สำหรับการดำเนินธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงด้านความคาดหวังของผู้บริโภค แทบทุกองค์กรที่ต้องการก้าวไปยืนแถวหน้าทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก มักเลือกใช้ กลยุทธ์การร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่จุดหมายดังกล่าว

กลยุทธ์การร่วมทุน (Joint Venture) คือ การสร้างความร่วมมือส่งเสริมความแข็งแกร่งยั่งยืนของธุรกิจรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน โดยการจัดตั้ง "พันธมิตรร่วมทุน" คือกระบวนการที่กิจการตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปร่วมมือกันจัดตั้งกิจการหรือบริษัทใหม่ขึ้นมา แยกตัวออกจากกิจการเดิมเพื่อดำเนินธุรกิจในขอบเขตเฉพาะด้าน โดยตกลง"ทำสัญญา" ระหว่างกันไว้ มีพันธกิจหลักร่วมกันลงทุนและผสมผสานทรัพยากรต่างๆ ทั้งทางด้านเงินทุน บุคลากร เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และระบบการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงทั้ง "วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินการ" รวมทั้ง "สัดส่วนการถือหุ้น" "หน้าที่ความรับผิดชอบและสิทธิ" และ "การจัดสรรผลประโยชน์" อันเกิดจากการดำเนินการนั้น สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่นั้นมีเหตุผลใดบ้างถึงยอมแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันจัดตั้ง ธุรกิจร่วมทุน" ??

การร่วมทุนเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร: “บมจ.แสนสิริ” กับ “บมจ.บีทีเอส” ในปี 2558

แนวคิด : ความร่วมมือทางธุรกิจในการเป็น Exclusive Partner เพื่อร่วมกัน พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความเป็นมา“แสนสิริ”

      เป็นผู้นำระดับบิ๊ก 5 ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยที่มีความหลากหลายในการพัฒนาทั้งโครงการแนวราบ-แนวสูง ในทุกเซ็กเมนต์ ได้ร่วมกันจัดตั้งธุรกิจร่วมทุน กับ

"กลุ่มบีทีเอส"

      ผู้นำธุรกิจระบบขนส่งมวลชนให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที รวมทั้งธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน (out-of-home media) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จดทะเบียนโดยใช้ชื่อ

บริษัท บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง ทู จำกัด

    โดยทั้งสองบริษัท ร่วมถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 : 50 จุดมุ่งหมายหลักเพื่อหลากเปลี่ยนทรัพยากรที่แข็งแกร่งของ ทั้งคู่ในการพัฒนาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าทั้งสายปัจจุบันและในอนาคต

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ลดต้นทุน และแบ่งปันทรัพยากรภายใน :ด้วยกลุ่มบีทีเอสในฐานะที่เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า BTS ตั้งแต่ปี 2542 มีการสะสมที่ดินแลนด์แบงค์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสำหรับรถไฟฟ้าหลากสีที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปีนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทางกลุ่มบริษัทร่วมทุนนี้ จะสามารถช่วงชิงทำเลหรือ รู้ทำเลที่ดีที่สุด ก่อนใคร
  • เพิ่มส่วนต่างกำไร :บมจ.แสนสิริ มี ตราสินค้าที่แข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในบริษัทที่สามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่าคู่แข่งในทำเลเดียวกัน เมื่อสามารถมองหาที่ดินได้ก่อนคนอื่นต้นทุนการพัฒนาย่อมต่ำลง และศักยภาพของตราสินค้าที่สูงกว่าคู่แข่งขันจึงสามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่าคู่แข่งขันรายอื่น ผลประกอบการด้านกำไรจึงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปตามลำดับ
  • เพิ่มศักยภาพทางการตลาด : กลุ่มบีทีเอส และ แสนสิริ นั้นมีการดำเนินธุรกิจอื่นที่ซ้อนทับกัน อาทิ ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ อาคารสำนักงาน แต่เมื่อเกิดการรวมตัวกันทั้งสองบริษัท ก็มีแนวโน้มที่จะ แบ่งปันข้อมูลลูกค้าหรือขยายฐานลูกค้า ของกันและกันได้อย่างครบวงจร ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ได้เปิดตัวโครงการ เดอะ ไลน์ จตุจักร-หมอชิต มูลค่าโครงการ 5,700 ล้านบาท ในสามเมืองพร้อมกันทั้งกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และฮ่องกง จนสามารถปิดการขาย 100% ภายในวันเดียว และเดือนสิงหาคมนี้ กลุ่มบีทีเอสและแสนสิริก็เกาะกระแสความสำเร็จของแบรนด์ เดอะ ไลน์ โดยเตรียมเปิดขาย เดอะ ไลน์ สุขุมวิท71 ทั้งในและต่างประเทศอีกเช่นกัน ต่อจากนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าการร่วมทุนของทั้งสองบริษัทจะสร้างปรากฏการณ์ใดให้กับลูกค้าและวงการอสังหาฯ อีกบ้าง แต่ที่แน่ๆ แว่วมาว่าในปีนี้ จะมีคอนโดมิเนียมแบรนด์ เดอะ ไลน์ อีกไม่ต่ำกว่า 3 โครงการ รวมถึงแบรนด์อื่นภายใต้การร่วมทุนที่ยึดพื้นที่ศักยภาพใกล้สถานีรถไฟฟ้าทั้งในเมืองและรอบนอก หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการร่วมกันกับกลุ่มบีทีเอสครั้งนี้ ในแง่ของวงการอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลให้ บมจ.แสนสิริ สามารถสร้างผลประกอบการและทำกำไรได้อย่างโดดเด่นภายใน 2-3 ปีจากนี้

การร่วมทุนเพื่อขยายช่องทางการตลาด : อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ & อิออน กรุ๊ป(มาเลเซีย)ในปี 2556

แนวคิด : การร่วมทุนเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจ เมื่อต้องการรุกตลาดต่างประเทศ ขยายช่องทางการตลาด ความเป็นมา

      เมื่อปี 56

บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด

      ได้ร่วมทุนกับ

บริษัท อิออน คอมพานี มาเลเซีย เบอร์ฮาด

      จัดตั้งบริษัทร่วมทุน

อิออน อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง (AEON INDEX LIVELING SDN. BHD.)

      เพื่อขยายช่องทางการตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในประเทศมาเลเซีย โดยสัดส่วนหุ้นการถือครอง อินเด็กซ์ฯ 30% อิออน 70% โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการ

สร้างแบรนด์ Index Living Mall สู่การเป็น Regional Brand เต็มรูปแบบ

    เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • ผสมจุดเด่นกลายเป็นจุดแข็ง : AEON มีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกที่มีสาขาครอบคลุมอันดับ 1 ทั่วประเทศมาเลเซีย จึงมีความเข้าใจความต้องการตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคชาวมาเลเซียได้อย่างดี ขณะที่ Index มีจุดแข็งด้านความสามารถในการผลิต และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศอย่างยาวนาน
  • สร้างโอกาสในการขยายตลาด : โอกาสการลงทุนในตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ในมาเลเซียประสบความสำเร็จมีอยู่สูงเนื่องจาก คู่แข่งยังมีน้อย รวมถึงอัตราการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซีย จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้การลงทุนอุตสาหกรรมนี้มีความน่าสนใจ
  • เพิ่มศักยภาพการผลิต : เพิ่ม ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนต่อหน่วย (Economies of Scale) /สร้างผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้น (Profit Advantage) ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับสาขาแรก ขนาดพื้นที่ 6,800 ตารางเมตร (ตร.ม.) ณ ไอโอไอ ซิตี้ มอลล์ เมืองปุตราจายา ศูนย์กลางการบริหารราชการแห่งใหม่ของมาเลเซีย ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จากปัจจัยสำคัญการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ ตั้งเป้ายอดขายสาขาแรกไว้ที่ 350 ล้านบาทนอกจากนี้ ได้ เตรียมเปิดสาขาที่ 2 ที่เมืองชาอารับ รัฐสลังงอร์ บนพื้นที่ 5,000 ตร.ม.คาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ของปี 58

การร่วมทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ : อิชิตันกรุ๊ป & อิพีที อาทรี่ แปซิฟิค(อินโดนีเซีย) ในปี 2557

แนวคิด : ธุรกิจเติบโตได้ ต้องมีการขยายฐานลูกค้า โดยการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศด้วยการร่วมทุนกับธุรกิจสัญชาตินั้นๆ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจเลือกใช้ ความเป็นมา

      ปี 2557

บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

      ร่วมทุนกับ

บริษัท พีที อาทรี่ แปซิฟิค จำกัด

      หรือ PT Atri Pasifik (เป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่าง บจ. พีที ซิกมันทรา อัลฟินโด้ ประเทศอินโดนีเซีย และ บจ. มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่ น) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน

บริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย จำกัด

    สัดส่วนถือหุ้น 50:50 วัตถุประสงค์เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มแบรนด์ “อิชิตัน” ในประเทศอินโดนีเซีย

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • เพิ่มศักยภาพธุรกิจจากจุดเด่นบริษัทร่วมทุน :“พีที อาทรี่” ธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายรายใหญ่ มีร้านคอนวีเนียนสโตร์มากกว่า 10,000 สาขาแล้ว และอีก 6 ปีจะเพิ่มเป็น 20,000 แห่ง จึงสามารถนำ “อิชิตัน” เข้าสู่ช่องทางตลาดได้ทั้งโมเดิร์นเทรด, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านย่อยทั่วไปได้อย่างไม่ยาก
  • สินค้าตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า : ประเทศอินโดนีเซียมีข้อสนับสนุนการขยายธุรกิจชาพร้อมดื่มหลายข้อตามปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เอื้อประโยชน์ แก่ธุรกิจ เช่น ประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรอากาศร้อนตลอดทั้งปี และมีวัฒนธรรมดื่มชาเป็นประจำคู่มื้ออาหารและกิจกรรมอื่น เป็นต้น

ภายในไตรมาส 2/2558 เครื่องดื่มอิชิตันมีกำหนดวางจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มอิชิตันสู่ตลาดประเทศอินโดนิเซีย ผ่านช่องทางการจำหน่ายของร้านค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อของพันธมิตร ภายใต้แบรนด์ Alfamart และ Lawson ซึ่งปัจจุบันมีถึง 10,000 สาขา ทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยตั้ง เป้าหมายยอดขายปีนี้ 1,000 ล้านบาท

การร่วมทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ : Jaguar Land Rover & Chery Automobiles ในปี 2555

แนวคิด : การร่วมทุนเป็นการนำเอาทรัพยากร ,ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อพัฒนาศักยภาพสินค้า เพื่อตอบสนองกลุ่มตลาดใหม่ สร้างโอกาสทางธุรกิจ ความเป็นมาJaguar Land Rover(JRL)

      ผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติอังกฤษร่วมทุนกับ บริษัท

Chery Automobiles

      สัญชาติจีนถือสัดส่วนเท่ากัน 50 : 50 จัดตั้งบริษัทร่วมทุน

CheryJaguar Land Rover Automotive Company

    เพื่อประกอบธุรกิจยานยนต์ในรูปแบบใหม่ระดับ premiumที่ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าชาวจีนเป็นสำคัญ มีการก่อสร้างโรงงานใหม่ใน Changshu ประเทศจีน พร้อมเริ่มทำการผลิตในปี 2557

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • แลกเปลี่ยนทรัพยากรและประสบการณ์ร่วมกัน : Chery Automobiles เชี่ยวชาญและเข้าใจสินค้าตอบโจทย์ตลาดในจีนอย่างดี ขณะที่ Jaguar Land Rover ผู้ผลิตรถยนต์มาตรฐานยอดเยี่ยม ย่อมก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ดีและได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด
  • Chery Automobiles :เริ่มเข้าสู่วงการรถยนต์ในประเทศจีนตั้งแต่ 2542 ก้าวมาอยู่ระดับแนวหน้าในประเทศจีนได้ในปี 2544 พัฒนาสู่การเป็นผู้ส่งออกรถยนต์ปี 2546 เป็นต้นมา ปัจจุบันส่งออกกว่า 15 ประเทศทั่วโลก
  • Jaguar Land Rover : เริ่มเข้าตลาดประเทศจีนในปี 2553 หลังจากนั้น 2 ปี ได้ก้าวกระโดดครองส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็ว ราว 73 หมื่นคัน เพิ่มกว่า 74%ใน ปี 2555

สำหรับการร่วมทุนครั้งนี้ เกิดกระแสไปในทางที่ดี ในปี 2558 นี้ ทางบริษัทเตรียมตัวเผยโฉมรถ Range Rover Evoque รุ่นใหม่ที่ปรับแต่งพิเศษ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าท้องถิ่นในประเทศจีนเท่านั้น และปี 2559 คาดว่าโรงงานใหม่ใน Changshu นี้จะเป็นฐานการผลิต Model รถยนต์อีก 3 รุ่นของ JRL รวมทั้ง รถยนต์ในนามแบรนด์ร่วมทุนด้วย

การร่วมทุนเพื่อเพิ่มอำนาจการผลิต : Siemens AG &Nokia Corp ในปี 2549

แนวคิด : บริษัท Nokia และ Siemens เป็นผู้ผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ทั้งคู่ มีจุดมุ่งหมายหลักที่จะร่วมมือกันเพื่อเพิ่มอำนาจการผลิต (Economy of Scale) เป็นหลัก ความเป็นมา

      ปี 2549

Siemens AG

      ประเทศเยอรมัน ร่วมทุนกับ

Nokia Corp

      ประเทศฟินแลนด์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน

Nokia Siemens NetworksU.S. (NSN)

    สำนักงานใหญ่อยู่ที่ Greater Helsinki, Finland มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขันกับผู้ผลิตต้นทุนต่ำอย่างผู้ผลิตจีน (Huawei) บริษัท NSN.เริ่มดำเนินงานอย่างเต็มตัว เดือนเมษายน 2550 และได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมาใน150 ประเทศ บริษัท NSN เคยได้รับการจัดอันดับติด 1 ใน 4 ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุด รองจาก Ericsson, Huawei และ Alcatel Lucent

ประโยชน์ที่ได้รับ การร่วมทุนครั้งนี้ทำให้ Siemens AG & Nokia Corp มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถจัดหาทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ

  • ปี 2551 : NSN. ได้ครอบครอง บริษัท Israeli company Atrica ที่ผลิต carrier-class Ethernet ผู้ให้บริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ต สำหรับระบบขนส่งรถไฟใต้ดิน และบริษัท Apertio ที่ดูแลด้าน UK-based mobile network ทั้งหมดนี้ ทำให้NSN. ได้ฐานลูกค้าที่อยู่ในเครือข่ายOrange, T-Mobile, O2, Vodafone และ Hutchison 3G
  • ปี 2552 : Siemens ส่อแววฐานะการเงินภายในอ่อนแอ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนเริ่มไม่มีอำนาจควบคุมการเงินใน NSN จนท้ายที่สุดก็ต้องถอนตัวออกจากการร่วมทุนครั้งนี้ไป
  • ปี 2553 : NSN. ได้ครอบครองส่วนของอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายรวมทั้งบุคคลากรราว 6,900 คน ของบริษัท Motorola
  • ตั้งแต่ปี 2554 - 56 : NSN. ประกาศปรับโครงสร้างทางธุรกิจ และปลดพนักงานกว่า 17,000 คน เพื่อลดรายจ่ายบริษัทและพยุงให้บริษัทสามารถครองตัวอยู่ได้ และเริ่มปรับตัวดีขึ้นในเวลาต่อมา

ปี 2556 Nokia ได้ถือครองสัดส่วนครบ 100% จาก Siemens AG อย่างเต็มตัวพร้อม Rebranding เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Nokia Networks ในปี 2557 และท้ายที่สุดในเดือนเมษายน ปี 2557 ก็ได้ควบรวมกิจการอีกครั้งกับทาง Microsoft

ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การร่วมทุนที่ประสบความสำเร็จ มักมาจาก 2 ธุรกิจที่มี ความแข็งแกร่งเท่าเทียมกันทั้งเงินทุนและทรัพยากรภายใน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อการขยายการเติบโตทางธุรกิจให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น ซึ่งกรอบเวลาบางครั้งก็ยาวนานจนถึง 10 ปี ดังนั้นหากในระหว่างทางผู้ร่วมทุนรายใดประสบปัญหาภายใน หรือเริ่มอ่อนแอลงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพ และความสามารถในการเติบโตของกิจการร่วมทุนนั้นๆ จนอาจถึงขึ้นภาวะล่มสลายทางธุรกิจได้

บทสรุปความสำเร็จของ “การร่วมทุน”

  • การเติบโตอย่างรวดเร็วยากที่จะปฎิเสธการหาคู่พันธมิตร
  • เลือกผู้ร่วมทุน ที่มีศักยภาพทางธุรกิจทัดเทียมกัน
  • ชัดเจน เรื่องข้อตกลงผลประโยชน์ทางการเงิน
  • เคารพในจุดแข็งและจิตวิญญาณของกันและกัน
  • แลกเปลี่ยนทรัพยากรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่

อย่างไรก็ตามเพื่อไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน นั้นทางกลุ่มผู้ร่วมทุนควรทำงานสอดประสานกัน “แบบผนึกกำลังควบแน่นทางธุรกิจ Synergy” โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะนำไปสู่ “ความล้มเหลว” อาทิ ความขัดแย้งด้านการบริหารงานทั้งทรัพยากรภายใน บุคลากร รวมทั้งการจัดสรรเงินทุนระหว่างทางที่ไม่ทัดเทียมกัน ทั้ง 2 หน่วยงานควรยึดถือ “เป้าหมายสู่ความสำเร็จยั่งยืนร่วมกัน” เป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าการรวมหน่วยงานหรือความร่วมมือของธุรกิจที่ดีทั้งสองแห่งนั้น จะให้คุณค่ากับผู้บริโภคมากกว่าเท่าตัวหรือสูงกว่าการเอาผลการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานมารวมกันแบบ 1+1 นั่นเอง --เทอร์ร่า บีเคเค