ขอลดดอกเบี้ยค้าง ต้องทำอย่างไร ?
การเป็นหนี้ใดๆ ย่อมเป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งเป็นหนี้ที่ไม่สามารถผ่อนจ่ายได้ตามกำหนด นับวันก็มีแต่จะโตทบต้นทบดอกไปเรื่อย สิ่งที่พอจะช่วยให้มองเห็นทางสว่างได้ คงเป็นการตั้งสติ เผชิญหน้ากับความจริง แล้วคิดหาทางแก้ไขปัญหา TerraBKK ขออธิบายเรื่องราวของ การขอลดดอกเบี้ยค้าง เป็นความรู้ทางด้านการเงินการธนาคาร แก่ผู้เป็นหนี้ทุกท่าน แม้จะประสบปัญหาหรือไม่ก็ตาม รายละเอียดดังนี้
เบื้องต้น TerraBKK ขออธิบาย ประเภทอัตราดอกเบี้ย เป็น 2 ประเภทตามลักษณะวงเงิน ได้แก่ 1. วงเงินกุ้ระยะยาว (Term Loan) จะเป็นวงเงินกู้ที่มีอายุเกิน 1 ปี ขึ้นไป เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้าน ,เครื่องจักรขนาดใหญ่,ที่ดิน เป็นต้น ดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณในวงเงินกู้เหล่านี้ เรียกว่า MLR (Minimum Loan Rate) 2. วงเงินกู้ระยะสั้น หรือ จะเป็นวงเงินกู้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ขึ้นไป เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องธุรกิจ เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D),ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เป็นต้น ดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณในวงเงินกู้เหล่านี้ เรียกว่า MOR (Minimum Overdraft Rate ) ลักษณะอัตราดอกเบี้ยที่พบเห็น จะมีการบวกลบต่างกันไปเช่น MLR-1% , MLR+2.50% เป็นต้น จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้ อาจปรับเพิ่มลดได้ ตามระดับความเสี่ยงหรือมูลค่าหลักประกันของผู้กู้รายนั้นการคำนวณจำนวนดอกเบี้ยค้าง
ที่จะทำการขอลดดอกเบี้ยนั้น จะเป็นดอกเบี้ยค้างที่คำนวณได้ ดังนี้ 1. คำนวณหาจำนวนดอกเบี้ยค้าง โดยนำเงินต้นคงค้างมาคำนวณเพื่อหาดอกเบี้ยจ่ายรายวัน คือ เงินต้นคงค้าง x ( %อัตราดอกเบี้ยต่อปี/ 365 ) เมื่อได้ดอกเบี้ยจ่ายรายวันแล้วก็นำมาคูนกับจำนวนวันค้างชำระ หรืออาจขอรายละเอียดสถานะการค้างชำระส่วนนี้จากธนาคารก็ได้เช่นกัน 2. จำนวนดอกเบี้ยค้าง 3 เดือน (นับจากวันที่เริ่มค้างชำระจนครบ 3 เดือน) จะไม่สามารถทำการขอลดดอกเบี้ยค้างได้ เนื่องจากเป็น ดอกเบี้ยบันทึกบัญชี จะเกิดผลขาดทุนทางบัญชีทันที หากลดดอกเบี้ยจำนวนนี้ออกไป ดังนั้นโดยปกติธนาคารจึงไม่ทำการลดหนี้จำนวนนี้ 3. คำนวณหาจำนวนดอกเบี้ยค้างที่มีโอกาสขอลดได้ นั้นคือ ข้อ 1 – ข้อ 2 นั้นเอง เพราะดอกเบี้ยจำนวนนี้ยังไม่ถูกบันทึกตามระบบบัญชี จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่องบการเงินของธนาคารนั้นๆ
ลักษณะลูกหนี้ที่มีโอกาสขอลดดอกเบี้ยค้าง
หากธนาคารจะเปิดโอกาสลดดอกเบี้ยค้าง คงต้องเป็นกรณี ลูกหนี้ที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูง มีระดับหนี้ใกล้เคียงหรือมากกว่ามูลค่าหลักประกัน เกิดสัญญาณจะเป็นหนี้เสียได้ ธนาคารจึงต้องแก้ไขส่วนที่ยังพอดำเนินการได้บ้าง กรณีระดับหนี้ใกล้เคียงมูลค่าหลักประกัน ยกตัวอย่างสมมติ ดังนี้ • กู้วงเงิน 1.2 ลบ. ที่อัตราดอกเบี้ย 10%ต่อปี ดังนั้นดอกเบี้ยจ่ายต่อปี = 1.2 x 10%= 120,000 บาท หรือ = 10,000 บาทต่อเดือน (=120,000/12) • หลักประกันเป็นที่ดินมูลค่า 1.2 ลบ. • ดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวน 18 เดือน รวมเป็น 180,000 บาท ( 3 เดือนแรก = 30,000 บาท, เดือนที่ 4-18 = 150,000 บาท ) ระดับหนี้ทั้งหมด = เงินต้น + ดอกเบี้ยค้างจ่าย 18 เดือน = 1,200,000 + 180,000 = 1,380,000 บาท ดังนั้น หลักประกันไม่คุ้มหนี้ = 1,380,000 – 1,200,000 = 180,000 บาท ลักษณะข้อเสนอที่ทางลูกหนี้ขอโอกาสลดดอกเบี้ยค้างกับทางธนาคารพิจารณา เช่น ลูกหนี้ขอต่อรองจ่ายดอกเบี้ยค้าง 3 เดือน = 30,000 บาท หลังจากนั้นก็เริ่มต้นผ่อนใหม่ที่เงินต้น 1.2 ลบ. อัตราดอกเบี้ยเดิม อย่างอย่างครบถ้วนและไม่มีการผิดนัด เพื่อแลกกับการขอลดดอกเบี้ยค้างที่เหลือ 150,000 บาท (ดอกเบี้ยค้างเดือนที่ 4 -18) เป็นต้น
วิธีการลดดอกเบี้ยค้าง
ที่ทางลูกหนี้ขอเสนอต่อรองกับทางธนาคารในเบื้องต้น มี 2 วิธี ดังนี้ 1. ชำระหนี้หนี้ด้วยเงื่อนไขใหม่ ที่ธนาคารเดิม เป็นขั้นตอนเข้าสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะมีสัญญาปรังปรุงโครงสร้างหนี้ โดยระบุเงื่อนไขต่าง ซึ่งหากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดได้อย่างสมบูรณ์ ทางธนาคารก็ยินดีลดดอกเบี้ยค้างส่วนนั้นเป็นการตอบแทน 2. ชำระหนี้ทั้งหมด แล้วเปลี่ยนธนาคารใหม่ เช่น ยื่นข้อเสนอให้ธนาคารลดดอกเบี้ยค้างที่เกิน 3 เดือนเป็นต้นไป แล้วลูกหนี้จะชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมดทันที ทั้งนี้ ต้องพิจารณาที่มูลค่าหลักประกันด้วย เพราะกรณีลูกหนี้มีมูลค่าหลักประกันน้อยกว่าจำนวนหนี้ ธนาคารย่อมเกิดความเสียเปรียบ หากเป็นหนี้เสีย ธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้สูญ ทำให้เสียสัดส่วนเงินนำไปสร้างประโยชน์อื่น จึงมีโอกาสที่ธนาคารจะยิมยอมประนอมหนี้กับลูกหนี้รายนี้ --เทอร์ร่า บีเคเค ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากหนังสือ เจ้าหนี้สะอื้น วิธีปรับโครงสร้างหนี้