วิธี “ตรวจเช็คคอนโดก่อนโอน” อย่างไรไม่ให้พลาด
หลายคนใฝ่ฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิตอยากที่จะมีอสังหาริมทรัพย์ดีๆซักชิ้นไว้ในครอบครอง แต่ก็ต้องผิดหวังกับการก่อสร้างที่มีตำหนิ ไม่ได้มาตรฐาน ของเหล่านักพัฒนาอสังริมทรัพย์ทั้งจาก การเร่งงานก่อสร้าง การบังคับให้ลูกค้าโอนคอนโดเร็วๆ การใช้วัสดุที่ไม่มีมาตรฐาน หรือการเก็บงานไม่ละเอียด ทำให้หลายคนต้องมีปากมีเสียงกับทางเจ้าของโครงการที่ไม่มีคุณภาพหลังจากโอนโครงการเรียบร้อยแล้ว TerraBKK จึงได้รวบรวม วิธี “ตรวจเช็คคอนโดก่อนโอน” เพื่อไม่ได้เกิดปัญหาต่างๆตามมาหลังจากการโอนคอนโด
วิธีการตรวจเช็คคอนโด มีด้วยกันหลายส่วนที่เราต้องคำนึง ก่อนอื่น TerraBKK ขอแนะนำเครื่องมือสำหรับตรวจคอนโดก่อนที่จะเข้าไปเรียนรู้วิธีตรวจคอนโด
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม มีดังต่อไปนี้
- กระดาษจดรายการ
- สติ๊กเกอร์สำหรับแปะจุดที่มีตำหนิ
- ไขควงวัดไฟ
- กล้องถ่ายรูป
- เหรียญบาท
- ลูกแก้ว
- ทิชชู่
ต่อมา มาเรียนรู้กันว่าเราจะต้องตรวจสอบจุดไหนบ้าง
1.การตรวจเช็ค พื้น
- พื้นที่ได้ตรงตามเสป็คในสัญญาหรือไม่ ถ้าไม่ตรงตามสัญญาบันทึกเอาไว้
- ตรวจสอบระดับพื้นว่าได้ระดับและเรียบเสมอกันหรือไม่ โดยใช้วิธีการลากเท้าไปตามพื้นกระเบื้องหรือพื้นไม้จะรู้สึกได้ว่าพื้นเรียบหรือไม่
- สำหรับพื้นไม้พวกลามิเนต หรือ Engineer Wood ให้ลองเดินแบบเท้าต่อเท้าให้ทั่วห้องเราจะรู้ได้เลยว่าพื้นตรงไหนยวบบ้าง ส่วนไหนยวบก็แปะสติ๊กเกอร์ลงไปและจดรายการให้เรียบร้อย (อย่าใช้การจำเพราะจะจำไม่ได้ในการเข้ามาตรวจเช็คในครั้งต่อไป)
- ตรวจสอบว่าพื้นส่วนไหนที่โปรงบ้าง โดยการใช้เหรียญเคาะไล่ไปตามกระเบื้องทุกแผ่น การเคาะจะทำให้ได้ยินเสียงที่แตกต่างกันระหาว่งพื้นที่โปรงกับพื้นที่ได้มาตรฐาน ถ้าได้ยินเสียงในลักษณะโปร่งๆ แสดงว่ามีหลุมใต้กระเบื้อง ก็ให้แปะเอาไว้เลย
- เช็คระดับว่ามีพื้นตรงไหนเป็นแอ่งหรือไม้ โดยใช้ลูกแก้ววางในมุมต่างๆของห้อง แล้วดูว่าลูกแก้วเคลื่อนไปทางไหน ลูกแก้วไหลเร็วหรือไม่ ถ้าไหลเร็วแสดงว่า พื้นไม่เรียบมีการเทไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป หรือกรณีที่ลูกแก้วไหลมากองรวมกันแสดงว่า จุดที่มากองรวมกันมีลักษณะเป็นแอ่งเป็นหลุม ถ้าเป็นพื้นห้องน้ำหรือพ้นระเบียงแล้วมีลักษณะเป็นแอ่งแบบนี้ต้องให้ช่างแก้ไขทันที พื้นห้องน้ำที่ดีลูกแก้ต้องไหลไปกองที่ท่อระบายน้ำ น้ำจะได้ไม่ขัง
2. การตรวจเช็ค ผนัง
- เช็คว่าผนังต้อง เรียบ ไม่มีร่องรอยปูด และไม่มีการกระเทอะของปูน สำหรับห้องที่ติด Wallpaper นักพัฒนาที่ไม่ดีอาจจะใช้ Wallpaper พรางสายตาปิดร่องรอยงานที่ทำไม่เรียบร้อยอยู่หลัง Wallpaper ต้องสังเกตุให้ดีว่ามีรอยบุบหรือยุบ ถลอกหรือไม่
- บริเวณบัว ลองใช้มือเคาะดูว่ามีเสียงโปร่งหรือไม่ถ้าโปร่งแสดงว่าบริเวณนั้นปูนบริเวณผนังอาจจะโปร่งได้
- สีผนังต้องไม่มีรอยแตกร้าว ไม่มีรอยด่าง สีต้องเสมอทั่วกัน
3. การตรวจเช็ค เพดาน
- เพดานต้องเรียบเสมอ ไม่เป็นแอ่ง หรือตกท้องช้าง
4. การตรวจเช็ค ระบบน้ำ
- ตรวจเช็คก๊อกน้ำทุกอันดูน้ำไหลดีหรือไม่ คล่องหรือไม่ ถ้าไม่คล่องแสดงว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างอุดตันอุดตันอยู่ เช่น เศษหิน เศษปูน และลองหมุนก๊อกน้ำดูว่าหมุนคล่องหรือไม่ หมุนได้สุดหรือไม่
- เช็คสายฉีดชำระ น้ำต้องไหลคล่องไหลแรง
- ตรวจเช็คว่ามีการไหลซึมของน้ำบริเวณท่อใต้ อ่างล้างมือ ทั้งในห้องน้ำ ห้องครัว หรือไม่
- ตรวจระบบชักโครก โดยใส่ทิชชู่ลงในโถส้วมแล้วลองกดชักโครกดูว่า ทิชชู่สามารถไหลลงได้ในน้ำเดียวหรือไม่ ถ้าขนาดทิชชู่ไม่สามารถไหลลงไปได้แสดงว่าระบบชักโครกมีปัญหาต้องแก้ไข
- ปิดก๊อกน้ำ ปิดฝักบัวทุกอัน แล้วดูมิเตอร์น้ำว่ายังวิ่งหรือไม่ ถ้าวิ่งแสดงว่ามีน้ำรั่วเกิดขึ้น เรียกช่างตรวจเช็คทันที
5. การตรวจเช็ค ระบบไฟ
- เช็คเต้าจ่ายไฟทุกอันว่ามีไฟหรือไม่ เช็คโดยใช้ไขควงวัดไฟตรวจ (ต้องเช็คทุกอัน)
- ปลั๊กไฟเวลาเสียบต้องเสียบได้สะดวก ไม่ติดขัด
- เปิดไฟทุกดวงว่ามีไฟดวงไหนไม่ติดบ้าง ถ้าหลอดไหนขาดแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที หลังจากเช็คเสร็จลองปิดไฟทุกดวงแล้วดูมิเตอร์ไฟว่ามิเตอร์หยุดวิ่งหรือไม่ ถ้าไม่หยุดแสดงว่าไฟรั่ว (ไม่ต้องสับ Breaker)
- ลองเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดมากับตัวโครงการดูว่าสามารถใช้ได้หรือไม่
6.ตรวจเช็ค ประตู หน้าต่าง
- วงกบประตูต้องไม่มีรอยแตกของไม้ ไม่บิดงอ
- ต้องไม่มีช่องว่างระหว่างผนังกับวงกบประตู หน้าต่าง
- ลองปิด-เปิด ประตู หน้าต่างดูว่า เปิดได้คล่อง ไม่มีติดขัด ฝืดไปหรือไม่ และปิดสนิทหรือไม่ มีแสงเล็ดลอดเข้ามาตามขอบหน้าต่างหรือไม่
7.การเก็บงาน
- การยิงซิลิโคลน เลอะเทอะหรือไม่
- สีที่ใช้เลอะเฟอร์นิเจอร์หรือไม่
- กระจกมีรอยตำหนิ จุดด่างดำหรือไม่
8. ตรวจสอบนิติบุคคล
- นิติบุคคล เป็นของเจ้าของโครงการเองหรือเป็นการ Outsource
- ในกรณีที่เป็น Outsource ต้องดูประวัติบริษัทว่ามีประวัติการบริหารอาคารอย่างไรบ้าง โกงหรือไม่ อาคารที่เคยบริหารปัจจุบันยังดูใหม่ ดูดีเหมือนเดิมหรือไม่ นิติบุคคลปล่อยปะละเลยหรือไม่
- นิติบุคคลมีช่างคอยให้บริการในกรณีที่มีปัญหาหรือไม่
วิธีตรวจเช็คคอนโดทั้งหมดที่ TerraBKK รวบรวมมาหวังว่า จะช่วยลดปัญหาการร้องเรียนจากการโอนห้องที่ไม่ได้คุณภาพของทางโครงการได้บ้าง สิ่งที่จะแนะนำเพิ่มเติม คือ เราเป็นเจ้าของเงินที่จ่ายให้กับโครงการดังนั้นคอนโดที่จะโอนควรที่ต้องตรวจเช็คเรียบร้อยผ่านทุกขั้นตอนก่อน ถึงทำการโอนห้ามโอนก่อนแล้วค่อยมาตรวจเช็ค เพราะถ้าโอนแล้วคุณจะมีอำนาจในการต่อรองน้อยลงในกรณีที่ห้องมีปัญหา - เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก