ทำบ้านเช่าต้องรู้ วิธีสกรีนคนเช่าก่อนให้เข้าอยู่
นักลงทุนหลายคนคงคิดจะทำธุรกิจบ้านเช่ากันบ้าง แม้จะเหนื่อยและมีปัญหาที่หนีไม่พ้นคือปัญหาเรื่องผู้เช่า เพราะแต่ละคนก็มาจากต่างถิ่น ต่างนิสัย บ้างเจอผู้เช่าดีก็โชคดีไป แต่ใครเจอผู้เช่าร้ายหน่อยก็แทบเข็ดจนอยากจะขายบ้านทิ้งเลยทีเดียว แต่หากพูดถึงผลตอบแทนจากการเช่าก็ยังเป็นที่น่าดึงดูดให้นักลงทุนหลายรายอยากจะเข้ามาในธุรกิจนี้ TerraBKK Research จึงมีวิธีสกรีนผู้เช่าเบื้องต้น ก่อนที่จะทำสัญญา เพื่อป้องกันให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด
1. ซักถามประวัติส่วนตัว เป็นวิธีตรวจสอบเบื้องต้นให้รู้ว่าเขาเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ทำงานอะไร? โดยรายละเอียดเหล่านี้จะทำให้คุณรู้จักผู้เช่ามากขึ้น หรืออาจจะใช้วิธีการกรอกรายละเอียด เพื่อให้คุณสามารถจดจำได้ และเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ผู้เช่าให้มาครอบคลุมทุกๆอย่าง ซึ่ง TerraBKK ยกตัวอย่างข้อมูลสำคัญๆไว้ดังนี้
- สถานที่ทำงานปัจจุบัน พร้อมยื่นเอกสารรับรองการทำงานหรือเอกสารที่น่าเชื่อถืออื่นๆ เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าผู้เช่าได้ทำงานที่นี่จริง
- รายได้ต่อเดือน หากเป็นพนักเงินเดือนอาจจะขอสลิปเงินเดือนย้อนหลัง
- บุคคลที่สามารถติดต่อได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
- ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน พร้อมหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน และสิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยคือ “สำเนาบัตรประชาชน” ที่จะเป็นสิ่งยืนยันตัวตนของผู้เช่า หรือเมื่อเกิดเหตุทางกฎหมายในภายหลัง ก็ยังสามารถระบุตัวตนได้
2. สัมภาษณ์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อสอบถามรายละเอียดจุดประสงค์ของการเช่าบ้าน ว่าเช่าเพื่ออะไร? แล้วจะอยู่กันกี่คน? มีสัตว์เลี้ยงหรือไม่? ในส่วนตรงนี้หากคุณก็ไม่ได้ชอบใจถ้าผู้เช่าจะเอาสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้าน คุณก็สามารถปฏิเสธไปได้เลย ดีกว่ามีปัญหาในภายหลัง
3. สังเกตุการตอบคำถามหรือประวัติที่น่าสงสัย ในระหว่างการสอบถาม หากผู้เช่ามีอาการตอบคำถามที่แปลกๆ หรือตอบไม่ตรงกันบ่อยๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นเรื่องไม่จริงหรือต้องการปิดบังข้อมูล หรือหากข้อมูลของผู้เช่าที่บ่งบอกว่าชอบเปลี่ยนงานบ่อยหรือย้ายที่อยู่บ่อย คุณก็ควรจะรับรู้ไว้ล่วงหน้าว่าผู้เช่าคนนี้คงไม่ได้เช่านานแน่นอน
4. เช็คประวัติของผู้เช่า หากคุณเริ่มสงสัยในพฤติกรรมของผู้เช่า ให้ลองเอาชื่อ-นามสกุล หรือเลขบัตรประชาชนไป ตรวจสอบว่าผู้เช่าของคุณมีประวัติทางอาชญากรรมหรือไม่ เคยได้รับคดีหรือมีประวัติไม่ดีอะไรบ้าง อาจจะนำชื่อไปตรวจสอบตามเวปไซต์ต่างๆหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทะเบียนประวัติอาชญากร
5. ติดต่อกับเจ้าของบ้านคนเก่า หากเดิมผู้เช่าก็เคยเช่าบ้านอยู่เหมือนกัน ให้ขอเบอร์ติดต่อเจ้าของบ้านคนเก่า แล้วคุณก็ลองโทรไปคุยกับเขาดูว่าเดิมผู้เช่าบ้านคนนี้เป็นอย่างไร? ถามทุกคำถามที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับตัวผู้เช่า เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ว่าคุณควรจะปล่อยให้ผู้เช่าคนนี้หรือไม่ ซึ่งคำถามสำคัญๆที่ควรถามมีดังนี้
- ผู้เช่าจ่ายเงินตรงเวลาไหม?
- ผู้เช่ามีค้างชำระค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกไหม?
- ผู้เช่าทำข้าวของในบ้านเสียหายหรือไม่?
- โดยภาพรวมแล้ว ผู้เช่าคนนี้ดีหรือไม่?
6. ความตรงต่อเวลาในนัดแรก หากคุณตกลงปลงใจจะทำสัญญาเช่ากับผู้เช่ารายนี้แล้ว ด่านแรกที่ต้องพิจารณาคือวันแรกของการนัดมาทำสัญญา เพราะหากผิดนัดหรือมาสายตั้งแต่วันแรกคงไม่ใช่สัญญาณที่ดีเท่าไหร่นัก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสกรีนผู้เช่าเบื้องต้น ที่นักลงทุนทั้งหลายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่ถึงอย่างไรแม้จะกรองผู้เช่าดีแค่ไหนก็อาจจะเจอผู้เช่าที่มีปัญหาได้ ซึ่งคุณเองก็ต้องมีสัญญาเช่าที่ครอบคลุมพอจะจัดการกับผู้เช่าเหล่านี้ หรือหากมีปัญหามากเกินไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้เช่นกัน - เทอร์ร่า บีเคเค