อีกหนึ่งช่องทางน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนบ้านมือสองที่มีราคาเริ่มต้นต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป นั้นคือ การขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี TerraBKK ได้รวบรวมข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ การเข้าประมูลบ้านขายทอดลาดจากกรมบังคับคดี เป็นความรู้เบื้องต้นเพื่อการศึกษา สำหรับผู้สนใจหรือกำลังมองหาบ้านมือสอง

ทรัพย์ขายทอดตลาด มาจากไหน?

โดยปกติแล้ว บ้านหรือทรัพย์ที่นำมาขายทอดตลาดจะเป็นทรัพย์ที่ ศาลตัดสินขายทอดตลาดตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ รวมไปถึง NPL หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) จากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ แม้ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินจะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้หรือผู้รับจำนอง แต่ก็ไม่สามารถขายทรัพย์สินนี้ให้กับผู้สนใจได้ทันที แต่ต้องนำไปประมูลทรัพย์สินขายทอดตลาด กรมบังคับคดี เพื่อนำเงินไปชดใช้หนี้ตามขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนการประมูลบ้าน เป็นอย่างไร ?

สำหรับการค้นหาทรัพย์ขายทอดตลาด สามารถตรวจสอบ ข้อมูลเบื้องต้น เช่น ภาพถ่าย ,ที่ตั้งทรัพย์ , จำนวนเงินหลักประกัน ,วันประมูล เป็นต้น ได้จากเว็บไซต์กรมบังคับคดี click .... ซึ่งช่วงเวลาก่อนจะถึงวันประมูล ผู้ที่สนใจทรัพย์ขายทอดตลาด ควรทำการ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติ่ม เช่น ตรวจสอบราคาตลาดบ้านมือสองในละแวกนั้นเพื่อประมาณราคาที่จะเข้าสู้ในการประมูล , ลองไปดูสภาพบ้านจริง , ตรวจสอบว่ามีคนอยู่อาศัยหรือไม่ เป็นต้น สำหรับขั้นตอนในวันประมูล มีดังนี้
  • เตรียม เอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ,หนังสือรับรองนิติบุคคล , ใบมอบอำนาจ กรณีให้บุคคลอื่นเข้าประมูลแทน เป็นต้น รวมทั้ง เงินวางประกัน เพื่อเป็นหลักประกันการเข้าสู้ราคา ประมาณ ร้อยละ 5 ของราคา ที่เคยมีผู้เสนอราคาสูงสุด
  • กรอกรายละเอียดของผู้ซื้อในบัตรลงทะเบียน พร้อมวางเงินประกัน จากนั้นจะได้รับ ป้ายประมูลราคา เพื่อใช้สำหรับเสนอราคาสู้ในการประมูล การยกป้ายแต่ละครั้งคือการสู้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีจะประกาศให้ทราบว่าทรัพย์ แต่ละรายการกำหนดให้มีการเพิ่มราคาครั้งละเท่าใด แต่หากผู้เข้าสู้ราคาต้องการเพิ่มราคาสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
  • สำหรับ ราคาเริ่มต้นทรัพย์ ในการประมูล จะลดลงตามจำนวนครั้งในการขายทอดตลาด เช่น ครั้งแรก ราคาเริ่มต้นร้อยละ 80 ของราคาประเมิน , ครั้งที่ 2 ราคาเริ่มต้นร้อยละ 50 ของราคาประเมิน แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่มีผู้เสนอสูงสุดในครั้งก่อน เป็นต้น
  • การจ่ายชำระ สำหรับผู้ชนะการประมูลทรัพย์ ต้องชำระเงินที่เหลือภายใน 15 วันนับแต่วันซื้อ กรณีไม่สามารถชำระเงินส่วนที่ค้างชำระได้ภายในกำหนด สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา พร้อมระบุเหตุผลและความจำเป็น โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีจะขยายเวลาตามที่เห็นสมควร สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน และไม่มีการขยายเวลาต่ออีกหลังจากนั้น ถ้ายัง ไม่สามารถชำระภายในกำหนด ดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะ ริบมัดจำที่วางไว้ แล้วนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ ซึ่งหากขายทอดตลาดครั้งต่อไปได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อน ผู้ชนะการประมูลครั้งก่อนจำต้อง ชดใช้ให้เต็มจำนวนที่ประมูลไว้ ในครั้งก่อน พร้อมทั้งต้องเสีย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการขายทอดตลาดครั้งหลังนี้ด้วย กรณีผู้ชนะการประมูลต้องการขอสินเชื่อ สามารถติดต่อสอบถามธนาคารนั้นได้โดยตรง

ข้อดี-ข้อเสียของการซื้อบ้านขายทอดตลาด ?

ข้อดี ที่กล่าวได้ว่าเป็นจุดร้องเรียกความสนใจจากผู้เข้าประมูล คือ ราคาทรัพย์ที่เริ่มต้นต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งยิ่งมีจำนวนครั้งขายทอดตลาดเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ราคาเริ่มต้นทรัพย์นั้นต่ำลงไปเรื่อย และแม้ว่าจะเป็นการประมูลราคา หลายครั้งที่สุดท้ายแล้ว ราคาชนะการประมูลก็ยังคงต่ำกว่าระดับราคาตลาดอยู่ดี ทั้งนี้ ไม่ควรประมาทมองข้อดีเพียงด้านเดียว ควรคำนึงถึง ข้อเสีย ด้วยเช่นกัน เช่น ความยุ่งยากตามกระบวนขั้นตอน บางกรณีก็มีการยกเลิกการขายทอดตลาด เนื่องจากเจ้าของทรัพย์ไม่ทราบว่าทรัพย์ตนถูกขายทอดตลาด ทำให้เสียเวลาต้องเข้าประมูลอีกในครั้งต่อไป บางกรณีชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เดิมไม่ยอมย้ายออก จำต้องยื่นเรื่องฟ้องศาลขับไล่เป็นคดีความไปอีก เป็นต้น ท้ายนี้ TerraBKK ขอกล่าวว่า การประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนบ้านมือสอง ทั้งนี้ ควรตรวจสอบคุณภาพทรัพย์ขายทอดตลาดนั้นเป็นสำคัญ เช่น สภาพบ้าน ความยากง่ายเจรจาย้ายออกของเจ้าของทรัพย์เดิม เป็นต้น --เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก