“สุขุมวิท” ขยายไปสู่ “พระโขนง” ได้อย่างไร?
“ถนนสุขุมวิท” เป็นทำเลของท่านเศรษฐี โดดเด่นจากการเป็นที่ตั้งของสถานทูต จึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับชาวต่างชาติมากมายเกิดขึ้นบนถนนสายนี้ อาทิ ศูนย์การค้าระดับลักซ์ชัวร์รี่ โรงแรมห้าดาว โรงเรียนนานาชาติ และร้านอาหารนานาชาติ โดยบริเวณที่เป็นย่านการค้าและแหล่งงานที่มีชื่อเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณแยกราชประสงค์ ไปจนถึงแยกอโศก และเมื่อปี 2540 มีการเปิดตัวศูนย์การค้าเอ็มโพเรี่ยม (Emporium)ศูนย์การค้าระดับลักซ์ชั่วรี่ ความนิยมก็เริ่มขยับจากอโศกไปถึงทองหล่อ ต่อมาในปี 2542 เริ่มเปิดใช้รถไฟฟ้า BTS สายแรก หมอชิต-อ่อนนุช การเดินทางบริเวณถนนสุขุมวิทนี้จึงเชื่อมต่อถึงกันได้ภายใน 15 นาที สะดวกรวดเร็วเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการขยายตัวของการอยู่อาศัยก็ขยับออกไปเรื่อยๆจนไปถึงอ่อนนุชในที่สุด และถนนสายนี้มีการเปิดตัวศูนย์การค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกับการเปิดตัวศูนย์การค้าระดับลักซ์ชัวรี่เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ Central Embassy และ The Emquatier จากการใช้ประโยชน์ที่ดินของย่านนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สุขุมวิท” คือทำเลที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดทำเลหนึ่งของกรุงเทพฯ
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมแล้ว “สุขุมวิท” ย่อมเป็นทำเลทองของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายราย ที่ต่างแย่งชิงที่ดินผืนงามในทำเลสุขุมวิทแห่งนี้ จนแทบไม่เหลือพื้นที่ว่างเท่าไหร่นัก การขยายตัวก็ขยับไปเรื่อยๆตามแนวรถไฟฟ้า และ “พระโขนง” เป็นอีกทำเลหนึ่งที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ ณ ตอนนี้ ด้วยราคาคอนโดมิเนียมในปัจจุบันมีราคาขายแตะ 170,000-230,000 บาทต่อตารางเมตรไปแล้ว ซึ่ง TerraBKK Research จึงลงพื้นที่สำรวจถึง Demand-Supply และลงสัมภาษณ์คนในพื้นที่ ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
1. การเปลี่ยนแปลงในพระโขนงจาก 3 เรื่องเล่าคนในชุมชนทีมงาน TerraBKK Research ได้ลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์คนในพื้นที่บริเวณ BTS พระโขนงที่อยู่อาศัยในย่านนี้มากว่า 30 ปีและเปิดกิจการในทำเลแห่งนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ถึงการเปลี่ยนแปลงในพระโขนง ซึ่งหลายท่านได้กล่าวว่าทำเลนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากเดิมที่เป็นแหล่งชุมชนดั้งเดิมแบบรู้จักกันหมด และมีตลาดพระโขนงเป็นศูนย์กลาง แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีทั้งคอนโดฯที่สร้างกันมากขึ้น และบรรดาค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกกับคนในพื้นที่
เริ่มต้นกันที่ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในไทยเกือบ 30 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลย่านบางรัก ซึ่งเดิมเคยอาศัยอยู่แถวเอกมัย-พระโขนง ทางทีมงานได้ทราบชื่อว่า “คุณซาโต้” คุณซาโต้เล่าให้กับทีมงานฟังถึงคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่แถวพระโขนงว่า “จริงๆแล้วคนญี่ปุ่นอยู่กันหลายที่ แต่ถ้าจะให้แบ่งออกเป็นคนที่เปิดบริษัทก็จะอยู่ช่วงอโศก พร้อมพงษ์ ทองหล่อ เอกมัย แต่ถ้าอาศัยอยู่คนเดียวจะชอบอยู่แถวพระโขนง อ่อนนุช อุดมสุข เพราะราคาถูกกว่าสุขุมวิท แต่ก็ยังใกล้ BTS มีห้างเยอะ และก็ถ้าอยู่คนเดียวจะชอบเป็นห้อง 40-50 ตร.ม. แต่ถ้าอยู่เป็นครอบครัวก็ต้อง 100 ตร.ม.ขึ้นไป”
ทางทีมงานจึงได้สอบถามต่อว่า พระโขนงเองก็ยังไม่ได้มีร้านอาหารเพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นมากนัก แต่ทำไมคนญี่ปุ่นถึงชอบอยู่อาศัยในย่านนี้ คุณซาโต้ก็ได้ให้คำตอบมาว่า “ร้านอาหารญี่ปุ่นไม่ได้จำเป็นสำหรับคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่แล้ว เพราะแพงและรสชาติไม่อร่อย เขาจะชอบซื้อมาทำเองมากกว่า คนญี่ปุ่นเน้นความสะดวกเป็นหลัก เดินไป BTS ได้ก็ถือว่าโอเคเลย ไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่ไม่อยู่ในซอยลึกก็พอ” กล่าวได้ว่าคนญี่ปุ่นที่เลือกอาศัยในพระโขนงนี้เป็นเพราะค่าครองชีพที่ถูกกว่าพร้อมพงษ์-ทองหล่อ แต่สามารถเดินทางด้วย BTS ได้อย่างสะดวกสบายเทียบเท่ากับในเมืองนั่นเอง
มาต่อกันที่ร้านแว่นตา “ศูนย์เวลา พระโขนง & เนตรการแว่น” ที่เปิดกิจการมานานกว่า 30 ปี อีกทั้งคุณน้าเจ้าของร้านยังลงทุนอสังหาฯในทำเลนี้ ไม่ว่าจะเป็นตึกแถวหรือคอนโด นับเป็นความโชคดีของทีมงานที่เจอผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯของทำเลพระโขนง
ทางคุณน้าได้เล่าให้กับพวกเราฟังว่า “ในช่วง 3-4 ปีนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ทั้งญี่ปุ่นและต่างชาติก็เข้ามาเยอะขึ้น ทำให้ทำเลนี้คึกคักมากกว่าเดิม และเห็นมีคอนโดเกิดเยอะ ส่วนเอกมัยตอนนี้ที่อยู่อาศัยคงเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะไม่ค่อยมีที่ดินแล้ว และส่วนใหญ่ก็เป็นแหล่งแฮงค์เอ้าท์ตอนกลางคืน เขาก็จะเริ่มมาที่พระโขนงมากขึ้น ต่างชาติก็ลามไปถึงแบริ่งแล้ว แต่ก็จะเป็นต่างชาติที่กำลังซื้อต่ำกว่าแถวนี้หน่อย แถวนี้จะเป็นพวกญี่ปุ่นและมีกำลังซื้อสูง”
เมื่อทีมงานถามถึงคอนโดฯปล่อยเช่าที่คุณน้าดูแลอยู่ ก็พบว่าผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเสียมากกว่า “ที่ซื้อคอนโดปล่อยเช่าแถวนี้เพราะว่าได้คนเช่าเป็นญี่ปุ่น ซึ่งรักสะอาดและตรงเวลา ชอบปล่อยเช่าให้ต่างชาติมากกว่า”
คุณน้ายังทิ้งท้ายกับทีมงานว่า “คิดว่าภายใน 5 ปีนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะในพระโขนง คงมีผู้ประกอบการเข้ามาทำอะไรใหม่ๆอีกเยอะในทำเลนี้”
ต่อกันที่ ร้าน “พัฒนาภัณฑ์” เป็นตึกแถว 2 ห้องติดกันขายวัสดุก่อสร้าง สอบถามจากคุณป้าเจ้าของร้านทราบชื่อว่า “คุณดารุณี” เปิดกิจการในทำเลนี้มากว่า 30 ปี
คุณดารุณีได้เล่าให้ฟังถึงทำเลดั้งเดิมของพระโขนงว่า “สมัยก่อนพระโขนงเป็นพวกตึกแถว เปิดร้านค้าเยอะแยะไปหมด ค้าขายดี แต่พอมีห้างสรรพสินค้าขึ้นมาทำให้เริ่มขายไม่ดี คนซื้อของน้อย ต่างกับเอกมัย-ทองหล่อที่เป็นพวกบ้านกับคอนโดซะเยอะ และมีต่างชาติมานานแล้วตั้งแต่ป้ายังวัยรุ่น เวลาถามครูต่างชาติ AUA ว่าพักที่ไหน ก็มักจะตอบว่าเช่าบ้านอยู่ที่เอกมัย แต่ตอนนี้พระโขนงเริ่มเปลี่ยนไป ต่างชาติเยอะชึ้น ทั้งฝรั่ง ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เช่าคอนโดหรือห้องพักแถวนี้เยอะแยะไปหมด”
เมื่อทีมงานถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพระโขนง คุณดารุณีเล่าว่า “ตึกแถวค้าขายเริ่มอยู่ยากแล้ว บางห้องเริ่มปรับไปเป็นห้องเช่าแทน แบบซอยห้องเช่าภายในตึกเดียว เพราะต่างชาติอย่างฟิลิปปินส์จะไม่ค่อยเรื่องมาก อยู่ห้องเช่าแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็จะชอบอยู่คอนโด มีพื้นที่กว้างหน่อย ป้าเองก็ซื้อที่ดินแถวนี้ไว้ เตรียมทำเป็นอพาร์ทเม้นท์เหมือนกัน เพราะตอนนี้ต่างชาติเริ่มเยอะแล้ว” เห็นได้จากโครงการคอนโดมิเนียมรวมถึงบรรดาค้าปลีกที่มาจับจองที่ดินตรงนี้ ที่แม้ว่าจะทำให้การจราจรบริเวณนี้คับคั่งมากกว่าเดิม แต่ความเจริญที่เข้ามาก็ยังสร้างความสะดวกสบายให้กับคนแถวนี้ มีแหล่งช้อปปิ้งให้เลือกมากขึ้น หากใครมีเงินทุนสูงหน่อย ก็อาศัยความชำนาญในพื้นที่ ลงทุนคอนโดฯในทำเลนี้เพื่อปล่อยเช่า เพราะต่างก็มั่นใจในศักยภาพของพระโขนงว่า เป็นทำเลที่มีอนาคต และยังสามารถเติบโตได้อีก บวกกับต่างชาติที่เริ่มเข้ามาในทำเลนี้มากขึ้น แนวโน้มราคาที่ดิน, คอนโด, ตึกแถวก็สูงขึ้นตาม ดังนั้นใครเห็นก่อนย่อมได้เปรียบ
2. ความนิยมของชาวต่างชาติจากการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดถึง 15-20%เมื่อวิเคราะห์ตามเส้นสุขุมวิทแล้วจะพบว่าชาวต่างชาติจะอยู่อาศัยเป็นพื้นที่ๆไป จากการสำรวจสถิติการถือครองห้องชุดของชาวต่างชาติในเส้นสุขุมวิท พบว่าความหนาแน่นของชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณนานา-อโศก ซึ่งอัตราการถือครองห้องชุดของชาวต่างชาติเฉลี่ย 25-30% ต่อโครงการ บางโครงการสูงถึง 45-47% เกือบเทียบเท่าอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ (กฎหมายกำหนดให้ต่างชาติถือครองห้องชุดได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ทั้งหมด)และในย่านพร้อมพงษ์-พระโขนง มีอัตราการถือครองของต่างชาติเฉลี่ย 15-20% ต่อโครงการ บางโครงการสูงถึง 35% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้าน Demand ว่าในทำเลนี้มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่จริง (ที่มาของสถิติการถือครองห้องชุดของชาวต่างชาติ : กรมที่ดินศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์)
3. การคมนาคมสะดวกสะบายทั้งการเดินทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับชีวิตคนเมืองและชาวต่างชาติทำเลพระโขนงนับเป็นทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง ด้วยถนนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นถนนสุขุมวิท 71 ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังโซนรามคำแหงและพระราม 9 ได้อย่างง่ายดาย จะเข้าไปในตัวเมืองอย่างอโศกก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าได้ภายในไม่กี่นาที หรือหากวิ่งเส้นพระราม 4 ก็สามารถไปยังโซนสีลมได้ นับว่าเป็นทำเลที่เชื่อมต่อกับย่านสำคัญหลักๆเอาไว้หลายทำเล
โครงการที่อยู่อาศัยและค้าปลีกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของทำเลนี้ อย่างเช่นโครงการ W District ไลฟ์สไตล์มอลล์ที่อยู่ติดกับ BTS พระโขนง และโครงการ Gateway Ekamai ไลฟ์สไตล์มอลล์ในธีมญี่ปุ่น ที่เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าภายในโครงการเต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารที่เอาใจชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ อีกทั้งโรงเรียนนานาชาติที่กระจายอยู่ทั่วทำเลแสดงให้เห็นถึง Demand ของชาวต่างชาติที่เริ่มขยายตัวออกมาจากเอกมัยมากขึ้น
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม“พระโขนง” เป็นอีกทำเลที่มีศักยภาพมากพอ ที่บรรดาผู้ประกอบการเริ่มสนใจเปิดตัวคอนโดฯในทำเลนี้มากขึ้น ซึ่งในตอนนี้ก็พร้อมด้วย Demand ที่มีคุณภาพอย่างชาวต่างชาติและคนทำงานในเมือง รวมถึงราคาที่ดินในเมืองปรับตัวสูงจนติดเพดานจนยากที่จะขึ้นโครงการได้
4. ผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าประมาณ 5-6% ต่อปี เทียบเท่าพร้อมพงษ์-ทองหล่อราคาคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในย่านพระโขนง พบว่าปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ประมาณตารางเมตรละ 170,000-230,000 บาท ราคาคอนโดมือสองที่ประกาศขายอยู่เฉลี่ยตารางเมตรละ 120,000 บาท และค่าเช่าคอนโดอยู่ที่ 19,000-35,000 บาทต่อเดือน ผู้ที่สนใจจะซื้อลงทุนสำหรับปล่อยเช่า ย่านนี้จะได้อัตราผลตอบแทนประมาณ 5-6% ต่อปี หรือหากเป็นการซื้อเพื่อเพิ่มมูลค่าในอนาคต คอนโดฯในย่านนี้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาประมาณ 5-9% ต่อปี (นับตั้งแต่วันเปิดขายและขายต่อเป็นห้องชุดมือสอง) ซึ่งใกล้เคียงกับทำเลในเมืองอย่างพร้อมพงษ์-ทองหล่อ ที่มีการเพิ่มขึ้นราคา 6-10% ต่อปี)
คงกล่าวได้ว่า “พระโขนง” เป็นอีกทําเลแห่งโอกาสใหม่ที่น่าลงทุน ด้วยความพร้อมของศักยภาพทําเลและ Demand ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาคอนโดฯเปิดใหม่ย่านใจกลางเมือง ที่มีราคา 250,000 – 300,000 บาทต่อตารางเมตรแล้ว ย่านพระโขนงจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เหมาะแก่การพิจารณา ไม่ว่าจะ ”เพื่ออยู่อาศัยเอง” ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต “แบบคนสุขุมวิท” รวมทั้งสามารถซื้อ “เพื่อการลงทุนปล่อยเช่า” เพราะศักยภาพในการปล่อยเช่าที่ได้ค่าเช่า 19,000-35,000 บาท/เดือน อัตราผลตอบแทนประมาณ 5-6% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาประมาณ 5-9% ต่อปี (นับตั้งแต่วันเปิดขายและขายต่อเป็นห้องชุดมือสอง) ซึ่งใกล้เคียงกับทำเลในเมืองอย่างพร้อมพงษ์-ทองหล่อ ที่มีการเพิ่มขึ้นราคา 6-10% ต่อปี - เทอร์ร่า บีเคเค