนอย่างเห็นได้ชัด ดังภาพ
(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
เหตุที่ค่าเงินหลายค่าอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ US Dollar เนื่องจากในช่วงปีกลางปี 2557 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และมีการเลิกใช้มาตราการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE ทำให้หลายฝ่ายมั่นใจในตัวค่าเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่งผลให้ Dollar Index ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อของประเทศอื่นๆลดลงเมื่อเทียบกับอเมริกา หรือจะเรียกว่าทำให้ค่าเงินประเทศอื่นๆด้อยค่าลงไปนั่นเอง จึงเป็นต้นให้ค่าเงินในประเทศอื่นๆดูอ่อนค่าอย่างน่าตกใจ แต่ประเทศไทยกลับไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อยและยังสามารถรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้แข็งค่าได้เป็นอย่างดีถึงในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้เติบโตอย่างโดดเด่นก็ตาม แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา แข็งค่าอย่างผิดสังเกต
(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
เมื่อเราดูเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves : US Dollar) จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องและเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา
(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือนมีนาคมที่ผ่านมามีอัตราว่างงานที่ระดับ 1.24% เป็นการเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างสูงแต่เมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของประเทศอื่นๆในโลกแล้วประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม และมีหลายคนที่ตกงานหันมาทำงานภาคเกษตร ซึ่งการถูกจ้างเพียงแค่ 1 ชม. ต่อวันก็ถือว่าไม่ว่างงานแล้ว
(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
TerraBKK Research มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะเป็นตัวกระตุ้นการจับจ่ายใช่สอยภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง และเป็นการส่งเสริมให้คนนำเงินที่เก็บออมออกมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะต่ำลงในอนาคต ตรงนี้จะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ เงินเหล่านี้จะถูกหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคืองมากทีเดียว
ในส่วนเรื่องกลไกอัตราแลกเปลี่ยนหลังมีการลดดอกเบี้ยในมุมมองของ TerraBKK Research มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้เงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออก เพราะผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลดลงดังกล่าว จึงส่งผลให้มีการขายเงินบาทออกมาเป็นระยะๆ เงินบาทจึงอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาแตะระดับประมาณ 33.50 จากเดิมอยู่ที่ระดับประมาณ 32.60 บาท ซึ่งเป็นการตอบสนองต่ออัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไปค่อนข้างแรงพอสมควร ผลลัพธ์ที่จะได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงคือช่วยให้ภาคการส่งออกดีขึ้นสินค้าไทยในสายตาต่างประเทศถูกลง เป็นการกระตุ้นการส่งออกอีกทางหนึ่งด้วยในอนาคต
อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงอย่างกันทันหันหลายคนอาจจะนึกย้อนกลับไปมองถึงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งในช่วงต้มยำกุ้งปี 2540 นั้น การที่เงินบาทอ่อนค่าไปถึง 50 บาทนั้นเกิดจาก เดิมไทยตั้งอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) และถูกโจมตีค่าเงินจนต้องปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวทำให้ค่าเงินอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว คนเป็นหนี้เป็นสินจากการกู้ยืมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สาเหตุที่ทำให้ไทยถูกโจมตีค่าเงินได้เกิดจากในช่วงนั้นไทยขาดวินัยทางด้านการเงิน ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดอย่างมาก ส่งผลให้เป็นเกิดช่องว่างโจมตีค่าเงินบาทไทยได้ในที่สุด แต่เหตุการณ์ของไทยตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วการดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างออกไป ปัจจุบันไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทำให้เกมการเงินเปลี่ยนแปลงออกไป อย่างไรก็ตามก็ต้องเฝ้าดูเศรษฐกิจไทยที่กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างระมัดระวังว่าจะสามารถรอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญได้หรือไม่
บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก